สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สปส.ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการชุมนุม

(อ่าน 1034/ ตอบ 0)

108acc (Member)

สปส.ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการชุมนุม



เลขที่ :

วันที่ประกาศ : 10/10/2551





          สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการชุมนุม  วันที่ 7 ตุลาคม 51 ทั้งในกรณีเนื่องจากการทำงาน และไม่เนื่องจากการทำงาน

          นายสิทธิพล รัตนากร รองเลขาธิการรักษาการเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม  กล่าวว่า จากเหตุการณ์การชุมนุม วันที่ 7 ตุลาคม 2551 มีผู้ได้รับบาดเจ็บ โดยหากเป็น ผู้สื่อข่าว ช่างภาพ ซึ่งถือว่าเป็นการบาดเจ็บเนื่องจากการทำงานผู้ประกันตนสามารถเบิกค่ารักษา พยาบาล ของกองทุนเงินทดแทน จำนวน 45,000 บาท หากไม่เพียงพอจ่ายเพิ่มจำนวน 65,000 บาท  และเบิกค่ารักษาพยาบาลสูงสุดไม่เกินจำนวน  300,000 บาท และกรณีที่ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ป่วยในมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าบริการพยาบาล และค่าบริการทั่วไป ให้นายจ้างจ่ายตามจริง  ไม่เกินวันละ 1,300 บาท กรณีที่ไม่สามารถทำงานได้ติดต่อกันเกิน 3 วัน ผู้ประกันตนได้รับค่าทดแทนเป็นรายเดือนร้อยละ 60 ของค่าจ้าง  รายเดือน โดยจ่ายตั้งแต่วันแรกไปตลอดระยะเวลาที่ไม่สามารถทำงานได้ไม่เกิน 1 ปี กรณีสูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของอวัยวะบางส่วน ได้รับค่าทดแทนเป็นรายเดือนร้อยละ 60  ของค่าจ้างรายเดือน ตามประเภทการสูญเสียแต่ไม่เกิน 10 ปี สำหรับลูกจ้างที่ต้องรับการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานภายหลังประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยจะได้รับค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูฯ ด้านการแพทย์และ  ฝึกอาชีพเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 20,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน ไม่เกิน 20,000 บาท สำหรับลูกจ้างที่ประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ขอให้นายจ้างแจ้งการประสบอันตรายตามแบบการแจ้งการประสบอันตราย (กท.16) พร้อมสำเนาหนังสือส่งตัวลูกจ้างเข้ารักษาพยาบาล (กท.44)  ส่งให้สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัดที่สถานประกอบการตั้งอยู่ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ส่วนกรณีการเสียชีวิตเนื่องจากการทำงาน จะได้รับค่าทำศพ จำนวน 100 เท่าของอัตราค่าแรงขั้นต่ำสูงสุด และค่าทดแทน รายเดือนร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือนมีกำหนด 8 ปี

          นายสิทธิพล  กล่าวต่อไปว่า แต่หากเป็นผู้ประกันตนที่ได้รับบาดเจ็บไม่เนื่องจากการทำงาน ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลใดก็ได้ที่อยู่ใกล้ที่สุด หากมีความจำเป็นจะต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร่งด่วนโดยให้ญาติหรือผู้ เกี่ยวข้องรีบแจ้งโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ  ทราบโดยด่วน เพื่อจะได้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล หรือรับตัวผู้ประกันตนไปรักษาตัวต่อไป สำหรับค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นก่อนการแจ้งให้โรงพยาบาลตามบัตรรับรอง สิทธิฯ ทราบ ทางสำนักงานประกันสังคมจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นภายใน 72 ชั่วโมงแรก โดยผู้ประกันตนสามารถ  นำหลักฐานมายื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทน คือ แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2 – 01),สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน,ใบรับรองแพทย์  หนังสือรับรองจากนายจ้าง และสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารหน้าแรก ที่มีชื่อ – เลขที่บัญชีธนาคารใดธนาคารหนึ่ง ดังนี้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กรุงไทย กรุงเทพฯ กสิกรไทย ไทยพาณิชย์  นครหลวงไทย ทหารไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และไทยธนาคาร  ส่วนในกรณีเสียชีวิตไม่เนื่องจากการทำงาน จ่ายค่าทำศพให้แก่ผู้มีสิทธิรับประโยชน์จำนวน  40,000  บาท เพื่อเป็นค่าจัดการศพ  โดยผู้ประกันตนจะต้องส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 เดือน ภายในระยะเวลา  6 เดือนก่อนถึงแก่ความตาย โดยผู้มีสิทธิสามารถนำหลักฐาน คือ แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกองทุนประกันสังคม (สปส.2-01) สำเนาบัตรประชาชนของผู้จัดการศพ  หลักฐานจากฌาปณสถานหรือมัสยิด ที่แสดงว่าเป็นผู้จัดการศพ  สำเนาใบมรณบัตร สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ประเภทออมทรัพย์หน้าแรกซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้จัดการศพ (กรณีรับเงินทางธนาคาร)

 นอกจากนี้  ผู้มีสิทธิจะได้รับคืนเงินออมกรณีชราภาพ  และเงินสงเคราะห์กรณีตายถ้าผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 3  ปีขึ้นไปแต่ไม่ถึง  10  ปี  ให้ได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างโดยเฉลี่ย 1 เดือนครึ่ง เช่น ค่าจ้างเฉลี่ย 10,000 บาท รับเงินสงเคราะห์กรณีตาย 15,000  บาท  แต่ถ้าผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเกิน  10  ปีขึ้นไปให้ได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างโดยเฉลี่ย  5  เดือน เช่น ค่าจ้างเฉลี่ย 10,000 บาท   จะได้รับเงินสงเคราะห์กรณีตาย  50,000 บาท (ค่าจ้างเฉลี่ยคิดจากรายได้ต่ำสุดที่ 1,650 บาท และสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ต่อเดือน) โดยเงินสงเคราะห์กรณีตายนี้จะจ่ายก็ต่อเมื่อเป็นบุคคลที่ผู้ประกันตนระบุให้ เป็นผู้รับสิทธิประโยชน์โดยการทำหนังสือระบุไว้ 

            หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานกองทุนเงินทด แทน  โทร.02-956-2745-8 หรือที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด/สาขาทั่วประเทศหรือที่สาย ด่วนประกันสังคม 1506 ติดต่อทางระบบโทรศัพท์ตอบรับอัตโนมัติให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรงให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการตั้งแต่ เวลา 07.00 -19.00 น. หรือดูรายละเอียดได้ที่ www.sso.go.th

................................................................................................


ศูนย์สารนิเทศ  สายด่วนประกันสังคม กระทรวงแรงงาน 1506 / www.sso.go.th
Lock Reply
view