สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เมื่อบาทแข็ง 29 บาท/เหรียญ ผู้ประกอบการไทยจะอยู่อย่างไร ?

จากประชาชาติธุรกิจ



สถานการณ์ เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลาแค่เดือนเดียว เงินบาทได้แข็งค่าขึ้นไปถึง 30 บาท/เหรียญสหรัฐ และมี แนวโน้มที่จะแข็งขึ้นไปถึงระดับ 28-29 บาท/เหรียญสหรัฐ ได้สร้างความตระหนกให้กับผู้ประกอบการในข้อที่ว่า หากเงินบาทแข็งค่าขึ้นไปอีก ผู้ประกอบการจะอยู่กันอย่างไร "ประชาชาติธุรกิจ" รวบรวม ความเห็นทั้งผลกระทบ การปรับตัว และข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ในการบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น

C.P. ขอรัฐชะลอขึ้นดอกเบี้ย

ดร.อาชว์ เตาลานนท์ รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (C.P.) กล่าวว่า ปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา เกิดจากการเก็งกำไรค่าเงินบาทมากเกินไป รัฐบาลควรเร่งหามาตรการแก้ไขปัญหาเงินบาทแข็งค่าให้รวดเร็วกว่านี้ เพราะวิกฤตเงินบาทแข็งค่ากำลังสร้างปัญหาให้กับผู้ประกอบการในกลุ่ม SMEs อย่างหนัก ทำให้เกิดภาระต้นทุนสูงขึ้นและสูญเสียรายได้ก้อนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ตนไม่เห็นด้วยกับการลดความผันผวนของค่าเงินบาทโดยเร่งปรับอัตราดอกเบี้ย ในทางปฏิบัติรัฐบาลควรชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไปก่อนและควร ช่วยเหลือผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบ โดยลดค่าธรรมเนียมการประกันความเสี่ยงเงินล่วงหน้า แต่ยังแสดงความมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังยังมีโอกาสเติบโต 5% หากไม่เจอผลกระทบจากปัจจัยทางการเมือง

เครื่องนุ่งห่มเตรียมดาวน์ไซซ์ปี"54

นาย วัลลภ วิตนากร เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า ผู้ส่งออกกลุ่มเครื่องนุ่งห่มที่ได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่า อาจจะต้องปรับลดขนาดการผลิต (down size) ลง โดยค่าเงินที่แข็งขึ้นทุก ๆ 1 บาท เมื่อคิดเป็นรายได้ที่สูญเสียไม่ต่ำกว่า 1,200 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการรายใดประกันความเสี่ยงไว้หรือไม่ ปัญหาก็คือ ผู้ประกอบการ SMEs จะได้รับผลกระทบมากกว่า เพราะการประกันความเสี่ยงเงิน มีต้นทุนและต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน

"เมื่อบาทแข็งก็ให้เอกชน ปรับศักยภาพการผลิต ซึ่งอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มได้ปรับตัวเองมาหลายครั้งแล้ว บางรายไม่รู้จะขยับยังไงแล้ว ตอนนี้กำหนดราคาขายในระดับอัตราแลกเปลี่ยน 30 บาท/เหรียญสหรัฐ ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดผันผวนมาก แต่ทาง ธปท.มองว่าเป็นเรื่องกลไกตลาด แต่ถ้าหากแข็งค่าแตะ 29 บาท คงไม่ต้องพูดกันแล้ว เราแตกต่างจากภูมิภาคมาก คงจะไม่เห็นภายในปีนี้ ยอดส่งออกจะขยายตัว 5% ตามเป้าหมาย เพราะทุกรายต่างรับออร์เดอร์ล่วงหน้าถึงสิ้นปี แต่ปี 2554 ภาคการผลิตต้องดาวน์ไซซ์แน่เพราะจะให้ขึ้นราคาลูกค้าตลาดหลักอย่างสหรัฐ สหภาพยุโรปก็ยังบอบบาง ไม่ฟื้นตัวจากปัญหาเศรษฐกิจ"

