สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ดีล เอ็มที-เม้งไต๋ ฉาวหนัก มร.เฉิน เร่ขายข้าวล้านตัน

ดีล เอ็มที-เม้งไต๋ ฉาวหนัก มร.เฉิน เร่ขายข้าวล้านตัน

จากประชาชาติธุรกิจ

เปิด ตัว "มิสเตอร์เฉิน" บิ๊กบอส บจ.เอ็มที เซ็นเตอร์เทรด ออกเดินสายขายข้าวล้านตัน หวังฟันกำไรตันละ 1,000 บาท ทั้ง ๆ ที่ อ.ต.ก.เจ้าของข้าวในคลังยังไม่ได้ทำสัญญา ด้านผู้ส่งออกข้าว-โรงสีแห่เช็กราคาวุ่น หลังมิสเตอร์เฉินอ้างมีข้าวอยู่ในมือถึง 2 ล้านตันพร้อมขาย วงการค้าข้าวหวั่นส่งออกไม่ทัน 60 วัน เกิดการเวียนเทียนข้าวขายในประเทศก่อน ด้าน "พรทิวา" อ้างไม่รู้ไม่เห็น "นอมินี" เอ็มทีฯโยน "ไตรรงค์" คนอนุมัติ



การขายข้าวในสต๊อก รัฐบาลอย่างลับ ๆ ให้กับบริษัทโนเนมในวงการค้าข้าวอย่าง "เอ็มที เซ็นเตอร์เทรด" มากกว่า 1 ล้านตัน ได้สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วในวงการค้าข้าว โดยกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะ "ผู้ชง" การขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลครั้งนี้ ได้ออกมาแสดงท่าที "เมินเฉย" ต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่กำลังเกิดขึ้นไปทั่ว พร้อมกับ "โยน" เรื่องกลับไปยังนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ดูแลรับผิดชอบการระบายข้าวผ่านทางคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่ว่า รับรู้ขั้นตอนการขายข้าวให้กับบริษัทเอ็มที เซ็นเตอร์เทรด โดยตลอด แต่ก็ยัง "อนุมัติ" การขายข้าวลอตใหญ่ให้กับบริษัทนี้เพียงรายเดียว

แหล่ง ข่าวในวงการค้าข้าวกล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงการขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลมากกว่าล้านตัน ให้กับ บริษัทเอ็มทีฯจะส่งผลให้ปริมาณข้าวภายในประเทศกระจุกตัวอยู่กับผู้ส่งออก ข้าวเพียงไม่กี่ราย โดยรายใหญ่ที่มีข้าวอยู่ในมือมากที่สุดในขณะนี้จะเป็นของบริษัทเอ็มทีฯ ซึ่งแน่นอนว่าบริษัทนี้จะต้องเป็น "นอมินี" ที่มีความสัมพันธ์กับกลุ่มการเมืองในพรรคภูมิใจไทย "ทุกคนในวงการค้าข้าวกลัวว่า หากดีลขายข้าวล้านตันให้กับ บริษัทเอ็มที เซ็นเตอร์เทรด สำเร็จ การผูกขาดตลาดข้าวส่งออกที่เคยเกิดกับบริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จะหวนกลับมาอีก ซึ่งจะก่อให้เกิดการบิดเบือนในตลาดข้าวภายในประเทศมาก"

ทั้งนี้จาก การตรวจสอบการจดทะเบียนของบริษัทเอ็มที เซ็นเตอร์เทรด พบว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทนี้ก็คือ บริษัทเม้งไต๋ อินเตอร์เนชั่นแนล ตั้งอยู่ที่ อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี มีทุนจดทะเบียนเพียง 1 ล้านบาท ขณะที่สัญญาซื้อขายข้าวครั้งนี้มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 17,000 ล้านบาท โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทเม้งไต๋ฯ หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บริษัทแม่ของบริษัทเอ็มทีฯ ก็คือนายจุ้งเชียง เฉิน กับ น.ส.ภาวิณี จารุมนต์ ซึ่งก็คือกรรมการผู้มีอำนาจทำการในบริษัทเอ็มทีฯ ในลักษณะของการถือหุ้นไขว้กันนั่นเอง

สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุดของ บริษัทเอ็มทีฯมีรายงานข่าวเข้ามาว่า "มิสเตอร์ เฉิน" ซึ่งเข้าใจกันว่าคือ นายจุ้งเชียง เฉิน ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัทเอ็มทีได้เปิดตัวในวงการค้าข้าวพร้อมที่จะขายข้าวที่ซื้อจากสต๊อก รัฐบาลให้กับผู้ส่งออกข้าวที่สนใจ ปรากฏมีบริษัทผู้ส่งออกข้าวทั้งรายเล็ก-กลาง-ใหญ่ รวมไปถึงกลุ่มโรงสี บางรายได้ติดต่อกลับไปยังมิสเตอร์เฉิน เพื่อขอซื้อข้าวและราคาที่จะขาย

"การ บอกขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลครั้งนี้ มีทั้งที่ติดต่อกับมิสเตอร์เฉินโดยตรงหรือบอกขายผ่านทางหยง และจากรายชื่อโกดังข้าวที่ทางมิสเตอร์เฉินส่งมาให้ผู้สนใจจะซื้อเข้าตรวจดู คุณภาพข้าวในโกดัง พบว่าข้าวที่เสนอขายนั้นไม่ใช่ที่ตัวเลข 1.1 หรือ 1.4 ล้านตัน แต่เป็นปริมาณข้าวถึง 2,085,051 ตัน กระจายอยู่ในโกดังข้าวทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็นข้าวปทุมธานี จำนวน 49,141 ตัน ข้าวเหนียว 10% จำนวน 118,946 ตัน และข้าวขาว 5% จำนวน 1,916,964 ตัน"

โดย ราคาข้าวที่มิสเตอร์เฉินนำออกขายครั้งนี้ ประกอบไปด้วย ข้าวปทุมธานี ตันละ 18,500-19,000 บาท จากราคาที่ซื้อจากรัฐบาลตันละ 16,800 บาท, ข้าวเหนียว 10% ตันละ 23,000-25,000 บาท จากราคาที่ซื้อจากรัฐบาลตันละ 20,000 บาท และข้าวขาว 5% ตันละ 13,400-13,500 บาท จากราคาที่ซื้อจากรัฐบาลตันละ 12,000 บาท เท่ากับว่ามิสเตอร์เฉินสามารถทำกำไรเฉลี่ยตกประมาณตันละ 1,000 บาท

"วิธีการขายข้าวของมิสเตอร์เฉินก็คือ คิดจากต้นทุนเฉลี่ยตันละ 12,000 บาท หรืออีกแบบก็คือใช้วิธีซื้อมาเท่าไหร่ ขายไปเท่านั้น แต่ผู้ซื้อต้องวางค้ำประกัน 10% จากมูลค่าข้าวทันที ซึ่งบริษัทเอ็มทีฯ ก็จะใช้เงินจำนวนนี้ไปวางค้ำประกันและจ่ายให้กับกระทรวงพาณิชย์ ตอนนี้ทุกคนรู้กันว่าบริษัทเอ็มทีฯ พร้อมขายข้าวที่ซื้อมาจากรัฐบาลที่มีอยู่ในมือไม่ต่ำกว่า 2 ล้านตัน จึงมีบริษัทผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่ไม่กล้าออกหน้าซื้อข้าวโดยตรงกับกรมการ ค้า ต่างประเทศ และผู้ส่งออกรายเล็ก โรงสี ได้พยายามติดต่อขอซื้อข้าวจากบริษัทเอ็มทีฯ เพราะข้าวในตลาดหายากในขณะนี้" แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้มีข้อน่าสังเกตว่า การขายข้าวสต๊อกรัฐบาลให้กับบริษัทเอ็มทีฯนั้นเป็นการขายข้าวเพื่อการส่งออก มีกำหนดให้บริษัทมารับมอบข้าวแบบเงียบ ๆ อย่างลับ ๆ ในเวลา 60 วัน ซึ่งลำพังบริษัทเอ็มทีฯคงไม่สามารถรับมอบข้าวตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ได้ทัน อย่างแน่นอน แต่ในประเด็นนี้ไม่น่าเป็นห่วงเพราะการขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลก่อนหน้านี้ จำนวน 1.6 ล้านตัน ให้กับบริษัทนครหลวงค้าข้าว-บริษัทเอเซียโกลเด้นไรซ์-บริษัทข้าวไชยพร- บริษัทพงษ์ลาภ ที่มีกำลังการผลิตสูงก็ยังไม่สามารถรับมอบข้าวได้ทันตามกำหนด และได้มีการร้องขอมายังองค์การคลังสินค้า (อคส.) ขอขยายระยะเวลารับมอบข้าวออกไปเป็น 150 วันแล้ว

