จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว
ยุทธศาสตร์พัฒนาชาติ ตามที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แจกแจงให้คณะรัฐมนตรี ผู้บริหารระดับสูง และผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2556 ไม่ใช่แค่ทำเอาผู้เข้าฟังอ้าปากค้างชมสีสันลีลาผู้นำไร้สคริปต์
หากแต่ความพยายามโน้มน้าวผู้อยู่ในกลไกอำนาจรัฐต้องเดินตามแผนจากนี้ไป ต่างหาก ได้สร้างความอึ้งทึ่งถึงการวางหมากบริหารประเทศไว้อย่างแยบยล
ยิ่งลักษณ์เปิดยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ยุทธศาสตร์แรก เพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน โดยจะมีแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ประกอบด้วยสร้างรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทางจากกรุงเทพฯ สู่เมืองหลักในภูมิภาค สร้างรถไฟรางคู่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 สร้างรถไฟฟ้า 10 สาย เป็นต้น
อีก 3 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์การสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม มีเป้าหมายลดความยากจนลง กระจายรายได้มากขึ้น ยุทธศาสตร์การเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ต่ำกว่า 5 ตันต่อคนต่อปี สุดท้ายคือ ยุทธศาสตร์ปรับสมดุลและการพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
ถามใครต่อใคร ดีไหมเอาไหม น้อยคนนักปฏิเสธ
ยิ่งนายกฯ ตอกย้ำ ปลุกใจให้ฝ่ายสนองนโยบายรับไปปฏิบัติ “ถ้าเพิ่มขีดความแข่งขันได้ตามนี้ ประเทศหลุดจากประเทศรายได้ปานกลาง จะทำให้มีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น 544,213 บาทต่อคนต่อปีภายในปี 2570 สูงขึ้น 3 เท่าตัวจากปี 2554”
กล่าวกันตามประสาชาวบ้านอีก 13 ปี คนไทยเลิกจน อย่างนี้ดีแน่ เพราะฉะนั้นทุกฝ่ายต้องทำให้ได้
ว่ากันว่า กว่าพิมพ์เขียวยุทธศาสตร์พัฒนาชาติฉบับโดนใจจะออกมา นายกฯ ยิ่งลักษณ์ เรียกคีย์แมนสภาพัฒน์ สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง สภาความมั่นคงแห่งชาติ ก.พ.ร. ร่วมกันหารือปรับแก้แผนนาน 6 เดือน โดยเฉพาะเปเปอร์สุดท้ายย้ำนักย้ำหนาให้แผนพัฒนาระดับพื้นที่หรือยุทธศาสตร์ กลุ่มจังหวัดต้องสอดคล้องกับแผนระดับชาติ โดยวางระยะเวลาของการทำงานในส่วนกลุ่มจังหวัด 4 ปี เป็นเวลาพอดีเป๊ะกับวาระการทำงานรัฐบาล
ไม่แปลกบรรดาโครงการต่างๆ ทั้งที่กำลังจะเกิด หรือเกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโครงการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ต่างๆ โครงการรถไฟความเร็วสูง ฯลฯ จะถูกกำหนดนโยบายให้แต่ละกลุ่มจังหวัดต้องเสนอแผนพัฒนาพื้นที่คำนึงถึงการยก ระดับเป็นศูนย์กลางด้านต่างๆ คอยรองรับเมกะโปรเจกต์ อาทิ ศูนย์กลางผลิตอาหารคุณภาพ ศูนย์กลางการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วน ศูนย์กลางการผลิตพลังงานสะอาด ฯลฯ
ต้องสอดคล้องต้องกันตามหลักบูรณาการเป็นเอกภาพ
นี่อาจเป็นการถอดรหัสคำกล่าวยิ่งลักษณ์ตั้งแต่ต้นปี 2556 เหตุใดเรียกร้องขอให้คนไทยคิดบวก เพราะงานใหญ่รออยู่ต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วนในการดำเนินเมกะโปรเจกต์ ภายใต้การสนับสนุนตามกรอบงบประมาณปี 2557 และ พ.ร.บ.เงินกู้อีก 2.2 ล้านล้านบาท กำลังจะเกิดขึ้น โดยที่ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง พยายามเน้นย้ำความมั่นใจกับบรรดาผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ อย่าได้หวั่นเสียวินัยการเงินการคลัง เพราะถ้าลุยไฟไปตามแผนยุทธศาสตร์นี้ คุ้มค่าการลงทุน ได้สร้างงาน ประชาชนมีรายได้ อย่างน้อยภายใน 6 เดือนนี้ จีดีพีขยับ 5.5%
แม้ต้องใช้เวลาดำเนินการอีกหลายปีกว่าจะสัมฤทธิผล แต่ที่แน่ๆ สารพัดโครงการที่กำลังจะทำให้ประเทศโต ล้วนถูกติดแบรนด์ให้กล่าวขาน มาจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ทั้งสิ้น ขณะที่โครงการยังไม่เกิดก็ใช้วิธีทิ้งหัวเชื้อขายฝันเอาไว้ เพื่อพร้อมกลับมาสานต่อในทันทีที่หมดวาระ
