สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ตั้งสติ เตือนตนเอง ก่อนเชื่อข้อมูลแนะนำการลงทุนออนไลน์

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โดย : ก.ล.ต.คู่คิดนักลงทุน : จารุพรรณ อินทรรุ่ง info@sec.or.th


คุณเป็นผู้ลงทุนในหุ้นที่นิยมหาข้อมูลแนะนำการลงทุนผ่านช่องทางที่ทันสมัยหรือเปล่าคะ? เช่น ผ่านการรับข้อความ SMS ทางโทรศัพท์มือถือ
หรือผ่านชุมชนออนไลน์ต่างๆ อย่างเว็บบล็อก รวมถึงเครือข่ายส่วนบุคคลอย่าง twitter และ facebook ซึ่งการใช้ข้อมูลในช่องทางทันสมัยแบบนี้ แม้ว่าจะทำให้ชีวิตการลงทุนของคุณสะดวกและง่ายขึ้น แต่หากไม่มีการตรวจสอบแหล่งที่มาและความน่าเชื่อถือของข้อมูล ก็อาจสร้างความเสียหายต่อการลงทุนได้ วันนี้ ดิฉันมีเคล็ดลับดีๆ ในเรื่องนี้มาฝากคุณๆ กันค่ะ

ต้องดูความน่าเชื่อถือของข้อมูล
สำหรับผู้ลงทุนทั่วไปเมื่อต้องเลือกว่าจะลงทุนหุ้นตัวไหน ซื้อขายที่ราคาเท่าใด ปริมาณซื้อขายมาก/น้อยเพียงไร หลายท่านมักจะใช้วิธีหาข้อมูลจากการอ่านบทวิเคราะห์หุ้นของบริษัทหลักทรัพย์ ขณะที่บางท่านอาจใช้วิธีการสอบถามจากเจ้าหน้าที่การตลาดเพื่อขอคำแนะนำหุ้นเป็นรายตัว ซึ่งเจ้าหน้าที่การตลาดจะให้คำแนะนำในลักษณะนี้ได้ ก็จะต้องอิงอยู่บนพื้นฐานของบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่จัดทำขึ้นโดยบริษัทหลักทรัพย์ด้วยค่ะ

แต่สำหรับผู้ลงทุนที่นิยมติดตามข้อมูลแนะนำหุ้นรายตัวผ่านช่องทางที่ทันสมัยนั้น มักมีปัญหาตามมาว่า ข้อมูลที่หยิบมาใช้นั้นมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ เพราะบางทีก็เป็นข้อมูลที่ไม่มีการยืนยันความถูกต้อง หรือไม่รู้ที่มา ที่ไป เช่น เว็บบล็อกบางแห่งไปคัดลอกบทวิเคราะห์หลักทรัพย์มาจริง แต่นำข้อมูลมาโพสต์แสดงไว้ไม่ครบถ้วน ก็ทำให้ผู้ลงทุนได้ข้อมูลไม่ครบถ้วนและทำให้เกิดความเข้าใจผิดในผลการวิเคราะห์ได้ หรือ twitter บางอันก็โพสต์แนะนำข้อมูลหุ้นรายตัว โดยที่ไม่บอกว่านำข้อมูลดังกล่าวมาจากไหน มีบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์รองรับหรือไม่ ซึ่งเมื่อผู้ลงทุนนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ต่อ บ่อยครั้งที่ต้องผิดหวังไปตามๆ กันค่ะ  

ตรวจสอบสักนิดก่อนตัดสินใจ
 เพื่อให้คุณนำข้อมูลที่รับรู้มาไปใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนได้อย่างสบายใจ ดิฉันจึงอยากให้คุณมีการตรวจสอบข้อมูลในประเด็นต่อไปนี้ค่ะ

1. ดูว่าข้อมูลหุ้นรายตัวนั้นมาจากบทวิเคราะห์หลักทรัพย์หรือไม่ เนื่องจากบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน (fundamental analysis) หรือการวิเคราะห์ทางเทคนิค (technical analysis) จะอยู่บนหลักวิชา โดยเจ้าหน้าที่ของบริษัทได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลรวมทั้งไป visit บริษัทเพื่อให้ได้ข้อมูลในเชิงลึก จึงให้ความมั่นใจในระดับหนึ่งว่า ได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลหุ้นตัวนั้นมาเป็นอย่างดีแล้วค่ะ

2. แหล่งที่มา: ใครเป็นคนจัดทำ/เผยแพร่ข้อมูล
เพื่อจะดูว่าคนที่ให้คำแนะนำการลงทุนหุ้นรายตัวนั้น เป็นคนที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. หรือไม่ คือ  ในแง่ตัวบริษัทต้องเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (broker) หรือที่ปรึกษาการลงทุน (investment advisor: IA) และถ้าเป็นตัวบุคคล ก็จะเป็นผู้บริหาร ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน (marketing) ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ ก.ล.ต. หรือนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่สังกัดบริษัทหลักทรัพย์ ยกตัวอย่างเช่น บริษัทหลักทรัพย์บางแห่งมีนโยบายส่ง SMS แนะนำข้อมูลดังกล่าวให้กับสมาชิกเพื่อให้ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน โดยข้อความใน SMS เป็นคำแนะนำตามบทวิเคราะห์ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดทำขึ้น อันนี้ก็ถือว่าโอเคค่ะ

