สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สิทธิพิเศษส.ส.-ส.ว.กับ9พฤติกรรมละลายงบรัฐ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

อดีตผอ.สำนักงบประมาณ ออกโรงสวนอำนาจการเมือง เผยพฤติกรรมถลุงภาษีประชาชน เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ไร้ผลงาน โดดประชุม สุมหัวป่วนบ้านเมือง
นายพูลทรัพย์ ปิยะอนันต์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และอดีตผู้ตรวจการแผ่นดิน เขียนบทความชื่อ "หลักการและแนวทางสู่งบประมาณสมดุลใน 5 ปี" แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นการขึ้นเงินเดือน ส.ส. และ ส.ว. รวมถึงการใช้จ่ายงบประมาณอย่างฟุ่มเฟือยของภาครัฐ "กรุงเทพธุรกิจ" สรุปประเด็นสำคัญมานำเสนอ

"...การปรับเงินเดือนภาครัฐจะต้องพิจารณาโดยรอบคอบ เพราะจะมีผลกระทบในวงกว้าง ยกเว้นเงินเดือนข้าราชการซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐได้จ้างมาช่วยผู้บริหารราชการแผ่นดินในเงินเดือนที่ต่ำมาก โดยทั่วไปเป็นอาชีพชักหน้าไม่ถึงหลังอยู่แล้ว ปัญหาเงินเฟ้อจึงไม่มีหรือมีก็น้อยมาก

การปรับเงินเดือน ส.ส. และ ส.ว.จะจูงใจให้สมาชิกสภาท้องถิ่นต่างๆ เรียกร้องขอปรับเพิ่มทั้งแผ่นดิน ทั้งๆ ที่ ส.ส. ส.ว. และสมาชิกสภาท้องถิ่นเป็นการอาสาตัวเข้ามาเพื่อรับใช้รัฐ และมักปรากฏจากข่าวว่ามีการใช้เงินจำนวนมากเพื่อให้ได้รับการเลือกตั้งจน กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ต้องคอยตรวจสอบมิให้มีการใช้เงินหาเสียงเกินเกณฑ์ที่กำหนด

ส.ส. และ ส.ว.นั้นมีช่วงปิดสมัยประชุมหลายเดือนด้วย นอกจากนี้รัฐต้องจ่ายเงินค่าจ้างผู้ช่วย ส.ส. และ ส.ว. 4 คน รวมทั้งที่ปรึกษา 1 คน การขึ้นเครื่องบินฟรีทั่วราชอาณาจักรถึงแม้จะอยู่นอกเขตจังหวัดของตนจึงมีการใช้สิทธินี้ไปเพื่อการส่วนตัวอื่นๆ ที่มิใช่งานในหน้าที่โดยตรง 

ส.ส. และ ส.ว.จะอยู่ในคณะกรรมาธิการต่างๆ ซึ่งแต่ละปีจะได้รับงบเดินทางไปต่างประเทศคณะละ 5.2 ล้านบาท กับได้รับเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อใช้งานส่วนตัว เป็นต้น ซึ่งข้าราชการไม่ได้รับสิทธิเช่นนี้ ทั้งๆ ที่ข้าราชการต้องรับผิดชอบต่องานในตำแหน่งหน้าที่และการทำตามระเบียบต่างๆ อย่างมากมาย โดยเฉพาะข้าราชการระดับหัวหน้าขึ้นไปที่ต้องมีวิสัยทัศน์เพื่อการพัฒนาช่วยเหลือประชาชน

เราได้รับทราบจากสื่อมากมายในปัญหาประสิทธิภาพและความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส. หากจะมีผู้กล่าวว่าข้าราชการหย่อนสมรรถภาพ ซึ่งอาจจะมีอยู่บ้างเพราะเงินเดือนต่ำมากดังกล่าวแล้ว และพฤติกรรมส่วนตัว แต่การแทรกแซงของรัฐมนตรี ส.ส. และนักการเมืองต่างๆ ทำให้ข้าราชการจำนวนมากต้องฝืนปฏิบัติ และเกิดความท้อถอยที่มักเรียกกันว่า “เกียร์ว่าง”

