สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดโรดแมป ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ถ้าไม่ทำวันนี้ไทยไม่ใช่ Winner แต่จะเป็น Loser

จากประชาชาติธุรกิจ

ชื่อ "ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" กลับมาอีกครั้ง เมื่อการเมืองเริ่มเตรียมตัวจับขั้วกันใหม่ ถ้าหาก "ประชาธิปัตย์" ถูกยุบพรรคปลายเดือนพ.ย. ศกนี้ ดร.สมคิด มีดีอะไร ทำไมจึงถูกคาดหมายว่า จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปได้ ต้องอ่านวิสัยทัศน์ต่อไปนี้

ที่ผ่านมาระหว่างเว้นวรรค 5 ปี "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง อดีตรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ มักจะปรากฏตัวบนเวทีต่าง ๆ โดยเฉพาะเวทีระดับผู้ปฏิบัติงานเพื่อต้องการสร้างแรง "ขับเคลื่อน" ปลุกกระแสให้คนตื่นตัว ว่าจะต้องเผชิญหน้ากับอะไร และต้องรับมืออย่างไรบ้าง      

 

ล่าสุดในงานสัมมนา "Asia Rising : Thai Enterpreur′s Roadmap to New Investment Opportunities and Growth in the New Landscape" ดร.สมคิดได้ปาฐกถาพิเศษโดยเล่าว่า เมื่อสักประมาณ 30 ปีมาแล้ว มีหนังสือเล่มหนึ่งเขียนโดยศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้บอกเล่าให้คน ทั้งโลกได้รับรู้และติดตามความหัศจรรย์ของประเทศเล็ก ๆ ในเอเชีย โดยกล่าวถึงเบื้องหลังความสำเร็จของญี่ปุ่นที่สร้างความตื่นตะลึงให้กับทั้ง โลก


  "ตอนนั้นผมเรียนอยู่ที่นอร์ทเวสตัน ผมบอกอาจารย์ว่า สนใจเรื่องนี้มาก แต่ผมขอศึกษาเรื่องแต่ในประเด็นการตลาด เชื่อว่าเป็นปัจจัยหนึ่งในการสำเร็จของญี่ปุ่น ต่อมาได้กลายเป็นหนังสือ The New Competition Lesson From Japan...การแข่งขันใหม่ บทเรียนจากญี่ปุ่น   ผมเชื่อว่าในไม่ช้าความสำเร็จของญี่ปุ่นจะเป็นต้นแบบทำให้ประเทศในเอเชียขับ เคลื่อนตามญี่ปุ่น จากนั้นก็มี 4 เสือแห่งเอเชีย ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลี สิงคโปร์ ทะยานตามขึ้นมา จากนั้นไม่นานในอาเซียนมีไทย อินโดนีเซีย  มาเลเซียตามมา" 


 ความสำเร็จ 3 ระลอกนี้ทำได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถสั่นสะเทือนโลกได้ โลกยังสนใจอเมริกา ยุโรป จนเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมานี้คลื่นระลอก 4 ที่นำโดยจีน อินเดียเกิดขึ้น


    ดร.สมคิดตั้งข้อสังเกตไว้ 3 ประการ ว่า ในการทะยานระลอกที่ 4 โดยจีนและอินเดีย เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับพลังการขับเคลื่อนของ 4 เสือแห่งเอเชียและอาเซียนซึ่งยังไม่ชะลอตัวลง ฉะนั้นคลื่นทั้ง 4 นี้ทำให้เกิด "ยุคสมัยแห่งเอเชียแท้จริง" ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และสั่นสะเทือนโลกทั้งโลก ไม่ว่าเชิงเศรษฐกิจหรือภูมิรัฐศาสตร์