ข้าวไทยแข่งสู้ข้าวเวียดนามไม่ได้

นาง สาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ผู้ส่งออกข้าวคาดหวังว่าสถานการณ์ส่งออกช่วง 3 เดือนสุดท้าย จะช่วยกู้วิกฤตภาวะส่งออกข้าวที่ซบเซามาตั้งแต่ต้นปี โดยปริมาณส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนจะต้องไม่ต่ำกว่า 900,000 ตัน จึงจะทำให้การส่งออกทั้งปีเป็นไปตามเป้าหมาย 8.5-9 ล้านตัน เพราะประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนามไม่มีข้าวแล้ว และความต้องการในตลาดโลกก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะเกรงว่าจะเกิดวิกฤตอาหาร เช่น จีน บังกลาเทศ อิรัก อินโดนีเซีย ก็แสดงความต้องการจะซื้อข้าว

แต่ ปัจจัยเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องจะมีผลต่อยอดการ สั่งซื้อ เพราะการที่อัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้นทุก 1 บาท จะทำให้ราคาข้าวขยับสูงขึ้นประมาณ 20 เหรียญสหรัฐ เช่น เดิมต้นทุนข้าว 15,000 บาท/ตัน ขายในระดับอัตราแลกเปลี่ยน 30.80 บาท/เหรียญสหรัฐ ก็จะมีราคาตันละ 487 เหรียญสหรัฐ แต่หากค่าบาทแข็งค่าอีก 1 บาทเป็น 29.80 บาท ราคาขายจะต้องเท่ากับ 507 เหรียญสหรัฐ เท่ากับราคาสูงขึ้น แต่ไม่มีการซื้อขายจริงเพราะลูกค้าไม่มีกำลังซื้อ

"บาทแข็ง ราคาสูงขึ้นอาจจะแตะ 500 เหรียญสหรัฐ/ตัน (ข้าวขาว) แต่จะเทียบกับปี 2008 ไม่ได้ เพราะตอนนั้นราคาน้ำมันทะลุ 100 เหรียญสหรัฐ ลูกค้าที่เป็นตลาดหลักขายน้ำมันได้ก็มีกำลังซื้อข้าวสูงขึ้น แต่ตอนนี้น้ำมันทรงตัว ลูกค้าก็คงจะเลือกซื้อที่อื่นที่ถูกกว่าก่อน ส่วนไทยของแพงเป็นทางเลือกสุดท้าย โดยเฉพาะเทียบกับเวียดนามที่ปรับอ่อนค่าเงินด่อง 5% แต่ไทยบาทแข็งขึ้น 8% รวม ๆ แล้ว 13-14% ทำให้ยอดส่งออกของเวียดนาม 3 เดือนก่อนส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 800,000 ตัน"

บาทแข็งกระทบค่าการกลั่น

นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นว่า จะกระทบต่อธุรกิจการกลั่นน้ำมันเพราะนำเข้าน้ำมันดิบมาด้วยเงินเหรียญสหรัฐ จากที่เคยได้ค่าการกลั่นเฉลี่ยอยู่ที่ 6 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลนั้น แต่เมื่อนำมาขายเป็นน้ำมันสำเร็จรูปแล้วจะคิดเป็นเงินบาทและส่งออก ทำให้รายได้และค่าการกลั่นลดลงเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ตามบริษัทบางจากได้ใช้วิธีบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ไว้อยู่แล้ว จึงได้รับ ผลกระทบไม่มาก

ผลกระทบในแง่บวกจะตกอยู่ที่ ผู้ใช้น้ำมันในประเทศเป็นหลัก เนื่องจากราคาต้นทุนคือน้ำมันดิบลดลง และอาจจะทำให้ราคาน้ำมันปรับลดลงได้บ้าง หากว่าค่าเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังถือว่าค่าการตลาดน้ำมันทุกประเภทเฉลี่ยอยู่ที่ 1.50 บาท/ลิตร ซึ่งยังถือว่าไม่สูงมากนัก ฉะนั้นจึงยังไม่มีการปรับลดราคาน้ำมันในช่วงนี้

