สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ตลาดทุนกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม : กรณีบีพี

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
รู้ทันตลาดทุน
โดย : สฤณี อาชวานันทกุล


หลังจากที่พยายามรู้ทันตลาดทุนไทยมานาน ผู้เขียนขอเปลี่ยนบรรยากาศไปรู้ทันตลาดทุนต่างประเทศบ้าง
ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2553 แท่นขุดเจาะน้ำมันชื่อ Deepwater Horizon (ขอบฟ้าน้ำลึก) ของบริษัทบีพีในอ่าวเม็กซิโกระเบิด มีผู้เสียชีวิต 11 คน บาดเจ็บ 17 คน น้ำมันรั่วไปไกลถึงรัฐฟลอริดาของอเมริกา ใช้เวลานานเกือบ 3 เดือนกว่าจะอุดได้สำเร็จ หลังจากที่น้ำมันรั่วออกมาถึง 4.9 ล้านบาร์เรล กลายเป็นหายนะน้ำมันรั่วครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โลก
 

หายนะของบีพีก่อความเสียหายที่ยังไม่มีใครรู้มูลค่าที่แน่นอนต่อระบบนิเวศน์ทางทะเลและชายฝั่ง เพราะความเสียหายหลายประการต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะเห็นชัด ไม่นับความเสียหายต่อธุรกิจประมงและท่องเที่ยวใน 4 มลรัฐของอเมริกา นอกจากนี้ ยังจุดประกายการถกเถียงอภิปรายที่น่าสนใจที่สุดครั้งหนึ่งในวงการ "การลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคม" (socially responsible investing :  SRI) ซึ่งยังไม่มีในประเทศไทย
 

กองทุน SRI คล้ายกับกองทุนรวมทั่วไปตรงที่ระดมทุนจากนักลงทุนมาซื้อหุ้นของบริษัทจดทะเบียน แต่แตกต่างตรงที่ใช้มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (environment, social, and governance เรียกรวมว่า ประเด็น ESG) เป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจลงทุน เช่น บางกองจะไม่ลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการผลิตบุหรี่ สุรา และการพนัน บางกองเลือกซื้อแต่หุ้นของบริษัทที่เป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาดในแต่ละทุกประเทศ ไม่ลงทุนในบริษัทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเกินค่าปลอดภัยที่นักวิทยาศาสตร์รณรงค์ ฯลฯ
 

ผลประกอบการด้าน ESG ของบริษัท เป็นส่วนสำคัญที่บ่งบอกว่าบริษัทนั้นๆ น่าจะมี "ความยั่งยืน" หรือไม่ และ "รับผิดชอบต่อสังคม" จริงหรือไม่ ซึ่งต้องอาศัยทั้งข้อมูลที่บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยเอง ประกอบกับความรู้และความเชี่ยวชาญของกองทุน SRI ถ้ากองทุน SRI ตัดสินใจลงทุนไปแล้วบางบริษัทอาจเปลี่ยนนโยบาย กลายเป็นรับผิดชอบน้อยลง ด้วยเหตุนี้ กองทุน SRI จึงต้องเคลื่อนไหวในฐานะผู้ถือหุ้น (shareholder activism) อย่างสม่ำเสมอ เพื่อคอยสอดส่องดูแลให้บริษัทไม่ทำตัวแย่ลง และผลักดันให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น เช่น เสนอให้บริษัทเปิดเผยแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นวาระให้ผู้ถือหุ้นลงมติ
 

ก่อนเกิดหายนะในอ่าวเม็กซิโก หุ้นของบีพีอยู่ในพอร์ตลงทุนของกองทุน SRI จำนวนมาก เนื่องจากบีพีเป็นบริษัทพลังงานขนาดใหญ่ ที่มีประวัติดีเป็นอันดับต้นๆ ในแง่ของการดำเนินธุรกิจในทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น เป็นบริษัทพลังงานขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียว ที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เกือบร้อยละ 25 ระหว่างปี พ.ศ. 2545-2551 เป็นผู้นำตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ และปรับปรุงระบบต่อต้านคอร์รัปชัน และกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียในประเทศกำลังพัฒนาที่บีพีทำธุรกิจ

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ผู้จัดการกองทุน SRI จำนวนไม่น้อยขายหุ้นบีพีทิ้งก่อนเกิดหายนะ เนื่องจากมองเห็นสัญญาณบางตัว ที่บ่งชี้ว่าบริษัทมีความรับผิดชอบน้อยลง ยกตัวอย่างเช่น บริษัทจัดการกองทุน Generation Investment Management (http://www.generationim.com/) ก่อตั้งโดย เดวิด บลัด (David Blood) และอัล กอร์ (Al Gore) ในปี 2547 เป็นกองทุนระยะยาวที่ผนวกประเด็น ESG เข้ากับการวิเคราะห์ทางการเงินดั้งเดิมอย่างกลมกลืน เมื่อซีอีโอคนเก่าของบีพี คือ ลอร์ด จอห์น บราวน์ (John Browne) ผู้ริเริ่มการลงทุนในพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกอย่างจริงจัง ลาออกจากบริษัทในปี 2550 บริษัทก็สัมภาษณ์ซีอีโอคนใหม่ คือ โทนี เฮย์วาร์ด (Tony Hayward) เกี่ยวกับทิศทางของบริษัท พบว่าเฮย์วาร์ดไม่มีวิสัยทัศน์เหมือนลอร์ดบราวน์ว่าบริษัทควรพุ่งเป้าไปที่ พลังงานสะอาด หลังจากที่เฮย์วาร์ดเป็นซีอีโอ บีพีก็ลดขนาดการลงทุนในพลังงานทดแทน ปรับโฟกัสของบริษัทกลับไปที่เชื้อเพลิงฟอสซิล คือ น้ำมันเหมือนเดิม เมื่อเห็นว่าทีมผู้บริหารใหม่กำลังถอยหลังในแง่ของวิสัยทัศน์เรื่องความ ยั่งยืน Generation จึงตัดสินใจขายหุ้นบีพีทิ้งทั้งหมดก่อนปี 2552