นอกจากนี้จากการตรวจ สอบพบว่า บริษัทเอ็มทีฯมีการร่วมทุนกับบริษัท กว่างตง เซ้งไท่ จำกัด สัญชาติเป็นบริษัทจีน ตั้งอยู่ ในเมืองกวางเจา ซึ่งมีผู้ส่งออกตรวจสอบข้อมูลไปพบว่า บริษัทนี้เป็นเพียงผู้นำเข้ารายเล็ก ๆ ในประเทศจีน ที่พยายามจะติดต่อนำข้าวรัฐบาลไปขายให้กับสหกรณ์เมืองเสิ่นเจิ้น แต่ยังตกลงเรื่องระบบการชำระเงินไม่ได้ เพราะจีนจะไม่ใช้วิธีเปิด L/C แต่จะใช้วิธีโอนเงินหลังรับสินค้า นับเป็นวิธีที่มีความเสี่ยงสูงมาก หากบริษัทเอ็มทีฯจะใช้คำสั่งซื้อข้างต้นไปอ้างกับคณะทำงานดำเนินการระบาย ข้าวสาร เพื่อให้รัฐบาลขายข้าวให้

"หากบริษัทเอ็มทีฯรับมอบและส่งออก ข้าวไปต่างประเทศจริงแล้ว ตัวเลขการส่งออกข้าวจะต้องเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ล้านตันต่อเดือน เพราะข้าวที่ขายส่วนใหญ่เป็น ข้าว 5% ปริมาณที่คาดว่าขายไปแล้ว 3.6 ล้านตัน โดยปกติจะส่งออกเฉลี่ยอย่างต่ำเดือนละ 500,000 ตัน หากรวมกับข้าวชนิดอื่น ๆ ที่ไทยส่งออกทั้งข้าวนึ่ง ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว ก็จะต้องมียอดการส่งออกทะลุ 1 ล้านตัน/เดือนแน่นอน หากยอดการส่งออกไปไม่ถึงตัวเลขดังกล่าวภายในระยะเวลา 120 วัน ก็แสดงว่ามีการนำข้าวใน สต๊อกรัฐบาลที่ขายให้กับบริษัทเอ็มทีฯออกมาเวียนขายภายในประเทศก่อนแล้วค่อย หาข้าวอย่างอื่นไปส่งออกแทน" แหล่งข่าวกล่าว

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ได้พยายามโทรศัพท์ไปยังบริษัทเอ็มทีฯ ระบุชื่อ มิสเตอร์เฉิน หรือนางสุพรรณี เฉิน หรือ นางสาวภาวินี จารุมนต์ เพื่อขอทราบรายละเอียดการซื้อข้าวจากกระทรวงพาณิชย์ ในครั้งนี้ แต่ก็ถูกผู้รับสายปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่า ทั้ง 3 คนไม่ได้เดินทางเข้ามายังบริษัท และต้องเดินทางต่างประเทศบ่อย จึงไม่สะดวกที่จะติดต่อด้วย

ด้านนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า "เราไม่สามารถรู้ได้ว่าใครเป็นใคร เพราะ ในการขอซื้อข้าวในสต๊อก คณะทำงาน ด้านการระบายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลจะพิจารณาตามขั้นตอนให้ แต่ขั้นตอนสุดท้ายก็ต้องเสนอไปยังประธาน กขช. หรือรองประธาน กขช. พิจารณาอนุมัติอยู่ดี และบริษัทนี้คงไม่ใช่การจับเสือมือเปล่า หากมีการทำผิดสัญญาไม่มารับมอบข้าวหรือไม่ส่งออก ก็จะมีการยึดเงินค้ำประกันทั้งหมด"