ปูนเปลี่ยนสกุลเงินใช้ยูโร

นาย สมชาย ลาภพิเชฐ ผู้อำนวยการขายและการตลาด บริษัท ปูนซีเมนต์เอเซีย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทยังไม่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากนัก เนื่องจากปีนี้ประมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ไว้ที่ 600,000 ตัน แยกเป็นปูนซีเมนต์ถุงกว่า 400,000 ตัน เป็นปูนเม็ด (คริงเกอร์) อีกประมาณกว่า 100,000 ตัน หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 20% ของเป้าปริมาณการขายทั้งปี โดยส่งออกไปในลักษณะการเจรจาการค้าแบบรายต่อราย

ใน ช่วงต้นปีนี้ บริษัทเคยประมาณการค่าเงินบาทไว้ที่ 32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ กรณีที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าปัจจุบันมาอยู่ที่ระดับ 29 บาท หรือต่ำกว่า 29 บาท/เหรียญ บริษัทอาจจะต้องพิจารณาเตรียมหาทางรับมือไว้ 3 ส่วน คือ 1)เปลี่ยนค่าสกุลเงินที่ใช้ในการส่งออก จากปัจจุบันเจรจาซื้อขายโดยอิงราคาค่าเงินบาทกับเงินเหรียญสหรัฐ มาเป็นใช้สกุลเงินอื่น เช่น เงินยูโร 2)ซื้อวงเงินประกันอัตราค่าแลกเปลี่ยน ซึ่งก่อนหน้านี้ช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ก็เคยนำวิธีการนี้มาใช้ครั้งหนึ่งแล้ว และ 3)มองหาตลาดส่งออกใหม่ ๆ จากปัจจุบันที่ส่งออกเฉพาะประเทศแถบเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา และพม่า เป็นหลัก น่าจะมีโอกาสที่จะขายปูนได้ในราคาที่สูงขึ้น

ตั้งกองทุนประกันค่าบาท

นาย ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงปัจจุบัน เงินบาทแข็งค่าขึ้น 6.2% สำหรับผลกระทบภาคอุตสาหกรรมที่ส่งออกที่ได้รับผลกระทบคือกลุ่มอุตสาหกรรมส่ง ออกที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก อาทิ อุตสาหกรรมการเกษตร, เสื้อผ้าสำเร็จรูป, รองเท้า เป็นต้น ซึ่งเดิมกลุ่มนี้จะประมาณการค่าเงินบาทไว้ที่ 31.50 บาท/เหรียญสหรัฐ

"การ แก้ปัญหา อยากให้รัฐบาล ธปท.ออกมาตรการมาช่วยเหลือ สกัดเงินนอกเข้ามาในประเทศ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะสหรัฐ และสหภาพยุโรปยังไม่มีความแน่นอนว่าจะฟื้นตัว น้ำมันก็ราคาลด นักเก็งกำไรไม่กล้าเก็งกำไร

ดังนั้นจึงหันมาลงทุนในประเทศแถบเอเชีย ซึ่งไทยถือว่ามีดอกเบี้ยสูงสุดในภูมิภาคอาเซียน เงินนอกจึงไหลเข้ามาแสวงหากำไรมากขึ้น และอยากให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนประกันค่าเงินบาทให้กับกลุ่ม SMEs เนื่องจากการทำประกันความเสี่ยงต้องเสียค่าธรรมเนียมให้กับสถาบันการเงิน รายใหญ่ไม่มีปัญหา แต่ SMEs ถือว่าเป็นภาระอย่างมาก" นายธนิตกล่าว

Tags : บาทแข็ง ผู้ประกอบการไทย อยู่อย่างไร

view