อย่างไรก็ตาม บางครั้ง ผู้บริหาร marketing หรือนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ที่สังกัดบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตถูกต้องจาก ก.ล.ต. อาจมีการชักชวนผู้ลงทุนให้สมัครรับข่าวสารแนะนำหุ้นรายตัวผ่าน SMS ซึ่งเมื่อ ก.ล.ต. เข้าไปตรวจสอบจะพบว่า เป็นการทำในลักษณะส่วนตัว ไม่ใช่ในนามของบริษัท และหุ้นที่แนะนำนั้นไม่มีบทวิเคราะห์รองรับ จึงขอแนะนำผู้ลงทุนให้ตรวจสอบไปที่บริษัทหลักทรัพย์ด้วยว่า บริการส่ง SMS ที่คนเหล่านั้นเชิญชวนเป็นนโยบายให้บริการของบริษัทหรือไม่ ทั้งนี้ การตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลในการลงทุน ถือเป็นเรื่องสำคัญค่ะ เพราะหากผู้เผยแพร่ข้อมูลมีเจตนาที่จะปล่อยข่าวให้ผู้อื่นหลงเชื่อเพื่อสร้างราคา และคุณเกิดกระโจนไปร่วมวงไพบูลย์ด้วย คุณก็อาจตกเป็นเหยื่อของกระบวนการปั่นหุ้นได้ค่ะ

3. การจัดทำ/เผยแพร่ข้อมูลนั้น มาจาก “ตัวจริง เสียงจริง” หรือไม่
บ่อยครั้งที่เราพบปัญหาว่า การเผยแพร่ข้อมูลบนโลกไซเบอร์ มีการแอบอ้างชื่อเพื่อสร้างความเข้าใจผิด อย่างเช่นที่ดาราดังบางคนถูกแอบสร้างบัญชีใช้งานในชื่อของตนโดยบุคคลอื่น ทั้งที่ดาราคนนั้นไม่ทราบเรื่องก็มี  ในเรื่องของการเผยแพร่ข้อมูลการลงทุนก็เช่นกัน ดังนั้น ก่อนที่จะเชื่อว่าเว็บบล็อก twitter หรือ facebook ที่คุณเข้าไปดูข้อมูลมานั้น จัดทำโดยตัวจริงเสียงจริง ก็ต้องมีการตรวจสอบกันก่อนค่ะ เช่น หากเป็นบัญชีใช้งานที่บอกว่าเป็นของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ หรือเป็นของบริษัทหลักทรัพย์ ก็ขอให้คุณสอบถามไปที่บริษัทหลักทรัพย์นั้น ๆ ค่ะว่า ตัวบริษัทหรือพนักงานในบริษัทได้มีการเปิดใช้งานเว็บบล็อก twitter หรือ facebook เพื่อแนะนำข้อมูลหุ้นรายตัวหรือไม่ หากมี ก็ลองตรวจสอบชื่อบัญชีว่าตรงกับชื่อบัญชีใช้งานที่คุณทราบมาหรือไม่ เพื่อป้องกันการแอบอ้างค่ะ

 “สติ” ของผู้ลงทุน: ช่วยกรองการตัดสินใจ
ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ลงทุนที่ได้รับความเสียหายจากการใช้ข้อมูลคำแนะนำผ่านช่องทางที่ทันสมัยนี้มากพอควรค่ะ และแม้ ก.ล.ต. จะได้กำหนดมาตรการในการคุ้มครองผู้ลงทุนเป็นอย่างดี ทั้งการให้ผู้ทำหน้าที่วิเคราะห์และให้คำแนะนำแก่ผู้ลงทุนต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการให้คำแนะนำการลงทุน และจรรยาบรรณวิชาชีพ หรือการให้ผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. แต่เนื่องจากการเผยแพร่ข้อมูลผ่านช่องทางที่ทันสมัยนี้ สามารถทำได้ง่าย รวดเร็วและมีปริมาณข้อมูลข่าวสารจำนวนมาก รวมถึงบุคคลที่ร่วมเผยแพร่ข้อมูลอาจเป็นใครก็ได้ที่ไม่ใช่คนที่อยู่ในแวดวงการเงินหรืออยู่ใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. นอกจากนั้น มาตรการในการตรวจสอบเพื่อเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษ ก็ต้องใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลหลักฐาน ดังนั้น สิ่งที่   ผู้ลงทุนควรทำเพื่อดูแลตนเองให้อยู่รอดปลอดภัยในกรณีนี้ คือ การมีสติ อย่าได้เชื่อข้อมูลต่างๆ ง่ายเกินไป โดยต้องใช้ข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ที่สำคัญ คือ ไม่ควรใช้ข้อมูลจากแหล่งเดียว แต่ควรตรวจสอบและประมวลข้อมูลจากรอบด้านทั้งจากเว็บไซต์ของ ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ บริษัทจดทะเบียน และบริษัทหลักทรัพย์ เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นค่ะ

***บทความนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับตลาดทุนแก่สาธารณชนเท่านั้น
ในการจะนำข้อมูลไปอ้างอิง ควรตรวจสอบความถูกต้องและเป็นปัจจุบันของกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องด้วย***

Tags : ตั้งสติ เตือนตนเอง ก่อนเชื่อข้อมูล แนะนำ การลงทุนออนไลน์

view