ขณะที่นายมนูญ์รัตน์ เลิศโกมลสุข

ผู้ อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) กล่าวว่า "จนถึงขณะนี้ อ.ต.ก.ยังไม่ได้กำหนดวันเซ็นสัญญาขายข้าวให้กับเอกชนรายดังกล่าว เพราะต้องรอคำสั่ง จากคณะกรรมการ กขช. อย่างเป็นทางการเสียก่อน จึงจะเริ่มเซ็นสัญญาซื้อขายข้าวให้กับเอกชนรายดังกล่าวได้ โดยส่วนตัวแล้ว ตนไม่รู้จักกับเอกชนรายดังกล่าว เพราะ อ.ต.ก.ไม่มีหน้าที่ขายข้าว เพียงแต่ทำหน้าที่ดูแลเก็บสต๊อกข้าวเท่านั้น"

 


 

จากรัชดาภิเษกถึงม่วงสามสิบ ตามรอย "เอ็มที-เม้งไต๋"

จากประชาชาติธุรกิจ




(บน) บริษัทเม้งไต๋ อินเตอร์เนชั่นแนล ตั้งอยู่ที่ อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี (ขวา) บริษัทเอ็มทีฯ อยู่ชั้น 4 บนภัตตาคาร Joke Club Seafood ถ.รัชดาภิเษก

การ ขายข้าวมากกว่า 1 ล้านตัน ให้กับ บริษัทเอ็มที เซ็นเตอร์เทรด ซึ่งถือหุ้นใหญ่ 99.99% โดยบริษัท เม้งไต๋ อินเตอร์เนชั่นแนลได้สร้างความสงสัยต่อสาธารณชนที่ว่า กลุ่มบริษัทดังกล่าวเป็นใคร มีความน่าเชื่อถือมากแค่ไหน ที่สามารถคว้าสัญญาซื้อข้าวจากสต๊อกรัฐบาล คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 17,000 ล้านบาท ล่าสุดผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่จังหวัดอุบลราชธานี ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อหาบริษัทดังกล่าว พบว่าบริษัท เอ็มที เซ็นเตอร์เทรด จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 169/80-81 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ ใกล้สี่แยกห้วยขวาง บนภัตตาคาร Joke Club Sea Food ซึ่งกำลังปิดปรับปรุงและติดป้ายรับสมัครพนักงานจำนวนมาก




จาก การสอบถามเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่นั่งอยู่หน้าภัตตาคาร Joke Club ระบุว่า บริษัทเอ็มที เซ็นเตอร์เทรด ทุน จดทะเบียน 10 ล้านบาท แจ้งประกอบกิจการขายปุ๋ย-ค้าส่ง ตั้งอยู่บนชั้น 4 ของภัตตาคาร Joke Club Sea Food จริง แต่เมื่อผู้สื่อข่าวขอเข้าไปติดต่อธุระด้านในบริษัท เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยรายนี้กล่าวว่า ไม่สามารถอนุญาตให้เข้าไปได้ หากจะมาติดต่อธุระต้องโทรศัพท์ระบุวันเวลานัดที่ชัดเจนมาล่วงหน้า พร้อมกับยื่นเบอร์โทร.ติดต่อกลับให้ผู้สื่อข่าว (0-2274-9911) เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่าจะขอติดต่อธุระกับนายจุ้งเชียง เฉิน หรือนางสุพรรณี หรือนางสาวภาวินี จารุมนต์ ซึ่งเป็นกรรมการ/ผู้ถือหุ้นบริษัทได้หรือไม่ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตอบว่า "ต้องโทรศัพท์นัดล่วงหน้าก่อนครับ"

ขณะ เดียวกันนั้น ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ประจำจังหวัดอุบลราชธานี ได้เดินทางไปยัง อ.ม่วงสามสิบ เพื่อค้นหา บริษัทเม้งไต๋ อินเตอร์เนชั่นแนล ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 95 หมู่ที่ 13 ต.หนองเมือง อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี แจ้งประกอบกิจการให้กู้ยืมเงิน-บริการ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งเดียวกันกับบริษัท เม้งไต๋ จำกัด ทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท แจ้งประกอบกิจการค้าข้าว-ส่งออก-ค้าส่ง เบื้องต้นจากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ระบุว่า เป็นบริษัทคนจีนเข้ามาดำเนินธุรกิจในอำเภอนี้กว่า 2 ปีแล้ว โดยลักษณะพื้นที่เป็นโกดังขนาดใหญ่บนพื้นที่ 6,400 ตารางเมตร แต่เมื่อ "ผู้สื่อข่าว" ขอเข้าไปติดต่อด้านใน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไม่อนุญาต และไม่ให้ข้อมูลใด ๆ ทั้งสิ้น



วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4248  ประชาชาติธุรกิจ


เมื่อ 'มร.เฉิน' เร่ขายข้าวล้านตัน ระวัง 'เม้งไต๋' ซ้ำรอย 'เพรซิเดนท์ อะกริ'


จากประชาชาติธุรกิจ


การ เปิดขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลด้วยวิธีการแบบเงียบ ๆ อย่างลับ ๆ ตามคำสั่งของนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ให้กับ บริษัท เอ็มที เซ็นเตอร์เทรด บริษัทในเครือเม้งไต๋ อุบลราชธานี เพียงรายเดียวมากกว่า 1 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าข้าวไม่ต่ำกว่า 17,000 ล้านบาท ขณะที่บริษัทเอ็มทีฯ มีทุนจดทะเบียนเพียง 10 ล้านบาท แถมสถานที่ตั้งบริษัทก็เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็น บริษัทกระดาษ ซึ่งตั้งอยู่ที่ 169/80-81 ถนนรัชดาภิเษก ดินแดงนั้น

ได้สร้างความ กังวลให้กับผู้คนในวงการค้าข้าวมาก เนื่องจากเกรงว่าเหตุการณ์จะซ้ำรอยกรณีของ บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง ในอดีตที่เคยครอบครองข้าวในประเทศเพียงรายเดียวถึง 1.7 ล้านตัน จนสามารถกำหนดทิศทางราคาข้าวได้ แต่สุดท้ายบริษัทก็ไปไม่รอด ถูกฟ้องล้มละลาย ตามมาด้วยการถูกพิทักษ์ทรัพย์ เด็ดขาดอยู่ในปัจจุบัน สร้างความเสียหายให้กับองค์การคลังสินค้า (อคส.)-กรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งเป็นคู่สัญญาไม่ต่ำกว่า 7,000 ล้านบาท

กรณีของบริษัท เอ็มที เซ็นเตอร์เทรด ก็เช่นกัน จากการตรวจสอบหนังสือ บริคณห์สนธิของบริษัทพบว่า ตั้งบริษัท เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2551 ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท แจ้งประกอบกิจการขายปุ๋ยเคมี-ค้าส่ง ผู้ก่อตั้ง คือ นายจุ้งเชียง เฉิน ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจทำการด้วย โดยบริษัทนี้ถือหุ้นใหญ่โดยบริษัท เม้งไต๋ อินเตอร์เนชั่นแนล ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ตั้งบริษัทอยู่ที่ อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี ผู้ถือหุ้นใหญ่ ปรากฏชื่อนายจุ้งเชียง เฉิน กับ นางสาวภาวินี จารุมนต์ แจ้งประกอบกิจการให้กู้ยืมเงิน-บริการ



ผล การประกอบการของทั้ง 2 บริษัท บริษัท เอ็มทีฯมีวงเงินเครดิตอยู่แค่ 30,000-40,000 บาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552 มีกำไรสุทธิ 43,090 บาท ขณะที่บริษัท เม้งไต๋ อินเตอร์เนชั่นแนล มีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 23,000 บาท แต่กลับได้รับการคัดเลือกจาก คณะทำงานดำเนินการระบายข้าวสาร ที่มี นายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นประธาน ให้เป็นผู้ซื้อข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลเพียงคนเดียวมากกว่า 1 ล้านตัน

หลัง จากที่ดีลขายข้าวให้กับบริษัทกระดาษที่ค่อนข้างแน่ใจจากวงการค้าข้าวว่า จะต้องเป็น "นอมินี" ให้กับใครบางคนถูกเผยแพร่ออกไป ทั้งคณะทำงานดำเนินการระบายข้าวสาร กับ นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ก็ได้ออกมา "ปกป้อง" ดีลการขายข้าวให้กับบริษัทนี้ทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นที่บริษัทเร่ขายข้าวให้กับผู้ส่งออก-โรงสีข้าวในประเทศ โดยไม่สนใจว่า การซื้อข้าวครั้งนี้เป็นการซื้อเพื่อระบายส่งออกไปต่างประเทศเท่านั้น