เพราะต้องการเป้าหมายใหญ่ได้ผลตอบแทนทางการเมืองคุ้มค่า ยิ่งเสถียรภาพรัฐบาลแข็งปึ้กสะดวกต่อการขับเคลื่อนอะไรต่อมิอะไรด้วยแล้ว มีหรือรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะรอช้า
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการเมืองต้องนิ่ง จึงไม่แปลกที่ยิ่งลักษณ์เลือกเล่นบทให้เห็นว่าได้ผลักปัจจัยที่มีความเสี่ยง สูงทางการเมืองออกไปให้พ้นตัว และเดินหน้าแผนพัฒนาชาติเข้ามาแทนที่ตามที่ตนเองซุ่มฟิตซ้อมมาตลอด 6 เดือน
การหลีกหนีฝุ่นตลบความขัดแย้งชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่แกนนำคนเสื้อแดงกดดันให้นายกฯ ลงนามรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือไอซีซี เพื่อต้องการเล่นงานรัฐบาลอภิสิทธิ์กรณีสลายการชุมนุมทางการเมืองจนเป็นเหตุ ให้มีผู้เสียชีวิต เพราะพิจารณากันทางกฎหมายสุ่มเสี่ยงกระทบสิทธิอาณาเขตและลามไปถึงสถาบัน ทำให้ต้องเก็บเข้าแฟ้มเงียบหายเข้ากลีบเมฆ
ต่อมาไม่มีสัญญาณตอบรับจากหมายเลขที่บรรดาแกนนำคนเสื้อแดงเรียก เมื่อแกนนำคนเสื้อแดงจุดประเด็นออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรม เพราะตามรัฐธรรมนูญการเสนอ พ.ร.ก.ต้องเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี เมื่อหัวหน้ารัฐบาลไม่เล่นด้วยก็จบ อีกทั้งลูกพรรคเพื่อไทยตีกรรเชียงออกห่างแนวคิดคนเสื้อแดงจนสร้างความไม่พอ ใจระหว่างฝ่ายเพื่อไทยและคนเสื้อแดง แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ตัดสินใจแล้วที่จะเดินไปตามแนวทางของตนเอง
แม้แต่การออก พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติต้องถูกแช่แข็งพอๆ กับความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งรับรู้กันดีเป็นชนวนร้อนถึงขั้นสร้างความแตกแยกให้คนในชาติ ยิ่งลักษณ์ใช้วิธีดึงปัญหาความขัดแย้งเข้าสู่การตั้งคณะกรรมการซื้อเวลาทำ ให้ลดอุณหภูมิความขัดแย้งที่คอยกวนใจในการทำภารกิจชาติ
ประการสำคัญ สัญญาณเร่งรีบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต่อการเดินทางกลับประเทศแตกต่างจากหลายปีก่อนหน้านี้ อันสืบเนื่องจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมาใช้มาตรการทางการต่างประเทศบีบพื้นที่ แต่เมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้ามาบริหารประเทศ เป็นที่รับรู้ถึงการใช้กลไกสร้างสัมพันธ์ระหว่างประเทศจนเป็นที่ยอมรับ สร้างอานิสงส์ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ขยับไมล์บินสะดวกกว่าเดิม เมื่อเหินฟ้าเดินทางอย่างประทับใจก็ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนกลับประเทศ เมื่อลดเงื่อนไข พ.ต.ท.ทักษิณ ส่งผลดีต่อยิ่งลักษณ์ในการเดินแผนพัฒนาชาติได้คล่องตัว
แต่ทว่าตัวขัดขวางยิ่งลักษณ์ ยังไม่หมดอยู่เพียงเท่านี้ เพราะยังเผชิญปัญหาใหญ่กรณีข้อพิพาทปราสาทพระวิหาร ที่รอวันศาลโลกตัดสิน เกมนี้ฝ่ายเห็นต่างหยิบขึ้นมากล่าวหาถึงขั้นเสียดินแดน เป็นประเด็นกระแทกความรู้สึกคนในชาติ กระทบความมั่นคงทางการทหาร ในที่สุดสะเทือนรัฐบาลให้เสียสมาธิกลับสู่เกมแก้ความขัดแย้งทางการเมือง จึงทำให้ยิ่งลักษณ์ต้องเร่งสะสางสร้างความเข้าใจตรงกันให้ได้
ถึงกระนั้นต่อให้โยนเผือกร้อนความขัดแย้งทางการเมืองพ้นตัว แต่หันกลับไปสำรวจวิธีบริหารจัดการภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติที่มาพร้อมการใช้ เงินลงทุนโครงการต่างๆ หนีไม่พ้นข้อครหานักการเมืองได้ประโยชน์ ซึ่งหากไม่สามารถวางกลไกแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมย้อนกลับล่อเป้ารัฐบาล เหมือนกรณียิ่งลักษณ์และคณะกำลังถูก ป.ป.ช.เตรียมสอบสวนกรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว มีผลต่อการชี้ชะตากรรมรัฐบาลยิ่งลักษณ์อยู่เหมือนกัน
หวังก้าวข้ามความขัดแย้ง สร้างผลงานวางรากฐานอยู่ยาว แต่เมื่อวังวนผลประโยชน์แทรกเข้ามา ก็ลำบากต่อการกำหนดอนาคต
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน