สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มองคอร์รัปชันไทย

มองคอร์รัปชันไทย (1)

คนไทยอดทนที่สุดในโลก

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย..พลเดช ปิ่นประทีป

พลเดช ปิ่นประทีป

เพื่อต้อนรับการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมนานาชาติว่าด้วยการต่อต้านทุจริตครั้งที่ 14 (IACC)  ซึ่งประเทศไทยโดยสำนักงาน ป.ป.ช.เป็นเจ้าภาพ ผมขอร่วมฝากข้อเขียนชุด “มุมมองคอร์รัปชันไทย” จากข่ายงานประชาสังคม ให้ทุกฝ่ายได้ร่วมพิจารณา 3 ประเด็น ดังจะได้นำเสนอไปตามลำดับ คือ

(1) คนไทยอดทนที่สุดในโลก (2) อนาคตคอร์รัปชันไทย (3) ข้อเสนอฝ่าวงล้อม

จำได้ว่าเมื่อสิบปีก่อนที่องค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติเริ่มจัดทำและ ประกาศคะแนนภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index: CPI) เปรียบเทียบ และจัดอันดับของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยคะแนนต่ำและอยู่ในตำแหน่งที่แย่มากนั้น มีปฏิกิริยาไม่ยอมรับ ตอบโต้ และตั้งข้อสงสัยกันพอสมควรว่า ทำด้วยวิธีไหน เชื่อถือได้หรือเปล่า?

แต่องค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) เขาไม่เสียเวลามาตอบข้อสงสัยของใครหรือประเทศใดหากยังคงเดินหน้าจัดทำและ ประกาศผลด้วยความหนักแน่น มั่นคง และตรงเวลาทุกปีเรื่อยมา จนบัดนี้เป็นที่ยอมรับและนำมาใช้อ้างอิงกันทั่วไปแล้ว

คะแนนภาพลักษณ์คอร์รัปชันของประเทศไทยตลอด 15 ปี ที่ผ่านมาอยู่ในระดับไม่เกิน 3 จาก 10 จนดูคล้ายกับจะเป็นคะแนนที่ถาวรไปแล้ว  กล่าวคือ 2.8 (2538), 3.0 (2540), 3.2 (2542), 3.2 (2544), 3.3 (2546), 3.8 (2548), 3.3 (2550), 3.4 (2552) และ 3.5 (2553)

อย่างไรก็ตาม แม้ดัชนีภาพลักษณ์ดังกล่าวยังเป็นเพียงเครื่องสะท้อนความรู้สึก-รับรู้ของ องค์กรต่างประเทศที่มองเรา ส่วนความจริงเป็นอย่างไร ปัญหาสาเหตุอยู่ที่ไหนนั้นต้องใช้เครื่องมืออื่นช่วยหาข้อมูลประกอบ

เมื่อปี 2549 สถาบัน Asia Intelligence ได้วัดความรุนแรงของปัญหาคอร์รัปชันในภาครัฐบาลและภาคเอกชน กับความจริงจังในการแก้ปัญหาของรัฐบาลและประชาชนในทวีเอเชียบางประเทศ ซึ่งพบว่าประเทศไทยอยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง :

·       ความรุนแรงของปัญหาคอร์รัปชันภาครัฐ, 8.27 (รุนแรงมากถึงมากที่สุด)

·       ความจริงจังของรัฐบาลในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน 8.00 (น้อยถึงน้อยที่สุด)

·       ความอดทนของประชาชนต่อปัญหาคอร์รัปชัน 8.00 (ทนมากถึงมากที่สุด)


 ประเทศ     ความรุนแรงของปัญหาคอร์รัปชัน  /ความจริงจังของรัฐบาลในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน  / ความอดทนของประชาชนต่อปัญหาคอร์รัปชัน

                 ภาครัฐบาล / ภาคเอกชน
 
1จีน            7.31               7.39                    4.88                                                        7.50
 
2. ฮ่องกง     2.11               2.67                    1.04                                                       2.35
 
3. อินเดีย     6.95               6.33                     7.00                                                      7.25
 