  ในขณะที่เอเชียกำลังทะยานขึ้น มีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นพร้อมกัน คือการเชื่อมโยงของประเทศภายในเอเชีย ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงที่น่าประหลาดใจ โดยปกติประเทศใหญ่จะเป็นฮับหรือเป็น "ดุมล้อ" ประเทศเล็กจะเป็น "ซี่ล้อ" มาเสริม แต่ในเอเชียกลายเป็นว่าอาเซียนเป็นดุมล้อ ประเทศใหญ่ ๆ เป็นซี่ล้อเสียบเข้ามา


  เมื่อมีการเชื่อมโยง การขับเคลื่อนเชิงนโยบายต่างประเทศในประเทศเอเชีย ทั้งเชิงเศรษฐกิจ มุมมองทางการเมืองเพื่อถ่วงดุลอำนาจในเอเชียกันเอง ภายใต้การขับเคลื่อนนี้เป็นนัยที่เราควรศึกษา ทั้งเชิงนโยบายประเทศ การบริหารเศรษฐกิจ การบริหารธุรกิจ


  ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ดร.สมคิดกล่าวว่า ตรงนี้น่าสนใจ จีนเป็นเป้าใหญ่ที่คนมองดูอยู่ เรารู้ว่าจีนเป็นประเทศที่ถ่อมตน จีนรู้ว่าความสำเร็จนั้นอันตราย ฉะนั้นผู้ใหญ่ของจีนพยายามบอกผู้บริหารประเทศให้บอกชาวโลกว่า จีนยังพัฒนาอีกเยอะ เราขอพัฒนาเงียบ ๆ แต่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นที่ผ่านมามันเป็นประกายเจิดจ้ามากจนเก็บงำไม่อยู่


  ดังนั้นการก้าวทะยานของจีนนั้นเป็นการทะยานโดยสันติ โดยใช้กลยุทธ์ "อำนาจที่อ่อนหยุ่น" หรือซอฟต์พาวเวอร์ ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ และจีนประกาศว่า เป้าหมายของจีนคือ อยู่ที่การทำให้คุณภาพคนจีนดีขึ้นและเท่าเทียมให้มากขึ้น แต่การจะทำได้ต้องทำภายในจีนให้มีเสถียรภาพและภายนอกรอบ ๆ จีนต้องมีสันติภาพ


  "ภายนอก" จะมีสันติภาพได้ จีนประกาศชัดเจนว่า หัวใจสำคัญคือ หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า และพยายามสร้างมิตร โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านสำคัญต้องดูแลกัน สร้างความเข้าใจกัน ประเทศที่ห่างไกลในการพัฒนาจะเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบ ส่วนเวทีพหุภาคีเป็นแหล่งที่จีนจะสื่อความกับโลกได้ นั่นคือ เหตุผลจีนเข้า WTO


  ในประเด็นของประเทศเพื่อนบ้านที่จีนให้ความสำคัญมาก หากดูในเอกสารจีนเขาพูดชัดเจนว่า ทางเหนือเข้มแข็งเกินไป ตะวันตกวุ่นวายเกินไป ตะวันออกดุร้ายเกินไป ทางใต้สันติ ฉะนั้นจีนจึงมองมาทางใต้ คือ "อาเซียน" ที่สำคัญไม่ใช่เพราะมีประชากร 500 ล้านคน และมีพรมแดนติดกัน แต่อาเซียนครอบคลุมหลายประเทศ มีเส้นทางลำเลียงผ่านช่องแคบมะละกาออกสู่ทะเลจีนตะวันออก 


  การที่จีนเติบโตแรง บริโภคน้ำมันอันดับสองของโลก หรือ 20% ของน้ำมันโลก นำเข้ากว่า 51% ของน้ำมันโลก และวัตถุดิบนานาประการที่นำเข้าไปจีน หากตรงนี้ไม่สงบ จีนลำบาก จีนจะเติบโตไม่ได้ เพราะภายในประเทศมีปัญหาแน่นอน เนื่องจากจีนมีคนจนจำนวนมาก


