สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ฟันผุ ถึงตาย!

จาก โพสต์ทูเดย์

พัฒนาการของลูกน้อยตัวกระจิดริดมักสร้างความมหัศจรรย์ให้กับพ่อ แม่อยู่เสมอ โดยตามธรรมชาติแล้วเด็กวัย 6 – 8 เดือน จะมีฟันน้ำนมซี่แรกงอกขึ้นมาในช่องปาก นั่นคือจุดเริ่มต้นของปัญหาใหญ่ที่ผู้ปกครองหลายคนมองข้าม

ข้อมูลจากกองทันตสาธารณสุขปี 2550 พบว่าเด็กอายุ 9 เดือน เริ่มมีฟันผุแล้ว และอัตราการเกิดฟันผุในเด็กที่อายุมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นตัวเลขที่น่าตระหนกยิ่ง
สถิติระบุว่า 61.4% ของเด็กอายุ 3 ขวบ มีฟันผุเฉลี่ย 3.2 ซี่ ในขณะที่ 80.6% ของเด็กอายุ 5 ขวบ มีฟันผุถึง 5.4 ซี่ ส่วนในเด็กเล็กวัย 9 เดือน 12 เดือน และ 18 เดือน พบฟันผุ 2% 23% และ 68% ตามลำดับ

แต่ผู้ปกครองน้อยรายที่จะรู้ว่าปัญหาฟันผุที่เกิดกับคุณลูกนั้น ส่งผลต่อพัฒนาการในช่องปาก พัฒนาการด้านการเจริญเติบโต และหากมีอาการรุนแรงมากอาจถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้

ทพญ.ชุติมา ไตรรัตน์วรกุล ภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า ฟันน้ำนมมีความสำคัญมาก เพราะมีหน้าที่รักษาพื้นที่ในขากรรไกรให้ฟันถาวรงอกได้อย่างถูกต่ำแหน่ง โดยในเด็กที่ฟันน้ำนมผุตั้งแต่ยังเล็ก ส่วนใหญ่จะมีฟันแท้ขึ้นเกหรือผิดรูปผิดทรง

นอกจากนี้มีข้อมูลวิชาการอธิบายไว้อีกว่า หากเด็กที่ฟันฝุตั้งแต่ปฐมวัยจะกระทบต่อภาวะการเจริญเติบโต ทั้งน้ำหนักตัว ส่วนสูง และศีรษะเล็กกว่าปกติ

“เด็กที่ปวดฟันจะทำให้นอนหลับไม่สนิทและรับประทานอาหารไม่ได้ ทั้งๆ ที่การเจริญเติบโตของเด็กจะอยู่ในช่วงการหลับสนิท และรับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน”ทันตแพทย์ระบุ

สำหรับสาเหตุการเกิดฝันผุ ทพญ.ชุติมา บอกว่า ในเด็กแรกเกิดเนื้อฟันยังมีแร่ธาตุไม่สมบูรณ์จึงเกิดได้ง่าย แต่ในเด็กที่โตขึ้นส่วนใหญ่เกิดเพราะดูดนมแม่และนมขวดเป็นเวลานานๆ ติดๆ กัน ทำให้ช่องปากมีแบคทีเรีย ที่สำคัญคือผู้ปกครองไม่ทราบข้อมูลนี้ จึงไม่มีการป้องกัน โดยเฉพาะการแปรงฟันในเด็กเล็กที่ควรเริ่มทำตั้งแต่มีฟันซี่แรกขึ้น

ส่วนวิธีการสังเกตว่าฝันลูกน้อยผุหรือไม่นั้น ให้ดูที่คราบเหนียวๆ สีเหลืองบริเวณคอฟัน และข้างใต้จะมีรอยขาวขุ่น ขั้นนี้ยังรักษาได้ด้วยยาสีฟันที่มีฟูออไรด์ แต่หากปล่อยให้ลุกลามฝันจะเป็นรู ดังนั้นเมื่อแปรงฟันแล้วจะต้องลองสัมผัสดูว่ายังมีคราบเหนียวๆ หรือหยาบๆ หรือไม่