4. อินโดนีเซีย8.67               7.36                    8.37                                                      9.00
 
5. ญี่ปุ่น        3.25               2.87                    3.11                                                      2.00
 
6. มาเก๊า       5.07               5.07                    4.64                                                     6.07
 
7. มาเลเซีย   6.41               5.54                     6.39                                                    5.91

8. ฟิลิปปินส์   7.71               7.12                    8.18                                                    8.20

9. สิงคโปร์    1.42                 1.39                   0.57                                                    0.71
 
10. เกาหลีใต้  5.48                5.34                    4.56                                                   5.13
 
11. ไต้หวัน    6.10                 6.01                    5.36                                                   6.30
 
12. ไทย       8.27                5.25                      8.00                                                 8.00
 
13. เวียดนาม   8.01               7.66                      8.57                                                 8.14

 ลำดับความรุนแรงของปัญหาเริ่มต้นจาก 0 ถึง 10 กล่าวคือ ไม่มีปัญหาคือ 0
ที่มา : ข้อมูลเบื้องต้นจาก Asian Intelligence. “Corruption in Asia : Regional Overviews” (March 1,2006)

 
เมื่อประกอบกับงานวิจัยทางสังคมศาสตร์ของชาวต่างชาติชิ้นหนึ่งเมื่อ หลายสิบปีก่อนซึ่งเคยชี้ว่าโดยทั่วไปสังคมไทยมีโครงสร้างทางสังคมแบบหลวม เมื่อเปรียบเทียบกับสังคมญี่ปุ่น จีน เกาหลี ที่กระชับแน่นมากกว่า ทำให้คนไทยมีความผูกพันกับชุมชนและประเทศชาติน้อย และไม่ค่อยหวงแหนสมบัติสาธารณะส่วนรวม

ค่านิยมของคนไทยในเรื่องบุญคุณนิยม พวกพ้องนิยม อำนาจนิยม และสุขนิยมมีผลกระทบทางลบที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน

ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ต้องทำมาหากินและเผชิญกับปัญหาปากท้อง มักจะเบื่อหน่ายและวางเฉยต่อพฤติกรรมการใช้อำนาจหน้าที่ไม่ถูกต้องของข้า ราชการ – นักการเมือง ละเลยและชินชาต่อคอร์รัปชันทั้งรายย่อยและการทุจริตทั่วไป

เมื่อเราพูดถึงสำนึกของคนไทยที่อดทนและยอมจำนนต่อคอร์รัปชันนั้น ย่อมหมายถึงคนไทยทุกคนทุกระดับทุกตำแหน่งหน้าที่ ก็คนไทยทั้งนั้นแหละครับที่เป็นข้าราชการ เป็นนักการเมือง เป็นนักธุรกิจ  เป็นชาวบ้านร้านถิ่น เป็นตุลาการ ฯลฯ รวมถึงผู้ที่ขับเคลื่อนองค์กรปราบคอร์รัปชันด้วย

ผมนึกถึงบทเรียนของฮ่องกงเมื่อ 50 ปีก่อน เขามีคอร์รัปชันที่รุนแรงมากกว่าเราอีกและมากเสียจนคนฮ่องกงต้องลุกขึ้นมา ปฏิวัติการแก้ปัญหา จนเกิดเป็นต้นแบบของหน่วยงาน ป.ป.ช. ให้เราได้เอาอย่าง

การเปลี่ยนแปลงของฮ่องกงเกิดขึ้นเมื่อความอดทนถึงขีดสุด

คนไทยไม่ได้เก่งน้อยกว่าคนฮ่องกง แต่คนไทยทนทานกว่าและยังไม่มีทีท่าว่าจะถึงขีดเดือดตามธรรมชาติ

การเปลี่ยนมุมมองและหาจุดคานงัดใหม่ๆ  เป็นสิ่งจำเป็นครับ.