"สวน ทาง" กับ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองประธาน กขช. ที่ออกมาระบุว่า ให้กระทรวงพาณิชย์กลับไปตรวจสอบการขายข้าวครั้งนี้ แต่นายไตรรงค์ก็ไม่ได้ออกมายอมรับว่า ได้เซ็น "อนุมัติ" ขายข้าวให้กับบริษัท เอ็มที เซ็นเตอร์เทรด ไปแล้วหรือ ยัง จนกลายเป็นคำถามที่ผู้คนในวงการค้าข้าวสงสัยว่า รัฐบาลชุดนี้จะ "ลาก" ดีลขายข้าวที่แสนจะอื้อฉาวออกไปอีกนานแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ไปไกลกว่าคณะทำงานดำเนินการระบายข้าวสาร ซึ่งน่าจะเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงเสียอีก ด้วยการออกโรงมาการันตีให้กับบริษัทว่า หากบริษัทสามารถส่งออกข้าวได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายข้าวตาม ปริมาณคำสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศที่บริษัทนำมาแสดง "ส่วนวิธีการจะทำอย่างไร ก็เป็นเรื่องของเขา เช่น ขายข้าวให้ผู้ส่งออกข้าวรายอื่นแล้วขอใบอนุญาตส่งออกในนามบริษัทนั้น ๆ มาแสดงก็ได้ ซึ่งเป็นวิธีการที่วงการค้าข้าวทำกันเป็นปกติอยู่แล้ว"

ก็ ด้วยวิธีการที่นายยรรยงกำลังจะบอกว่า เป็นเรื่องปกติในวงการค้าข้าวที่ทำกันอยู่เป็นประจำนี่เอง ที่ทำให้องค์การคลังสินค้า-กรมการค้าต่างประเทศประสบความเสียหายจากการสัญญา ซื้อขายข้าวที่ทำในอดีตไว้กับบริษัท เพรซิเดนท์ อะกริฯ ในแบบเดียวกันถึง 7,000 ล้านบาท เมื่อตรวจสอบพบว่า สัญญาซื้อขายข้าว จำนวน 1.7 ล้านตัน เพื่อการส่งออกในขณะนั้น บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริฯ ไม่ได้ส่งออกจริง แต่กลับเอาข้าวจำนวนเดียวกันนี้ไปขายหมุนเวียนภายในประเทศจนเกิดกรณี "ข้าวลม" ขึ้น

จากกรณีนั้น บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริฯ ได้ให้เหตุผลเดียวกันกับสิ่งที่นายยรรยง พูดอยู่ในปัจจุบันเมื่อ 5 ปีก่อน แม้เงื่อนไขสัญญาซื้อขายข้าว (1.7 ล้านตันในขณะนั้น) บอกว่าต้องส่งออกข้าวทั้งหมดไปต่างประเทศ ห้ามขายภายในประเทศ "แต่เวลาขายในประเทศ ผมให้คนซื้อข้าว ทำสัญญารูปแบบเดียวกันกับที่ผมทำกับ อคส.เป็นสัญญาแบบ Back to Back คนที่ซื้อข้าวของผมไป ต้องส่งออกข้าวทั้งหมด ต้องมีเอกสารกรมศุลกากรมาแสดงกับผม วิธีการขายข้าวของผม ทำแบบเปิดเผยผ่านหยง"

สุดท้าย บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริฯ ก็ผิดสัญญา ไม่มารับมอบข้าว ถูกธนาคารยึดค้ำประกัน ทั้ง ๆ ที่บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริฯ ในขณะนั้นติดอันดับผู้ส่งออกข้าว Top 3 แถมได้รับการผ่อนปรนเงื่อนไข วางค้ำประกันเพียง 1% ก็ยังไปไม่รอดสำมะหาอะไรกับเอ็มที เซ็นเตอร์เทรด บริษัทลูกของเม้งไต๋ ผู้ค้าข้าวหอมมะลิ รายเล็ก ๆ แห่ง อ.ม่วงสามสิบ ไกลสุดกู่เกือบถึงชายแดนของประเทศ จะบริหารการส่งออกข้าวมากกว่า 1 ล้านตันภายใน 60 วันได้อย่างไร ?


Tags : เอ็มที เม้งไต๋ ฉาวหนัก มร.เฉิน เร่ขายข้าว ล้านตัน

view