ทพญ.กุลยา รัตนปรีดากุล อดีตประธานชมรมทันตกรรมสำหรับเด็กแห่งประเทศไทย ฉายภาพสถานการณ์ขาดแคลนทันตแพทย์เด็กว่า ทั่วประเทศมีหมอฟันสำหรับเด็กเพียง 400 คน หากเทียบอัตราส่วนแล้วจะพบว่าหมอเด็ก 1 คน ต่อเด็กเล็ก 1.2 หมื่นคน ทั้งนี้การรักษาฟันในเด็กเล็กต้องมีแพทย์เฉพาะ ที่สำคัญการดมยาสลบซึ่งถือเป็นขั้นตอนสำคัญหากเด็กมีการต่อต้านการรักษา จำเป็นต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยชาญ ซึ่งประเทศไทยมีแพทย์ส่วนนี้น้อยกว่า 10% ของแพทย์ทั้งหมด

“ดมยาสลบเพื่อรักษาฟันก็มีความเสี่ยงเท่ากับการดมยาทั่วๆ ไป แต่ก็จะทำให้แพทย์รักษาได้ง่าย ในขณะที่เด็กซึ่งไม่ดมยาสลบก็จะต่อต้านการรักษา ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อความผิดพลาดสูง”ทพญ.กุลยากล่าว

อดีตประธานชมรมทันตกรรมสำหรับเด็ก เปิดเผยข้อมูลอีกว่า สถิติที่เก็บเมื่อปี 52 – 53 จากโรงพยาบาลจุฬาฯ โรงพยาบาลมหิดล และโรงพยาบาลเอกชน 1 แห่ง พบว่ามีเด็กที่รักษาฟันด้วยการดมยาสลบกว่าปีละ 100 คน ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 1.2 – 5 หมื่นบาท โดยเฉพาะในเด็กที่ต่อต้านรุนแรง เป็นโรคหัวใจ พิการซ้ำซ้อน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้วิธีดมยาเพื่อความปลอดภัย

“เราจะส่งเด็กตรวจสุขภาพอย่างละเอียดก่อนดมยา ผลกระทบมีเพียงเล็กน้อย ไม่ร้ายแรง เช่นอาจจะคลื่นไส้ อาเจียน หรือเกิดภาวะขาดน้ำ”ทพญ.กุลยายืนยัน

ทันตแพทย์หญิงรายนี้ เตือนว่า หากลูกเกิดฟันผุแต่พ่อแม่ไม่สนใจ พออาการหนักขึ้นก็จะบวม ซึ่งหากยังไม่นำมาพบแพทย์ก็อาจทำให้เชื้อลามจากฟันสู่เข้าสู่เนื้อเยื่อ เมื่อบวมมากขึ้นเชื้อนั้นก็จะเข้าสู่สมองกระทั่งเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ใน ที่สุด

“โอกาสติดเชื้อในสมองจากฟันผุไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะในเด็กเท่านั้น ผู้ใหญ่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ก็ไม่มากนัก ที่สำคัญคือต้องจับสัญญาณจากอาการบวม”เธอกล่าวโดยสรุป

 สำหรับวิธีการแปรงฟันในเด็กที่ถูกต้อง ทพ.จรินทร์ ปภังกรกิจ ผู้จัดการแผนงานโรงเรียนทันตแพทย์สร้างสุข สสส. อธิบายว่า ในเด็กเล็กต่ำกว่า 2 ปี ใช้ยาสีฟันแตะปลายขนแปรงเป็นจุดเล็กๆ 1 จุด เด็กอายุ 2 – 5 ปี ใช้ยาสีฟันขนาดเม็ดถั่วเขียว เด็กอายุ 6 ปี ขึ้นไป ใช้ขนาดเต็มหน้าตัดแปรง

จากนั้นให้ขยับแปรงไปมาสั้นๆ ในแนวนอน แปรงด้านใกล้ริมฝีปากและด้านใกล้ลิ้นบริเวณละ 4-5 ครั้ง โดยใช้นิ้วมือช่วยแหวกริมฝีปากและกระพุ้งแก้มเพื่อช่วยให้แปรงสะดวกขึ้น แล้วเช็ดฟองออกด้วยผ้าชุบน้ำหลังแปรงเสร็จ

Tags : ฟันผุ ถึงตาย!

view