สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กำลังผลิตแตะ 90% ลงทุนใหม่ทะยาน

จาก โพสต์ทูเดย์

อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาส 2 ที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ จะประกาศวันนี้ คงหนีไม่พ้นเติบโต 7%

โดย... ทีมข่าวการเงิน

 

แม้จะเจอมรสุมการเมืองแบบวิกฤตสุดในรอบหลายสิบปี แต่จีดีพีไทยถือว่ายังขับเคลื่อนไปได้

หลังจากไตรมาสแรกที่เติบโตทำลายสถิติถึง 12% มาแล้ว

ใครจะว่าฐานปีที่แล้วต่ำเตี้ย ก็เป็นเหตุเป็นผลที่จะนำมาอ้างได้ แต่เนื้อแท้แล้วปี 2553 เป็นปีที่ภาคอุตสาหกรรมเติบโตอย่างแท้จริง

ส่วนหนึ่งเพราะการส่งออกขยายตัวด้วยเลขสองหลัก มาคอยค้ำยันเศรษฐกิจไทยเอาไว้

อีกส่วนเกิดจากแรงบริโภคในประเทศที่อั้นไว้ในช่วงวิกฤตการเมืองเกิดปรอทแตก

ทั้งกำลังซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ คอนโดมิเนียม และบ้านจัดสรร ที่มีอย่างล้นหลาม

ตามตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า กำลังการผลิตยานยนต์และอุปกรณ์เมื่อเดือน มิ.ย. พุ่งไปทะลุ 83.6%

ขณะที่ในเดือน ก.ค.มีการประเมินว่ากำลังการผลิตรถยนต์โดยเฉลี่ยน่าจะแตะหลัก 90% ไปแล้ว

ขณะที่กลุ่มวัสดุก่อสร้างก็มีกำลังการผลิตขยายไปถึงระดับ 76% หลังจากรัฐบาลมีการขยายมาตรการภาษีช่วยเหลืออสังหาริมทรัพย์

ส่วน กลุ่มปิโตรเลียม มีกำลังการผลิต 77% สูงขึ้นหลายเดือนติดต่อกัน ตามภาวะการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรง

ขณะที่กำลังการผลิตโดยเฉลี่ยทุกภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสแรก อยู่ที่ 62% และเพิ่มเป็น 68% ในไตรมาส 2

แหล่งข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า หากอัตรากำลังการผลิตเฉลี่ยสูงเกิน 70% จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องหันมา ขยายการลงทุน ให้เพียงพอต่อความต้องการสินค้า

โดยกำลังการผลิตเคยทะยานไปถึง 70% ในช่วงปี 25472548 ขณะนั้นเศรษฐกิจไทยเติบโตจากการลงทุนที่ไหลบ่าจากต่างประเทศสูงมาก ก่อนปัญหาการเมืองมากระทบ จนชะงักยาว

แหล่งข่าวระบุว่า การขยายกำลังผลิตจะดีต่อการจ้างงานในประเทศ โดยขณะนี้อุตสาหกรรมที่ใช้กำลังการผลิตสูง มีการจ่ายค่าล่วงเวลาและเพิ่มวันทำงาน

“อย่างอุตสาหกรรมรถยนต์ขณะนี้ มีการตกลงแล้วว่าจะจ่ายโบนัสให้พนักงานอย่างน้อย 6 เดือน” แหล่งข่าวระบุ

ขณะที่ นายชาญศักดิ์ เฟื่องฟู รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ มองว่า กลุ่มยานยนต์ แผงวงจรไฟฟ้า มีกำลังการผลิตเกินถึง 80-90% เริ่มมีการขยายโรงงาน

“ความต้องการรถยนต์มีสูงมาก กระทั่งผลิตรถยนต์ไม่ทัน แต่สำคัญคือ สิ่งเหล่านี้จะโตต่อเนื่องหรือไม่” นายชาญศักดิ์ ตั้งคำถาม

โดยก่อนหน้านี้ นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาเตือนถึงภาวะ “ฟองสบู่” ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากดอกเบี้ยต่ำ

เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ได้รับอานิสงส์จากภาวะดอกเบี้ยที่ตกท้องช้าง ดาวน์รถใหม่ออกมา เสียดอกเบี้ยแค่ 2% เศษ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2553 มีโอกาสขยายตัวได้สูงถึง 33% คิดเป็นจำนวน 77.3 แสนคัน

โดยจำนวนยอดขายรถยนต์ในประเทศดังกล่าวอาจเป็นสถิติที่สูงที่สุดของไทย โดยสูงกว่าที่เคยทำได้ในปี 2548 ที่จำนวน 703,261 คัน

นายชาญศักดิ์ ระบุว่า ขณะนี้เป็นโอกาสของธนาคารในการปล่อยสินเชื่อเพื่อขยายโรงงานผลิตรถยนต์ทั้ง ฮอนด้า โตโยต้า ที่รวมถึงฟอร์ด และจีเอ็ม ที่มีความแข็งแกร่ง และต้องการใช้ไทยเป็นฐานในการผลิต
“ตอนนี้การใช้เงินทุนหมุนเวียนมีการเบิกใช้สูง แต่ก็คงต้องมองภาพระยะยาวด้วยว่าจะต่อเนื่องหรือไม่” นายชาญศักดิ์ กล่าว