ในที่สุดการขึ้นเงินเดือนดังกล่าวจะเป็นผลให้หน่วยองค์กรมหาชน มหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบ และองค์กรอิสระต่างๆ ปรับเงินเดือนตามไปด้วย ยิ่งหากปรับเป็นร้อยละ เงินเดือนยิ่งสูงขึ้น เพราะฐานเงินเดือนและค่าตอบแทนสูงอยู่แล้ว

ในแง่ของการกระจายการพัฒนา กฎเกณฑ์การกำหนดให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีรายได้มากได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนต่างๆ มาก น่าจะเป็นแนวคิดแบบอมาตยาธิปไตย (Bureaucracy) มากกว่าแบบกระจายการพัฒนา (Distribution) ดังที่ ท่านอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ ได้เคยกล่าวไว้ว่า “คนจนควรให้มาก คนรวยควรให้น้อย”

อบต.ที่มีรายได้น้อยมักเป็นพื้นที่ประชาชนด้อยโอกาสทุกด้านและยากจนกว่าท้องที่อื่นๆ การยกระดับการพัมนาและรายได้ของชาวบ้านจะลำบากกว่าท้องที่อื่น จึงควรจะกำหนดให้ผู้บริหาร อบต. และเทศบาลตำบลต้องมีคุณวุฒิและประสบการณ์สูงกว่าปัจจุบันมาบริหาร และควรได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนที่สูงพอควรในระดับเดียวกัน เพื่อจูงใจให้คนในท้องถิ่นที่มีความรู้สูงและเก่งกลับถิ่นเพื่อมาช่วยเหลือพัฒนาท้องถิ่น เพราะปัจจุบันคนเก่งและมีความรู้สูงของท้องถิ่นมักออกไปทำงานในที่ซึ่งมีรายได้สูงและสะดวกสบายกว่า"

นายพูลทรัพย์ ยังระบุพฤติกรรมใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐที่ควรปรับปรุงขนานใหญ่ ได้แก่


 1.ลดค่าใช้จ่ายการเดินทางไปดูงานต่างประเทศของภาคราชการ องค์การมหาชน องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ จังหวัด องค์กรท้องถิ่นและรัฐสภาจากเดิมให้เหลือน้อยที่สุด เพราะผลลัพธ์จากการดูงานมักไม่ปรากฏแน่ชัด และวัดผลได้ยากมาก รวมแล้วภาครัฐต้องใช้เงินเพื่อการดูงานในแต่ละปีสูง 8,000-9,000 ล้านบาท


 2.ลดการพิมพ์เอกสาร วารสาร และรายงานผลงานต่างๆ ที่พิมพ์กันอย่างมากมาย ซึ่งยากที่จะแน่ใจว่าจะมีผู้อ่านและสนใจจริงเพียงไร โดยควรหันมาใช้สื่อออนไลน์ สื่อวิทยุ และโทรทัศน์ของทางราชการ และสื่อสาธารณะราคาถูกแทน


 3.มีการใช้เงินประชาสัมพันธ์ราคาสูงและเกินจำเป็น รวมทั้งการจัดมหกรรมและนิทรรศการต่างๆ ของทางราชการอย่างมากมาย (Over Events Showcase Syndrome) โดยการจ้างราคาสูงมาก อีกทั้งเป็นปัญหาด้านราคา ผลประโยชน์มิชอบ และความโปร่งใส เนื่องจากไม่มีราคากลาง อีกทั้งขาดการวัดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมเชื่อถือได้