  ดร.สมคิดมองว่า การทะยานของจีน การมีอำนาจของจีน ทำให้ญี่ปุ่นค่อนข้างอึดอัดพอสมควร ญี่ปุ่นเคยโดมิเนตเอเชีย และญี่ปุ่นกับจีนมีภูมิหลังกันเยอะ พยายามถ่วงดุลดึงอินเดีย ดึงอเมริกา ออสเตรเลียเข้ามา เพื่อถ่วงดุลกับจีน ขณะเดียวกันญี่ปุ่นต้องการค้ากับจีน และต้องการถ่วงดุลอำนาจจีนด้วย


ไม่เพียงญี่ปุน ทางอเมริกาต้องการถ่วงดุล แต่เมื่อจีนมาแรงก็เริ่มหันกลับมา เงินลงทุนอเมริกาที่ลงในอาเซียนมากกว่าลงทุนในจีน 3 เท่า ที่อเมริกาเข้ามาเพราะเกิดจากการผลักดันของนักธุรกิจ นักวิชาการ ที่มองว่าหากอเมริกาไม่เข้ามาในภูมิภาคนี้ ดุลอำนาจจะเปลี่ยนแปลง มีการแต่งตั้งทูตประจำอาเซียน มีการประชุมทูตร่วมกัน มีการประชุมในกลุ่มกระทรวงกลาโหม และที่สำคัญที่สุดเริ่มอุ้มอินโดนีเซีย เวียดนาม เกาหลีใต้ เพื่อเป็นตัวถ่วงดุลกับอำนาจจีนที่กำลังเข้ามา ใช้คำว่า "ไชน่าแฟ็กเตอร์" เป็นตัวปิดล้อม


    "ยังไม่พอ...ดึงอินเดียเข้ามา ซึ่งอินเดียมีความเจริญมาก อยากมีบทบาทในเวทีต่างประเทศ เข้ามาในอาเซียนบวก 6 ซึ่งเราต้องศึกษาให้เข้าใจและศึกษาและใช้ประโยชน์จากมัน ดูอย่างอินโดนีเซียเข้าใกล้อเมริกามากไม่ได้ มุสลิมมีปัญหาได้ แต่เขาเล่มเกมเป็น มีสัญญาร่วมกันทางด้านเศรษฐกิจ ดูแลความมั่นคง ผู้ก่อการร้าย งบฯการพัฒนาวิจัย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อเมริกาส่งให้เต็มที่ แถมประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกากำลังมาเยือนอินโดนีเซีย"


  ขณะที่เวียดนามเคยรบกับสหรัฐอเมริกา วันนี้มองไปที่จีน ใช้ปัจจัยจีนให้เป็นประโยชน์ แต่รับไมตรีอเมริกา กระชับสัมพันธ์อินเดีย ซึ่งเป็นสหายเก่ารัสเซีย ทุกหมากที่เขาเดินเป็นการปกป้องเวียดนาม ใช้เวทีแชร์แมนของอาเซียน ในฐานะประธานอาเซียนเป็นกำลังเสริมเวียดนาม วันนี้เวียดนามได้รับเต็ม ๆ


    ประเด็นอยู่ที่ "เมืองไทย" เราต้องใช้เวลาให้มากกว่านี้ในการดำเนินโยบายต่างประเทศ ไม่ใช่ใช้เวลาในการทะเลาะ คุณต้องคิดให้ได้ว่า คุณกำลังจะเล่นไพ่อะไรในระหว่างไพ่ 3 ใบ "อเมริกา ญี่ปุ่น จีน" ประเทศนั้นจะมีความหมายในสายตาเขา ไม่ใช่แค่มิตรสนิทที่อยู่ใกล้ ๆ...ไม่ใช่ อยู่ที่ว่าคุณจะทำให้เขาเห็นความสำคัญในสายตาเขาได้อย่างไร

