สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เสียวฟัน ?

จาก ประชาชาติธุรกิจ


คุณด้วยหรือเปล่าที่เสียวแปล๊บๆ เวลากินอาหารหรือเครื่องดื่ม ถ้าสงสัยมีวิธีทดสอบง่ายๆ ลองใส่น้ำเย็นจัดในน้ำแข็งเต็มแก้ว ค่อยๆ ดื่มน้ำผ่านเข้าไปในช่องปาก ก็ถ้ามีอาการเสียวแปล๊บๆ นั่นละ ใช่เลย !

คอลัมน์ HEALTH
โดย ศริน




เสียวฟัน ?

ปกติ ฟันจะถูกปกป้องจากเคลือบฟันและเหงือก เมื่อเคลือบฟันสึกหรือหลุดออก หรือเหงือกร่นจากปกติ เนื้อฟันจะถูกเปิดออกให้สัมผัสกับตัวกระตุ้นภายนอก อาทิ ไอศกรีม กาแฟร้อน หรือแม้กระทั่งการแปรงฟันก็สามารถทำให้เกิดการเสียวฟันได้ สาเหตุที่เคลือบฟันสึกถึงชั้นเนื้อฟันมีหลายสาเหตุ เช่น การแปรงฟันแรงเกินไป กินอาหารที่มีความเป็นกรดสูง แปรงฟันทันทีหลังกินอาหารที่มีความเป็นกรด รวมไปถึงการนอนกัดฟัน ส่วนสาเหตุที่ทำให้เหงือกร่นจนเห็นเนื้อรากฟัน เกิดจากโรคปริทันต์หรือโรคเหงือก การใช้แปรงสีฟันที่มีขนแข็งเกินไป การแปรงสีฟันนานเกินไป รวมไปถึงการใช้ไหมขัดฟันผิดวิธี

ใช้ยาสีฟันลดอาการเสียวอาจช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าจะให้ดี อย่าลืมแก้ที่ต้นเหตุ ! :D

ศัลยกรรมเคลื่อนที่

ยิง ปืนนัดเดียวได้นกสองตัวล่ะงานนี้ เมื่อราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมศัลยกรรมเคลื่อนที่ปฏิบัติการความงามเพื่อแก้ไขจุดบกพร่อง ทั้งจากทางกายภาพ และอุบัติเหตุ รวมทั้งรักษาโรคอันเกิดจากความชรา เช่น หนังตาบนตก

ถือเป็นการขยายโอกาสในการทำศัลยกรรมที่ทันสมัย และได้มาตรฐานไปสู่ประชาชนในจังหวัดต่างๆ ขณะเดียวกันยังเป็นห้องเรียนเคลื่อนที่ให้กับแพทย์รุ่นใหม่ๆ ได้เพิ่มพูนความรู้ ประสบการณ์ โดยมีอาจารย์แพทย์เป็นผู้สอน

น.พ.ชลธิศ สินรัชตานันท์ นายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2546 แล้วโดยกิจกรรมออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่แต่ละครั้งจะมีศัลยแพทย์ที่เป็น สมาชิกของสมาคม ร่วมเดินทางไปพร้อมกับอาจารย์แพทย์ และ นักศึกษาแพทย์ โดยแต่ละโรงพยาบาลจะทำการประชาสัมพันธ์ให้คนมารับบริการ และคิดค่าใช้จ่ายตามจริงเท่านั้นคือประมาณ 5,000-8,000 บาท ซึ่งคณะแพทย์ที่เดินทางไปไม่ได้คิดค่าใช้จ่ายใดๆ เงินรายได้ทั้งหมดทางโรงพยาบาลจะนำไปใช้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อไป ที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรมออกหน่วยเคลื่อนที่ไปในจังหวัดต่างๆ ได้แก่ ตาก เชียงราย อุบลราชธานี ระยอง นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ ฯลฯ

ปีนี้ ยกทีมแพทย์เคลื่อนที่ไปที่โรงพยาบาลสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี บรรยากาศมีผู้สนใจเข้ามารับการปรึกษาจำนวนมาก โดยให้บริการได้ทั้งสิ้น 43 ราย ประกอบด้วย ศัลยกรรมตา ได้แก่ ตาสองชั้น แก้ไขปัญหาหนังตาตก ตาล่างห้อย จำนวน 30 ราย เสริมจมูก 10 ราย และดึงหน้า 3 ราย

ศัลยกรรม ในวันนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องสวยไม่สวย แต่เป็นเรื่องของบุคลิกภาพที่ปรับเติม เสริมกันได้ ...เห็นมั้ย ไม่ว่าอยู่ที่ไหน ใครๆ ก็อยากดูดีกันทั้งนั้นแหละ !

ฉลากโภชนาการ

สงสัยมั้ยว่า ทำไมอาหารที่เรากินนั้นต้องมีฉลาก และฉลากนั้นบอกอะไรเรา ?