สอดคล้องกับข้อมูลของ ธปท. ที่เปิดเผยออกมาว่า ขณะนี้สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีขึ้น เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป ไอที เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ
สินเชื่อเหล่านี้ดีขึ้นตามการเติบโตของภาคส่งออก และตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ล่าสุดในเดือน มิ.ย. สินเชื่อรวมทั้งระบบขยายตัวได้ 5.9% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน

ธปท.มั่นใจว่าสินเชื่อรวมทั้งปีจะโตได้ตามเป้าหมายที่ 9% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราขยายตัวที่สูงกว่าจีดีพีของประเทศด้วยซ้ำ

โดยยอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งระบบ ณ สิ้นไตรมาส 2 ปีนี้มีจำนวน 7.17 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ สินเชื่อภาคการท่องเที่ยวก็ปรับดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของยอดนักท่องเที่ยว และผลจากมาตรการกระตุ้นภาครัฐที่ให้นำ การใช้จ่ายค่าที่พักมาหักภาษีได้

นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ก.ค. 2553 มีจำนวน 1.25 ล้านคน ขยายตัวเป็นบวกเป็นเดือนแรกที่ 14.2% ต่อปี และขยายตัว 16.8% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

สะท้อนถึงการกลับคืนสู่สถานการณ์ปกติ!!!

นักท่องเที่ยวหลักๆ ยังมาจากภูมิภาคอาเซียน คิดเป็นสัดส่วน 26.3% โดยขยายตัวถึง 27.2% ส่วนใหญ่มาจากมาเลเซียและสิงคโปร์

ส่วนมาจากจีนสูงถึง 87.9% และภูมิภาคตะวันออกกลาง ขยายตัวที่ 32.1%

ส่วนสินเชื่อภาคการเกษตรก็ดีขึ้น ตามราคาสินค้าที่สูงขึ้น เช่น ราคาน้ำตาล เป็นต้น

หรือสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ขยายตัวได้ตามความต้องการอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียมตามรถไฟฟ้า

ขณะที่ ยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยังอยู่ในระดับต่ำเพียง 4.8% และถึงเดือน ก.ค.จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 4.9% ก็เป็นการเพิ่มขึ้นตามปริมาณสินเชื่อที่มีมากขึ้น ไม่ได้น่าห่วง

เรียกว่าแบงก์ทุกแห่งมีการระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อทุกฝีก้าว!!!

ไม่เพียงเท่านั้น ในอีกไม่เกิน 1 เดือนข้างหน้าจะมีการเปิดประมูลโทรศัพท์มือถือระบบ 3จี ซึ่งแน่นอนว่าค่ายโทรคมนาคมทุกแห่งต้องเตรียมตุนเงินสำรองเอาไว้จ่ายค่า สัมปทานนับหมื่นล้านบาท

ดังนั้น ทุบโต๊ะได้เลยว่ายอดเงินที่เคย “นอนก้น” อยู่ในธนาคาร จะออกมาหมุนในระบบเศรษฐกิจอย่างน้อย 3-4 หมื่นล้านบาท

ไม่นับอัตราการซื้อโทรศัพท์มือถือที่จะต้องเพิ่มมากขึ้น รองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีครั้งใหญ่

อย่างไรก็ดี มีกำลังการผลิตสินค้าในหลายหมวดที่ไม่กระเตื้องและยังคงซบเซา

ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม “รองเท้า” ที่กำลังการเดินเครื่องเฉลี่ยยังอยู่ที่ 43% เท่านั้น

ส่วนกลุ่ม “ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง” ยิ่งหนัก เพราะกำลังการผลิตเฉลี่ยยังขึ้นไปไม่ถึง 30% หมายความว่าต้องแบกต้นทุนทั้งค่าแรงและเครื่องจักรเอาไว้สูงมาก อาจเพราะแข่งขันกับสินค้าจีนไม่ได้ อนาคตก็มีโอกาสเป็นเอ็นพีแอลสูงมาก

กลุ่ม “เครื่องเรือน” มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 27% ซึ่งน่ากลัวเช่นเดียวกัน เพราะกลุ่มนี้เกี่ยวพันกับการจ้างงานในชนบท และเป็นธุรกิจระดับเอสเอ็มอีจำนวนมาก

ตัวเลขดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะระเริงกับตัวเลขจีดีพีที่เติบโตสูงขณะนี้ไม่ได้

เพราะยังมีอีกหลายกลุ่มอุตสาหกรรมและอาชีพที่ไม่ได้รับ อานิสงส์ จากมาตรการกระตุ้นของรัฐบาล

การขยายตัวยังกระจุกอยู่กับอุตสาหกรรมส่งออกและดอกเบี้ยต่ำ

ปัญหาคนตกงานในระบบยังสูงถึง 5 แสนคน ส่วนสินค้าเกษตรบางตัวยังต้องเผชิญกับราคาตกต่ำ และผีซ้ำด้ำพลอยด้วยปัญหาอุทกภัย

รัฐบาลมาร์คอาจเผชิญกับภาพลวงตาของเศรษฐกิจฟองสบู่ในบางสาขาหรือไม่ คงต้องรอการพิสูจน์...อีกไม่นานเกินรอ

Tags : กำลังผลิตแตะ 90% ลงทุนใหม่ทะยาน

view