 
  จีนต้องการเมืองไทยมาก เพราะเขาต้องการลงมาอาเซียน ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ต่างมีภูมิหลังกันมาก่อน ฉะนั้นนี่คือเหตุผลที่จีนวางโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐาน ถนนทุกสายกำลังเชื่อมโยงจีนไปสิงคโปร์ผ่านประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเส้นทาง R3A, R3B จากคุนหมิงมาไทย หรือ R8-R9-R12 จากพม่าออกดานังผ่านไทย โครงข่ายรถไฟ โครงข่ายการค้าทางน้ำ ซึ่งทางการจีนเรียกว่า "เส้นไข่มุก" จีนวาดภาพว่า การค้าขนส่งจากทะเลอันดามันเข้าสู่พม่า ทะลุเข้าไทยได้กี่สายที่ไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา นี่คือสิ่งที่จีนต้องการ


  นโยบายของจีนที่บอกว่า ถึงเวลาที่คนจีนต้องก้าวเดินออกไป นักธุรกิจก้าวเดินออกไป เป้า หมายคือ ประเทศไทย จีนอยากเป็นมิตรกับไทย โอกาสนี้อย่าให้เสียไป เขาประกาศให้มีกองทุนพัฒนาร่วมกัน 10 พันล้านดอลลาร์ กองทุนเงินกู้เพื่อพัฒนาร่วมกันอีก 15 พันล้านดอลลาร์ 


  ไทยมีความสัมพันธ์ล้ำลึก ทั้งสายเลือด ประวัติศาสตร์ หากไม่ใช้ให้เกิดประโยชน์ไม่รู้จะว่าอย่างไร !!!


  ขณะที่สหรัฐอเมริกากับเราเริ่มห่างออกไป อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์นั้น ไทยต้องหาประเด็น ต้องเปิดเกมเชิงรุก ญี่ปุ่นมีผลประโยชน์มหาศาลอยู่ในไทย ไม่ทิ้งเราแน่ แต่จะทำอย่างไรให้เขาสนใจเรา ถ้าสังเกตจีนสนใจจีเอ็มเอส ลุ่มน้ำโขง 4-5 ประเทศ อเมริกาก็สนใจแต่ตัดจีนออกไป


  ขณะเดียวกันไทยเราเชื่อมกับญี่ปุ่นที่จะพัฒนาจีเอ็มเอส ฉะนั้นน่าจะใช้ประเด็นนี้เดินเครื่องทางการเมือง ใช้ประเด็นนี้ Raise Profile ของเราในตลาดโลกให้สูงขึ้น ในแง่การต่างประเทศต้องรู้จักใช้ประเด็นเหล่านั้นในการเล่นเกมระดับโลก อินโดนีเซียเล่นเป็น เขมรเล่นเป็น ไทยเคยเล่นเป็น แต่วันนี้ไทยเรานิยมมาเล่นกีฬาสีมากกว่านโยบายต่างประเทศ


  ส่วนนัยทางเศรษฐกิจ ดร.สมคิดกล่าวว่า มีตัวเลขง่าย ๆ ให้ดูว่าอะไรจะเกิดขึ้น ปี 2009 ส่งออกจากไทย 60.8% อยู่ในเอเชีย สหรัฐอเมริกา 10.9% อียู 10.5% นั่นคือ เอเชียคือตลาดใหญ่มากของไทยในอนาคต


 จากการขอส่งเสริมการลงทุนปีที่ผ่านมาจำนวน 3.5 แสนล้านบาท ประมาณ 50% เป็นการลงทุนจากกลุ่มประเทศในเอเชีย ทางโกลด์แมน แซกส์ บอกว่า ใน 10-20 ปีข้างหน้าชนชั้นกลางจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2 พันล้านคน ในจีน อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ซึ่ง 4 ประเทศนี้คนจนมาก แต่อีก 10 ปีจะขึ้นมาเป็นชนชั้นกลาง อำนาจซื้อมากขึ้นจะอยู่ที่เอเชีย นั่นหมายถึงเขาต้องการอาหารที่ดี ต้องการสิ่งอำนวยความสะดวก ต้องการบ้าน รถยนต์  สิ่งบริการทั้งหลาย ฯลฯ  สิ่งเหล่านี้ไทยมีพร้อมที่จะสนอง