มองคอร์รัปชันไทย (2)

จาก โพสต์ทูเดย์

อนาคตคอร์รัปชันไทย

โดย..พลเดช ปิ่นประทีป

 

พลเดช ปิ่นประทีป

เป็นที่น่าชื่นชมในความพยายามของ ป.ป.ช.ที่จะแก้ภาพลักษณ์และเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศ การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการต่อต้านทุจริต ครั้งที่ 14 (IACC) และการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต 2551-2555 ให้เป็นแม่บทการขับเคลื่อนของทุกภาคส่วนคือรูปธรรมส่วนหนึ่ง แต่ยังไม่เพียงพอ

สังคมไทยมักมีข้อจำกัดในขั้นตอนดำเนินการและบริหารจัดการอยู่เสมอ เรามีรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ดีมากมายแต่จอดที่การบังคับใช้ เรามีแผนพัฒนปาระเทศที่สวยหรูให้สามารถค้นคว้าอ้างอิงเยอะแต่ทำไม่ได้ตาม นั้นและก่อผลกระทบข้างคียงเต็มไปหมด แผนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตก็อยู่ในภาวะแบบ เดียวกัน

ระหว่างปี 2546-2550 ป.ป.ช.มีภาระคดีเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งของเก่าและของใหม่รวมกัน เฉลี่ย 10,270 คดี/ปี การบริหารจัดการคดีต่างๆ เป็นไปอย่างไม่ทันสถานการณ์ ยอดคดีที่เหลือค้างและสะสมปีต่อไปเพิ่มขึ้นตลอดเวลา จากปี 2546 มี 4,975 คดี ถึงปี 2550 เป็น 11,578 คดี สภาวะคดีเข้ามากกว่าออกเช่นนี้มองไม่เห็นอนาคตเลยว่าจะจบลงตรงไหน

ต่อมาปี 2550 มีการตั้งหน่วยงาน ป.ป.ท. (สำนักงานงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ) ขึ้นเพื่อแบ่งเบาภาระดังกล่าวไปครึ่งค่อน แต่สถานการณ์ก็ยังคงวนกลับมาแบบเดิมอีก และก็เป็นเหมือนกันทั้ง ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. เพราะกรอบแนวคิดและประสิทธิภาพการบริหารจัดการยังคงแบบเดิมทุกประการ

นักวิชาการและกลุ่มกดดันทางสังคมส่วนหนึ่งมองไม่เห็นประเด็นนี้ จึงพากันเรียกร้องการแก้กฎหมายเพื่อเพิ่มโทษให้หนักขึ้นจะได้เกรงกลัวและ หลาบจำ แต่เปล่าครับคนโกงยิ่งเกิดขึ้นยั้วเยี้ยไปหมดเพราะกว่าจะตัดสินคดีได้ บางคนตาย บางคนหนี บางคนใช้เงินหมดไปแล้ว

 การมุ่งตัดสินคดีให้ หนักหน่วง แต่เชื่องช้าและเงียบเชียบ นั้น พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล ผมคิดว่าการลงโทษที่ รวดเร็ว และ สังคมฮือฮา น่าจะได้ผลชะงัดกว่า เพราะแม้มาตรการทางกฎหมายจะลงโทษไม่แรงแต่มาตรการทางสังคมจะสานต่อได้ถนัด ขึ้น เด็กๆ จะได้เห็นตัวอย่างของจริง ไม่ใช่สอนคุณธรรม จริยธรรมกันในห้อง ส่วนโลกความจริงที่เด็กเห็นเป็นตรงข้ามหมด

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ปัจจุบันผมมองภาพแนวโน้มอนาคตคอร์รัปชันไทยเป็น 3 แบบ

แบบที่ 1  สังคมทนทานคอร์รัปชันต่อไปเหมือน “สีทนได้”

ใครที่เคยชมภาพยนตร์โฆษณาสีทาบ้านยี่ห้อหนึ่งที่คุยว่าของเขาเป็นสีที่ทน ทานที่สุดต่อทุกสภาพการขีดข่วน ดูแนวโน้มทัศนคติ-ค่านิยมคนไทยในภาพรวมแล้วเป็นไปได้มากว่าภายใน 10-20 ปีข้างหน้า คนไทยยังน่าจะทนต่อคอร์รัปชันได้อย่างสบายๆ เหมือน “สีทนได้” แบบที่ว่า