งาน "ครอบครัวไทย สุขภาพดี" จัดโดย บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด เชิญนักวิชาการทางด้านอาหารและโภชนาการจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มาให้ความรู้เรื่องฉลากโภชนาการ โดยส่วนใหญ่มักจะดูเรื่องของปริมาณไขมัน, คอเลสเตอรอล, โปรตีน, คาร์โบไฮเดรต และโซเดียม

วิธีอ่านฉลากทำง่ายๆ โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก เรียกว่า "จำนวนหน่วยบริโภคต่อภาชนะบรรจุ" เป็นส่วนที่บอกว่าสามารถกินได้กี่ครั้ง แบ่งรับประทานได้กี่ครั้ง เช่น ไมโลซองเล็ก ข้างๆ ซองจะเขียนว่า หน่วยบริโภค = 1 แสดงว่าจะได้สารอาหารตามที่ระบุในฉลากก็ต้องกิน 1 ซอง เป็นต้น ส่วนที่สอง "คุณค่าทางโภชนาการต่อหนึ่งหน่วยบริโภค"

คือ ในหนึ่งหน่วยบริโภคจะได้รับสารอาหารอะไรบ้าง ในปริมาณน้ำหนักจริงเท่าใด และปริมาณนี้คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน เช่น 1 ซองให้คาร์โบไฮเดรต 21 กรัม คิดเป็น 7% ของปริมาณสารอาหารที่แนะนำต่อวัน ดังนั้น ต้องกินเพิ่มอีก 93% จากอาหารอื่น และส่วนสุดท้ายคือ "ร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน" เป็นส่วนที่บอกปริมาณอาหารที่ควรได้รับใน 1 วัน เช่น เราควรได้รับใยอาหาร 25 กรัมต่อวัน เป็นต้น

อ่านเป็นแล้วก็อย่าลืม เลือกกินอาหารให้ครบโภชนาการด้วยล่ะ ร่างกายจะได้แข็งแรงจากภายในอย่างแท้จริง !

ภัยร้ายขณะหลับ

แม้ โรคการหยุดหายใจจากภาวะทางเดินหายใจถูกอุดกั้นขณะนอนหลับ (Obstructive Sleep Apnea : OSA) เป็นความผิดปกติด้านการนอนที่พบมากที่สุดในโลก แต่คนไทยอาจยังไม่คุ้นหูนัก

ผลวิจัยจากโรค OSA นี้ พบว่า ประชากรทั่วโลก 4% กำลังเผชิญกับโรคนี้อยู่ โดยคนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากกว่า 2-3 เท่าของคนปกติ แถมมีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดในสมองมากกว่าด้วย การศึกษาล่าสุดจัดทำโดยฟิลิปส์ใน 5 ประเทศทั่วโลก พบว่า สถิติแสดงให้เห็นว่า 1 ใน 3 ของคนไข้คิดว่าโรคนี้มีอาการแค่นอนกรน แท้จริงแล้วการกรนเป็นเพียงหนึ่งปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดโรคนี้ ในขณะที่เกือบ 2 ใน 3 รู้สึกว่าการกรนเป็นเพียงแค่ความไม่สะดวกสบายเล็กๆ น้อยๆ ไม่จำเป็นต้องจัดการอะไร

วิธีรักษา เมื่อพบแน่ชัดว่าคนไข้ป่วยด้วยโรคนี้ คุณหมออาจแนะนำให้ใช้เครื่องช่วยหายใจชนิดต่อเนื่อง (Contiunous Positive Airway Pressuew : CPAP) ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ต้องต่อท่อหายใจ ปัจจุบันวิธีนี้ได้รับความนิยมมาก เพราะเจ้าเครื่องนี้เป็นเครื่องช่วยหายใจชนิดแรงดันบวกต่อเนื่องจะปล่อยแรง ดันลมแบบเบาผ่านหน้ากากสู่จมูกเพื่อป้องกันการตีบของทางเดินหายใจ ทำให้ผู้ป่วยสามารถหายใจได้เต็มที่ขณะนอนหลับ

"ผู้ป่วยที่เป็นโรค ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับจากการ อุดกั้นจะตื่นขึ้นมาเพื่อหายใจบ่อยครั้งในระหว่างนอนหลับ ทำให้ไม่สามารถมีเวลานอนหลับได้อย่างเพียงพอ บางกรณีผู้ป่วยตื่นขึ้นมา 30 นาทีใน 1 ชั่วโมงเนื่องจากหยุดหายใจชั่วคราว CPAP จะช่วยเพิ่มพลังงาน ลดความดันโลหิต และลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคเส้นโลหิตในสมองและโรคหัวใจวาย" ศาสตราจารย์ น.พ.ชัยรัตน์ นิรันตรัตน์ หัวหน้าภาควิชา โสต ศอ นาสิก วิทยา คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒกล่าว

view