    แต่สิ่งสำคัญคืออะไร..สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มา ฟรี ๆ เราต้องมีการสร้าง สร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งสำคัญมาก ถ้าหากนอร์ทเวสต์กับนอร์ทเซาท์คอร์ริดอร์ตัดกัน แถบนี้ทั้งแถบที่จะมีการพัฒนามหาศาล  เพราะฉะนั้น..."ทำซะ"


  ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาคน เทคโนโลยี..สำคัญมาก หากคนเราไม่มีความรู้ ไม่มีเทคโนโลยี ไม่มีนักวิทยาศาสตร์ ไม่มีวิศวกร ไม่มีนักวิจัย มีแต่เอ็มบีเอ จะเอาอะไรไปแข่งกับเขา คุณธนินท์ (เจียรวนนท์) บอกว่า สินค้าเกษตรมีแนวโน้มจะแพงขึ้น ผมว่า อีกหน่อยจะแพงกว่านี้อีก เพราะ 1.การเติบโตของจีนมหาศาลมาก การบริโภคน้ำมันระดับนี้จะทำให้การผลิตเอทานอลมากมาย 2.บวกกับภาวะโลกร้อน 2 ปัจจัยนี้รับรองเลยว่าต้องแพงขึ้น 


  แต่ผลผลิตเราต่ำมาก อย่างข้าวเป็นที่โหล่ 400 กว่า ก.ก./ไร่ เวียดนาม 800 กว่า ก.ก./ไร่ เหตุเพราะเขาลงทุนในชลประทาน แต่ของเรากลับข้างกัน 70% พึ่งพาเทวดา 30% พึ่งพาชลประทาน คนอื่นเขาลงทุนงานวิจัยเพื่อให้มีมูลค่าสูงขึ้น แต่ไทยเราไม่สนใจการพัฒนา ผลคืออีสานไม่สามารถสร้างผลผลิตที่มีพรีเมี่ยม แทนที่เราจะได้ประโยชน์เรากลับเสียโอกาส


  "ผมบอกว่า โอกาสไม่ได้มาฟรี ๆ เราต้องสร้างขึ้นมา ตัวอย่างการเคลื่อนย้ายการผลิตรองเท้าไนกี้ไปเวียดนาม การเคลื่อนย้ายฐานอิเล็กทรอนิกส์จากไทยไปมาเลเซีย ผมกำลังบอกว่า การทะยานของเอเชียมันจะมีการไปและกลับ หากคุณทำไม่ดี มีแต่จะไป..."


  นอกจากนี้ต้องดูตัวอย่างบริษัทเอกชน เช่น บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) เกมของเขาคือ มีฐานผลิตในอินโดนีเซีย เวียดนาม นอกเหนือจากไทย เกมของเขาไปเทกโอเวอร์บริษัทในอเมริกา เพื่อใช้แบรนด์และผลิตสินค้าเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดโลก เขาเปลี่ยนกลยุทธ์เป็นสมัยใหม่ในการค้าการขาย  บริษัทใหญ่ ๆ ต้องเปลี่ยนแปลงมุมมอง ความคิด เพื่อก้าวไปสู่การค้าในเอเชีย