นักการเมืองและข้าราชการขี้โกง ถ้าฉลาดหน่อยก็อาจราไฟลงหน่อย เป็นต้นว่าที่เรียกเปอร์เซ็นต์ขึ้นมาถึง 30,40 แล้วก็ผ่อนกันลงบ้าง อย่าให้ถึง 50 อย่าให้กระแสความรู้สึกคนไทยพลุ่งเป็นน้ำเดือดเสียก่อน ลดความมูมมาม-โฉ่งฉ่างลง กระจายวันที่ได้ออกไปบ้าง เท่านี้คนไทยทนได้แน่นอน

แบบที่ 2 หน่วยงานปราบคอร์รัปชันเกิดปฏิวัติตัวเอง มีความเฉียบขาดขึ้นราว “ปาฏิหาริย์”

หมายถึง หน่วยงานปราบคอร์รัปชันที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายทั้งหลาย ทั้งที่เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เช่น ปปช., สตง., กกต., ศาลปกครอง, ศาลรัฐธรรมนูญ, ผู้ตรวจแผ่นดิน และที่เป็นกลไกราชการเช่น ปปท., ดีเอสไอ, ปปง., ปปส.

เกิดได้คนที่ “ของขึ้น” เข้าไปขับเคลื่อนพร้อมหน้าพร้อมตากัน ต่างคนต่างปฏิวัติวิธีคิด วิธีทำงานในหน่วยงานตน รู้จักใช้เครื่องมือและกฎหมายเท่าที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิผลโดยไม่เสียเวลา รอของใหม่จากรัฐสภา มีทักษะการวางแผนและบริหารจัดการแบบใหม่ สะสางคดีทุจริตจนลุล่วงไป โชว์ผลงาน “เชือดคนโกง” ให้เห็นทุกเดือนทุกสัปดาห์จนเป็นที่ฮือฮา จนทำให้เกิดกระแสสำนึกของสังคมเริ่มตีกลับจากหดหู่-ยอมจำนนต่อคอร์รัปชันก็ เริ่มมีกำลังใจและร่วมมือกันมากยิ่งขึ้น

ของพรรค์นี้มิใช่จะเกิดไม่ได้ในเมืองไทย ดูตัวอย่างการวางระเบิดตัวเองที่เมตตาแมนชั่นซิครับ

แบบที่ 3  ผู้ไม่ยอมทนกลุ่มหนึ่งลุกขึ้น “สร้างการเปลี่ยนแปลง”

 ระดับความทนทานและความตื่นตัวของคนไทยไม่ได้เหมือนกันหมด การเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ มักเกิดขึ้นจากคนกลุ่มเล็กๆ ที่มีคุณภาพและศักยภาพสูงก่อตัวขึ้นก่อน ถึงจังหวะหนึ่งสังคมส่วนใหญ่จึงเข้าหนุนจนนำมาสู่ความพลิกผัน

ตัวอย่างการรวมตัวของข้าราชการเกษียณอายุของกระทรวงมหาดไทยที่ลุกขึ้น มาปกป้องศักดิ์ศรีและแบบแผนประเพณีบางอย่างในองค์กรน่าจะเป็นกรณีศึกษาที่ดี

ปัจจุบันผู้ไม่ยอมทนต่อคอร์รัปชันนั้นมีไม่น้อย แต่ขาดการเชื่อมโยงพลังและการจัดการอย่างมียุทธศาสตร์-ยุทธวิธี บางทีเราอาจเห็นการลุกขึ้นมาตีฝ่าวงล้อม เผชิญหน้าคอร์รัปชันของกลุ่มคนเหล่านี้


มองคอร์รัปชันไทย(จบ) ข้อเสนอฝ่าวงล้อม

จาก โพสต์ทูเดย์

บุคลิกผู้นำที่ “ห้าวหาญ” เป็นองค์ประกอบที่ควรเสริมเข้ามาให้มากขึ้น จะมีแต่ “บุ๋น” อย่างเดียวไม่ได้ จะพินอบพิเทารัฐบาลและนักการเมืองไม่ได้