 4.ต้องตัดหรือลดการสร้างตึกใหญ่ๆ การใช้หรือเช่าตึกใหญ่หรือพื้นที่ใช้สอยมาก เพราะนอกจากเป็นภาระค่าก่อสร้างหรือค่าเช่าแล้ว ยังเป็นภาระค่าใช้จ่ายมากมายเกินสมควรต่อไปไม่รู้จบ


 5.หน่วยงานของรัฐมักจ้างบริษัทที่ปรึกษาในด้านต่างๆ อย่างมากมายในราคาแพง ซึ่งหลายๆ กรณีปรากฏปัญหาการไม่สามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ และต้องหาผู้รับผิดชอบ แต่มักไม่เห็นการให้รับผิดชอบ (Accountable) โดยลงโทษจริงจัง


 6.ต้องมุ่งมั่นจริงจังลดค่าสาธารณูปโภคทุกองค์กรให้ประหยัดที่สุด เพราะมีการใช้อย่างฟุ่มเฟือย ไม่คำนึงถึงความประหยัด ทั้งค่าไฟฟ้า ประปา ค่าโทรศัพท์ (ที่ทำงาน บ้าน มือถือ โทรติดต่อต่างประเทศ และโทรกลับ ค่าสื่อสารต่างๆ ฯลฯ) รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ผู้บริหาร ฯลฯ ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการประหยัดเพื่อชาติ ไม่มุ่งแต่ใส่เสื้อนอกในการประชุม สัมมนา หรือโอกาสอื่นๆ นอกจากกรณีที่จำเป็นจริงๆ


 7.ยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ แนวคิด หลักคิด นโยบาย โครงการและกิจกรรมการดำเนินการใดๆ ที่จะเพิ่มหรือคงไว้เท่าในงบประมาณ งบประจำ และงบดำเนินงาน (Overhead) จะต้องเปลี่ยนอย่างรวดเร็วและเข้มข้นไปสู่การลดงบประจำหรืองบดำเนินการให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นที่สุดเท่านั้น โดยจะต้องทำการปฏิรูปหลักคิด ทัศนคติ ค่านิยม และการบริหารงานของรัฐให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลโดยเร็วที่สุด โดยลดภาระงบประมาณของฝ่ายการเมือง และบุคลากรภาครัฐ


 8.จะต้องหาช่องทางลดรายจ่ายประจำอื่นๆ ในทุกๆ ทางด้วย เช่น ค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ เบิกจ่ายตรง OPD ทำให้เกิดการรั่วไหลและรัฐจ่ายเงินค่ายาเกินจำเป็น เนื่องจากข้าราชการสามารถไปหลายโรงพยาบาล โดยเบิกจ่ายค่ายาได้ไม่ต้องระวังจำกัดการใช้บริการการรักษาและการซื้อยา เพราะไม่ต้องออกเงินก่อนและเบิกทีหลัง นอกจากนี้ระบบบริการสาธารณสุขที่ปัจจุบันได้เน้นใช้ระบบค่าใช้จ่าย “รายหัว” ซึ่งเป็นผลให้การป้องกันและส่งเสริมสุขภาพถูกลดความสำคัญ


 9.ยุทธศาสตร์ นโยบาย และกลยุทธ์ที่เสนอโดยมีผลกระทบงบประมาณรายจ่าย จะต้องรอบคอบ โปร่งใส มิใช่เอาแต่คิดและทำโครงการหรือกิจกรรมใหม่ๆ เพื่อแสดงว่ามีความสร้างสรรค์ใหม่ๆ ซึ่งที่จริงแล้วอาจเป็นการหาความสำคัญและผลประโยชน์แก่ตนโดยปราศจากการคิด วิเคราะห์ รวมทั้งแสวงหาความเห็นจากหน่วยงานกลางของรัฐที่มีประสบการณ์โดยรอบด้านอย่างรอบคอบ

Tags : สิทธิพิเศษส.ส.-ส.ว.กับ9พฤติกรรมละลายงบรัฐ

view