 ส่วนบริษัทเล็ก ตอนนี้ค่าเงินแข็ง เอสเอ็มอีร้องว่า จะย่ำแย่ ซึ่งเอสเอ็มอีน่าเป็นห่วงมากเพราะอ่อนแอ กลุ่มพวกนี้ต้องสร้างเขาขึ้นมา แต่ต้องคนละมาตรฐานกับบริษัทใหญ่ ทางการต้องทำหน้าที่สร้างเขา ขณะนี้แบงก์ไม่กล้าปล่อยกู้เอสเอ็มอี  ฉะนั้นรัฐต้องมองจุดนี้ ในแง่มาตรการการเงินการคลังซึ่งมีสองด้าน      1.สร้างการเติบโต เสถียรภาพ 2.อีกด้านการสร้างประเทศ ถ้าทำอย่างญี่ปุ่นเขาเริ่มสร้างเอสเอ็มอีเริ่มตั้งแต่เล็กจนเป็นยักษ์ เมืองไทยมีครบตั้งแต่ สสว. เอสเอ็มอีแบงก์มีเต็มไปหมด แต่เมืองไทยทำตัวเป็นม้าลำปาง ต่างคนต่างวิ่ง แทนที่เชื่อมโยง มีคนกุมโชคชะตา ชี้นิ้วว่าจะไปทางไหน สิ่งนี้ต้องแก้ไข


    ในแง่การพัฒนาอุตสาหกรรมเราบิดเบี้ยว เราไม่ลงทุนเลย 5-6 ปีมาแล้ว เรามีทุนสำรองระหว่างประเทศแค่ 60,000 ล้านเหรียญดอลลาร์ ตอนนี้ 150,000 ล้านดอลลาร์  แต่คนไม่ลงทุน ตรงนี้ต้องแก้ให้ได้ ต้องส่งเสริมเขาไปลงทุนแทนที่จะลงทุนซื้อหุ้น ต้องลงทุนในการค้าการขาย สร้างเน็ตเวิร์กกิ้งอย่างน้อยที่สุดในอาเซียน นับวันเงินยิ่งเข้ามาในอาเซียน ต้องคิดทั้งระบบ ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เงินมีปัญหา 


 เมื่อเอเชียทะยานขึ้น ผมเชื่อว่าความแตกต่างในการพัฒนาประเทศในเอเชียจะถ่างมากขึ้น ประเทศที่ฉลาด ว่องไว จะทะยานขี่คลื่นนี้ไปได้ มันจะมีผู้ได้และผู้เสีย ถ้าคุณไม่เดินหน้าจริง ๆ การบริหารต้องจริง ๆ จัง ๆ ไม่ใช่บริหารแบบไม่บริหาร
  วันนี้ไม่ว่าจะวัดในเรื่องอะไร อันดับของไทยตกหมด อาทิ ขีดความสามารถในการแข่งขัน ล่าสุดไทยหล่นจาก 36 มาอยู่ที่ 38 อินโดนีเซียกระโดดจาก 54 มาที่ 44 เวียดนามจาก 75 มา 59 คุณภาพการศึกษาเวียดนามอันดับ 61 ไทย 66 เรื่องความสามารถกำลังในการผลิตนวัตกรรมใหม่ ๆเวียดนาม 32 อินโดนีเซีย 30 มาเลเซีย 25 ไทย 56 เรื่องจริยธรรมไทยมาที่โหล่ 71 เวียดนาม 61 สิงคโปร์ 1 มาเลเซีย 44 อินโดนีเซีย 65 ความเชื่อมั่นของพับลิกต่อนักการเมือง สิงคโปร์ 1 มาเลเซีย 35 อินโดนีเซีย 51 เวียดนาม 32 ไทย 83


  ดังนั้นเมื่อเอเชียทะยาน ประเทศที่จะได้ประโยชน์ 1.คุณต้องมี Respect จากต่างประเทศ นานาชาติต้องให้เกียรติคุณ ประเทศที่ไม่มีเอกภาพ ไม่มีใครเขาแคร์ ฉะนั้นหยุดเล่นกีฬาสี 2. "การสร้าง" จำเป็นมาก ไม่มีอะไรได้มาฟรี ฉะนั้นต้องสร้างเดี๋ยวนี้ ถ้าไม่ทำวันนี้เราไม่ใช่ "Winner" เราจะเป็น "Loser" เป็นคนที่ถูกละทิ้งในอนาคต


  "ผมคิดว่าเราต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้" !!!

Tags : เปิดโรดแมป ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ Winner Loser

view