โดย....พลเดช ปิ่นประทีป

บทเรียนในประวัติศาสตร์ที่มีกลุ่มคนไทยจำนวนไม่กี่ร้อยคน ซึ่งนำโดย “พระยาตาก” ไม่ยอมตกอยู่ในวงล้อมของทัพพม่า ไม่รอคอยการตัดสินใจของศูนย์กลางอำนาจ ไม่ทอดอาลัยไปกับชาวกรุงศรีอยุธยาที่นั่งรอวันกรุงแตก พากันตีฝ่าออกไปทางตะวันออก ตระเวนหาชุมชนผู้กล้าเพื่อรวบรวมกำลัง และสามารถกลับมากู้ชาติได้สำเร็จเมื่อ 250 ปีก่อน น่าจะเป็นโมเดลที่ดีสำหรับการเอาชนะปัญหาคอร์รัปชันไทย

ข่ายงานชุมชนเข้มแข็งและประชาสังคม มีข้อเสนอฝ่าวงล้อม (เบื้องต้น)  4 ประการ

1.พันธมิตรยุทธศาสตร์

พันธมิตร หรือภาคีความร่วมมือทั่วไป เป็นปัจจัยองค์ประกอบสำคัญของขบวนการต่อสู้เอาชนะปัญหาที่ใหญ่และยาก ยิ่งมีภาคีความร่วมมือจำนวนมากเท่าไรก็ยิ่งเป็นผลดีต่อการขับเคลื่อน

ส่วน พันธมิตรยุทธศาสตร์ เป็นภาคีความร่วมมือเชิง คุณภาพระหว่างกลุ่ม องค์กรหรือสถาบันไม่กี่หน่วย แต่มีเจตนารมณ์ร่วมกันที่แรงกล้า พร้อมที่จะทุ่มเทสติปัญญาและกำลังทรัพยากรเข้ามาทำงานให้บรรลุเป้าหมาย จับมือคล้องแขนกันฝ่าฟันอุปสรรคปัญหาไปจนถึงที่สุดโดยไม่ทอดทิ้งกัน การบริหารจัดการบทบาทและความสัมพันธ์จึงแตกต่างจากพันธมิตรทั่ว ๆ  ไป

ความเข้าใจความหมายความสำคัญ และการเลือกหาพันธมติรยุทธศาสตร์ที่ถูกคนคือปัจจัยเริ่มต้นของความสำเร็จ ครับ เราเห็นว่าสำหรับงานเอาชนะคอร์รัปชันไทยในขณะนี้ ควรผนึกกำลัง 4 ส่วน ได้แก่  ประชาสังคม-ธุรกิจ-สื่อ-องค์กรอิสระ ผิดจากนี้หรือไม่ครบตามนี้จะสำเร็จได้ยาก บทเรียนความล้มเหลวที่ผ่านมาเป็นเพราะเราไปฝากความหวังไว้กับรัฐบาลและภาค รัฐทั้ง ๆ ที่เขาเป็นเป้าหมายหรืออย่างเก่งก็เป็นเพียงพันธมิตรทั่วไปเท่านั้น

2.จัดขบวนภายใน

เริ่มต้นจากคนผู้พิสูจน์ตนเองในเชิงประจักษ์แล้วว่าไม่ยอมจำนานต่อ คอร์รัปชัน เลือกหากันมาจาก 4 ภาคียุทธศาสตร์ข้างต้น จำนวนน้อย ๆ แต่มีศักยภาพสูง มาร่วมกันสร้างเจตนารมณ์และเป้าหมายร่วมกันจนถึงขั้นตกผลึก ก่อนที่จะขยายวงออกไปด้วยความสุขุมรอบคอบ

เครื่องมือที่จะเอาชนะคอร์รัปชันไทย คือ มาตรการทางกฎหมาย มาตรการทางเศรษฐกิจ และมาตรการทางสังคม ประกอบกัน ไม่ใช่อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช้ความรุนแรง และไม่รอคอยกฎแห่งกรรมอยู่ร่ำไป