บริษัทจัดการกองทุน SRI ชั้นนำอีกบริษัท คือ Walden Asset Management (http://www.waldenassetmgmt.com/) ตัดสินใจขายหุ้นของบีพีทิ้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 สองเดือนก่อนเกิดเหตุแท่นขุดเจาะน้ำมันระเบิด หลังจากที่ลงความเห็นว่าทีมผู้บริหารของบีพีไม่ได้ให้ความสำคัญกับการบริหาร จัดการความเสี่ยงด้าน ESG อย่างเพียงพอ เนื่องจากรายงานของสำนักงานความปลอดภัยและสุขอนามัยในอาชีพ (Occupational Safety and Health Administration : OSHA) ของอเมริกา ระบุว่า บีพี "มีปัญหาด้านความปลอดภัยที่รุนแรง และเป็นปัญหาเชิงระบบ" (http://www.publicintegrity.org/articles/entry/2085/) หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ผลการสอบสวนกรณีเหตุระเบิดที่โรงกลั่นน้ำมันของบีพีในเมืองเทกซัสซิตี้ในปี 2548 ซึ่งมีพนักงานเสียชีวิต 15 คนและบาดเจ็บอีก 170 คน และกรณีท่อส่งน้ำมันรั่วในมลรัฐอลาสกา ก็ระบุชัดเจนว่าบีพีปล่อยปละละเลยมาตรการด้านความปลอดภัย และการดูแลรักษาท่อ

ในระดับดัชนี บริษัท KLD (http://www.kld.com/) บริษัทวิจัยผู้ผลิตดัชนีชี้วัดความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับการ ยอมรับเป็นอันดับต้นๆ ในวงการ SRI ถอดบีพีออกจากดัชนีสองตัวที่บริษัทดูแล คือ ถอดจาก Global Sustainability Index (GSI) ในปี 2550 และ Global Climate 100 (GC100) ในปี 2551 เนื่องจากบริษัทลดการลงทุนในธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ (พลังงานที่ยั่งยืน) และเพิ่มการลงทุนในการขุดน้ำมันจากทราย (พลังงานที่ไม่ยั่งยืน) รวมทั้งมีประวัติด้านความปลอดภัยของพนักงานที่แย่ลง การตัดสินใจครั้งนี้ เท่ากับช่วยนักลงทุนที่ซื้อกองทุน SRI ที่อิงดัชนี GSI หรือ GC100 ให้รอดพ้นจากผลขาดทุนได้อย่างสง่างาม

บริษัท RiskMetrics Group (http://www.riskmetrics.com/) ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก (ปัจจุบันเป็นบริษัทลูกของ MSCI) เก็บรวบรวมสถิติเกี่ยวกับผลประกอบการด้าน ESG ของบริษัทจดทะเบียนหลายพันแห่งทั่วโลก รายงานว่าบีพีติดอันดับ "เฝ้าระวัง" (on watch) ใน Global Compact Plus (GC+) เครื่องมือที่ RiskMetrics ใช้ในการติดตามผลงานของบริษัทต่างๆ ที่อ้างว่าทำตาม UN Global Compact (หลักการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่องค์การสหประชา ชาติรณรงค์) มานานหลายปีก่อนเกิดหายนะ (ปัจจุบันถูกลดอันดับเป็น "แดง") ส่วนด้านการพิทักษ์ความปลอดภัยของพนักงาน บีพีก็ได้คะแนนแค่ "C" (ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้) ในฐานข้อมูลด้าน ESG ชื่อ Global Socrates นานข้ามปีก่อนเกิดเหตุในอ่าวเม็กซิโก

ข้อเท็จจริงเหล่านี้สะท้อนว่า หายนะของบีพีไม่ใช่เหตุบังเอิญล้วนๆ ที่ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ล่วงหน้า หากเป็นผลลัพธ์ของความสะเพร่า และไม่ใส่ใจกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยของพนักงาน สองปัญหาที่มีสัญญาณบ่งชี้มานานหลายปี นักลงทุนทุกคนที่เข้าใจว่าประเด็นเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนและความเสี่ยงของธุรกิจเพียงใด ล้วนให้ความสำคัญกับการหาข้อมูลด้านนี้ที่แท้จริง ไม่ใช่อ่านแต่โฆษณาประชาสัมพันธ์ของบริษัท

ข้อมูลที่ถูกต้องและรอบด้านช่วยให้นักลงทุนแยกแยะได้ระหว่างบริษัทตัว จริง กับบริษัทตัวปลอมในแง่ของความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และความสามารถในการแยกแยะ ก็ช่วยให้ขายหุ้นทัน ไม่ต้องประสบผลขาดทุนมหาศาลเหมือนกับนักลงทุนที่ไม่เคยใส่ใจในประเด็นนี้เลย

Tags : ตลาดทุน ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กรณีบีพี

view