สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดรายงานวัดความยั่งยืนธุรกิจเอเชีย จากเวที CSR Asia Summit 2010 ไทยรั้งที่ 4 ธรรมาภิบาลโดดเด่น

จากประชาชาติธุรกิจ

การ จัดอันดับความยั่งยืนเอเชีย ประจำปี 2553 หรือ ASIAN SUSTAINABILITY RATING (ASR) 2010 โดยบริษัทวิจัย เรสปอนซิเบิล รีเสิร์ช ซึ่งมีฐานอยู่ที่สิงคโปร์ และซีเอสอาร์ เอเชีย บริษัทด้านที่ปรึกษา การวิจัยและ ฝึกอบรมเพื่อการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งเปิดเผยออกมาระหว่างมีการจัดการประชุมสุดยอดซีเอสอาร์เอเชียที่ฮ่องกง ระหว่างวันที่ 14-15 กันยายนที่ผ่านมา

ระบุว่า เกาหลีใต้ได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความยั่งยืนเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย จากการวิเคราะห์ด้วยข้อมูลด้านธรรมาภิบาล สังคมและสิ่งแวดล้อมจาก 542 บริษัทใน 10 ประเทศเอเชีย

ในรายงานข่าวระบุด้วยว่า บริษัทในจีนกลับเป็นกลุ่มที่มีการเปิดเผยข้อมูลด้านธรรมาภิบาล สังคมและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยการวัดความยั่งยืนด้วยเครื่องมือที่เรสปอนซิเบิล รีเสิร์ช และซีเอสอาร์ เอเชียจัดทำขึ้นเมื่อปีที่แล้ว มีตัวชี้วัดทั้งหมด 100 รายการ แบ่งประเภทการวัด/ประเมินผล ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ข้อมูลทั่วไป สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ตามหลักเกณฑ์การจัดทำรายงานด้านธรรมาภิบาล สังคมและสิ่งแวดล้อม หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า รายงาน ESG (Environmental, Social and Governance)

จากการจัดอันดับรายประเทศ เกาหลีใต้ได้คะแนนสูงสุด ตามมาด้วย อินเดีย, มาเลเซีย, ไทย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, ไต้หวัน, ฮ่องกง, ฟิลิปปินส์ และจีน

ขณะที่การจัดอันดับรายบริษัท บริษัทที่มีการดำเนินกิจการให้เกิดความยั่งยืนในธุรกิจที่สุดของเอเชียในปี นี้ ได้แก่ บริษัท ไต้หวัน เซมิคอนดัคเตอร์ แมนู แฟคเจอริ่ง จำกัด หรือทีเอสเอ็มซี ซึ่งมีความโด่ดเด่นในเรื่องการใช้ทรัพยากรและการจัดการโรงงานสีเขียว ด้วยค่าเฉลี่ย รวม 87%




ทั้ง นี้ การจัดอันดับยังมีการแบ่งตามรายสาขาธุรกิจ ทั้งหมด 12 สาขา และพบว่า ธุรกิจในสาขาโทรคมนาคมและการสื่อสารมีคะแนนด้านการดำเนินธุรกิจเพื่อทำให้ เกิดความยั่งยืนมากที่สุด

แล้วแทบไม่น่าเชื่อว่า ธุรกิจในสาขาสุขภาพกลับมีความยั่งยืนน้อยที่สุดในตาราง

ธุรกิจเอเชียโดดเด่นธรรมาภิบาล

จากรายงาน ยังตั้งข้อสังเกตว่า โดยทั่วไปบริษัทในเอเชียจะมีคะแนนด้านธรรมาภิบาลโดดเด่นและทำได้ดีกว่าการ วัดผลจากด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องยกให้เป็นผลงานของฝ่ายกำกับดูแลและตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคนี้ ซึ่งผลักดันให้บริษัทต่าง ๆ มีการจัดทำรายงานด้านความยั่งยืนและกำหนดให้มีเรื่องธรรมาภิบาลบรรจุอยู่ใน รายงานเหล่านี้ด้วย

"นับเป็นบทบาทสำคัญของฝ่ายกำกับดูแลและตลาดหลัก ทรัพย์ที่จะทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดทำรายงานของบริษัทที่จดทะเบียน ในตลาด และเรื่องนี้จะมีความสำคัญต่อเนื่องกับการผลักดันให้บริษัทต่าง ๆ ได้พัฒนาการทำจัดรายงานด้านธรรมาภิบาล สังคมและสิ่งแวดล้อม หรือ ESG ในอีกทางหนึ่งด้วย" เป็นคำกล่าวที่ระบุอยู่ในรายงาน

ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นด้านธรรมาภิบาลมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ตามมาด้วย สิงคโปร์, มาเลเซีย, ฮ่องกง, อินโดนีเซีย, อินเดีย, เกาหลีใต้, จีน, ฟิลิปปินส์ และสุดท้ายคือ




ไต้หวัน โดยการวัดคะแนนด้านธรรมาภิบาลจะพิจารณาจากนโยบายของบริษัท การทำรายงาน การจัดวางระบบและการควบคุมทางการเงิน อิสระและคุณภาพของคณะกรรมการบริหารและคุณภาพของผู้ตรวจสอบบัญชี เป็นต้น

เอสซีจี-ปตท. ยืนแถวหน้าธุรกิจยั่งยืน

ส่วน การพิจารณาความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจของบริษัทไทยแล้วพบว่า บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย และ บมจ.ปตท. เป็น 2 บริษัทไทยที่อยู่ในระดับบนของตารางการจัดอันดับความยั่งยืนเอเชียรอบนี้ โดย บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย ทำคะแนนเฉลี่ยได้ 74% ติดอยู่ในลำดับที่ 19 ขณะที่ บมจ.ปตท. มีคะแนนเฉลี่ย 70% อยู่ลำดับที่ 32 โดยในรายงานระบุว่า บริษัทจากสาขาวัสดุและพลังงานในประเทศไทยมีการทำงานที่โดดเด่นทั้งในด้าน สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะธุรกิจด้านวัสดุนั้นได้ทำให้เกิดผลกระทบเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ที่สูงมาก

นอกจากนี้ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทยยังสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยด้วยการจัดทำรายงานด้าน ความยั่งยืนให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในนานาประเทศ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจคู่แข่งขันในอุตสาหกรรมเดียวกันในจีนและ อินเดียแล้ว บริษัทแห่งนี้นับว่ามีการทำรายงานด้านความยั่งยืนและการเปิดเผยข้อมูลจนเป็น ที่รู้จักมากที่สุด

แต่อย่างไรก็ตาม ในรายงานระบุด้วยว่า ธุรกิจไทยนั้นยังมีการทำรายงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมไม่ดีนัก ซึ่งอาจเป็นสิ่งสะท้อนถึงการขาดความริเริ่มหรือกระตุ้นจากองค์กร หน่วยงานรัฐ หรือสังคมภายในประเทศเอง อีกทั้งไม่มีบริษัทใดเลยจาก 20 แห่งที่นำข้อมูลมาวิเคราะห์ในครั้งนี้ที่ผู้ให้ข้อมูลจะเป็นผู้ที่จัดทำ รายงานด้านธรรมาภิบาล สังคมและสิ่งแวดล้อม หรือเป็นผู้ที่จะตอบคำถาม ESG โดยตรง

อีกทั้งไม่มีบริษัทใดเลยที่กำหนดเป้าหมายด้านการใช้พลังงาน การใช้น้ำและการผลิตขยะและของเสีย ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการทำรายงาน ESG

ขาดข้อมูลจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ข้อ บกพร่องหนึ่งที่รายงานนี้กล่าวถึงคือการจัดทำรายงานด้านธรรมาภิบาล สังคมและสิ่งแวดล้อม ในเอเชียยังขาดข้อมูลจาก ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) และมากกว่า 75% จาก 500 บริษัทที่ให้ข้อมูลกับผู้จัดทำรายงาน ยังเป็นข้อมูลที่มาจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์หรือฝ่ายสื่อสารองค์กรใน บริษัทมากกว่าจะเป็นข้อมูลจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ด้วยเหตุนี้ ในรายงานจึงระบุว่า สถานการณ์นี้เปิดเผยการจัดทำรายงานด้านความยั่งยืนของบริษัทในเอเชียว่า มันเป็นเพียงเครื่องมือทางการตลาดมากกว่าจะเป็นเครื่องรับประกันหรือรับรอง ว่าธุรกิจนั้นมีความใส่ใจสิ่งแวดล้อมหรือสนใจสังคม

และประเด็นเหล่า นี้ กำลังเป็นความท้าทายสำหรับซีเอสอาร์ ประเทศไทย ซึ่งกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีแต่กิจกรรมส่งเสริมภาพลักษณ์ มากกว่ากิจกรรมการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างแท้จริงด้วยเช่นกัน

Tags : เปิดรายงาน วัดความยั่งยืนธุรกิจเอเชีย CSR Asia Summit 2010 ธรรมาภิบาลโดดเด่น

view