ทั้ง 4 ภาคีต้องช่วยกันสร้างสรรค์วิธีการดำเนินมาตรการ ทั้ง 3 แบบ เพื่อบุกเบิกและหนุนเสริมซึ่งกันและกัน ขณะเดียวกันก็ต้องจัดขบวนภายในของตนเองให้แข็งแกร่งตีฝ่าไปในเรื่องที่ตน ถนัด ความสำเร็จของแต่ละด้านจะเกื้อหนุนเพื่อนไปโดยปริยาย ไม่หวงลูกไม่ก้าวก่ายงานกัน ต้องเชื่อมั่นและให้เกียรติกัน ทิ้งข้อบาดหมางขัดแย้งกันในอดีตไปก่อนอย่าให้มาเป็นอุปสรรคต่อภารกิจใหญ่

องค์กรอิสระที่มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญทั้งหลายต้องผนึกกันให้ได้มากที่สุด ครบทุกองค์กรอำนาจหน้าที่ให้รวดเร็วและแม่นยำ เผยแพร่ผลการวิจัยโดยทันที คดีต่อคดี ทำอย่างต่อเนื่องถี่ยิบ

องค์กรสื่อต้องเลือกหาเพื่อนร่วมวิชาชีพที่มีสำนึกรังเกียจคอร์รัปชันอย่างเข้ากระดูกดำสักจำนวนหนึ่ง ขับเคลื่อนสังคมด้วยความรู้และข้อมูลอย่างมีศิลปะ ทั้งในรูปแบบรายงานข่าว รายการข่าว รายการสารประโยชน์ และสาระบันเทิงต่าง ๆ

ส่วนภาคประชาสังคมและภาคธุรกิจ ก็ต้องขยายเครือข่ายผู้มีสำนึกรังเกียจคอร์รัปชันออกไปให้กว้างขวางทั่วประเทศ ทุกจังหวัด ทุกวงการ

3.ระดมทรัพยากรพึ่งตนเอง

ขุนศึกทุกคนของ “พระยาตาก” คงไม่มีใครได้เงินเดือน งานใหญ่ ๆ ของชาติล้วนสำเร็จได้ด้วยจิตอาสาทั้งนั้น ใครพร้อมก็เดินเข้ามา ใครไม่พร้อมก็อยู่อย่างนั้นไปก่อน ไม่มีใครต้องเป็นภาระให้ใคร มีแต่ควรช่วยกันแบ่งเบา

แต่กระนั้นก็ตาม ขบวนใหญ่ยังต้องการเสบียงกรัง และเครื่องไม้เครื่องมือส่วนกลางที่มากพอ ระบบกองทุนสนับสนุนจึงเป็นเรื่องที่ต้องจัดการให้พอเพียง ทั้ง 4 ภาคีต้องช่วยกันหาช่องทางจากจุดที่ตนเชี่ยวชาญและมีศักยภาพ มีแผนระยะสั้นและระยะยาวที่ปฏิบัติได้จริงรองรับภาคประชาสังคม-ธุรกิจ-สื่อ อาจคิดเรื่องระดมทุนจากสังคม องค์กรอิสระอาจมองหากองทุนจากระบบภาษี

4.เครือข่ายการนำ

ในภาวะปัจจุบันคงเป็นไปได้ยากที่จะมีผู้นำเดี่ยวที่เข้มแข็งโดดเด่น ทั้ง 4 ภาคีล้วนมีผู้นำที่มีศักยภาพและความโดดเด่นตามธรรมชาติ การนำรวมหมู่ในเชิงเครือข่ายน่าจะมีความเหมาะสมกว่า

บุคลิกผู้นำที่ “ห้าวหาญ” เป็นองค์ประกอบที่ควรเสริมเข้ามาให้มากขึ้น จะมีแต่ “บุ๋น” อย่างเดียวไม่ได้ จะพินอบพิเทารัฐบาลและนักการเมืองไม่ได้

Independent, Courage, Unconquered คือคุณสมบัติที่พึงประสงค์ครับ

Tags : มองคอร์รัปชันไทย

view