สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ข้อคิดในการปฏิรูปประเทศ (3)

ข้อคิดในการปฏิรูปประเทศ (3)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเสนอว่า เศรษฐกิจระบบตลาดเสรีมีปัญหาพื้นฐานอยู่ 3 ด้านด้วยกัน

นั่นคือ การใช้การบริโภคที่เพิ่มขึ้นแบบไม่หยุดยั้งเป็นหัวจักรขับเคลื่อน การเข้าไปก้าวก่ายในระบบ หรือการมีผลประโยชน์ทับซ้อนของชนชั้นผู้บริหารประเทศ และการผูกขาด

โดยทั่วไป ประเทศต่างๆ เข้าใจและมีแนวทางแก้ไขปัญหาด้านที่สองและสามซึ่งเป็นที่ยอมรับกันแล้ว แต่ระดับปฏิบัติงานโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาที่มีความฉ้อฉลสูงยังมีอุปสรรคมาก หากเมืองไทยสามารถลดความฉ้อฉลลงได้ตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ในตอนที่ 2 ของเรื่องนี้ ปมปัญหาน่าจะคลี่คลายได้อย่างรวดเร็ว ส่วนในด้านแรก สังคมโลกโดยทั่วไปยังไม่ยอมรับ จึงจะพูดถึงด้านนี้เป็นพิเศษ แต่จะพูดถึงไม่มากนักนอกจากจะนำบางประเด็นมาเน้นย้ำ ทั้งนี้เพราะคอลัมน์นี้ได้พูดถึงแนวการปฏิรูปไว้แล้ว 14 ตอน จากปลายตุลาคม 2508 ถึงปลายมกราคม 2509 และเนื้อหาของ 14 ตอนนั้นได้รับการปรับและพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ “ทางข้ามเหว : แนวคิดสำหรับแก้วิกฤติไทย” ซึ่งอาจนำออกมาอ่านได้จากเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.org

เนื่องจากทรัพยากรโลกมีจำกัดและหลายอย่างกำลังถูกใช้หมดไปจนทำให้ขาดความสมดุล ทางออกมีอยู่สองทางด้วยกัน นั่นคือ ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและออกไปแสวงหาจากโลกอื่นมาเสริม ทั้งสองทางต้องอาศัยเทคโนโลยีใหม่ ในอนาคตอันใกล้นี้ เทคโนโลยีใหม่คงไม่เอื้อให้เราไปนำทรัพยากรมาจากโลกอื่นได้ ความหวังจึงอยู่ที่การคิดค้นหาเทคโนโลยีที่จะทำให้การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่บนโลกนี้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อาทิเช่น การผสมพืชข้ามสายพันธุ์เพื่อให้ได้พืชอาหารสายพันธุ์ใหม่ซึ่งใช้น้ำเพียงเล็กน้อย หรือทนน้ำกร่อยได้ เนื่องจากเราไม่สามารถคาดเดาได้ล่วงหน้าว่าเมื่อไรเราจะมีเทคโนโลยีที่ช่วยลดการใช้ทรัพยากรได้อย่างมีนัยสำคัญ ฉะนั้น การแก้ปัญหาจึงต้องมาจากการลดการใช้ทรัพยากรของเราซึ่งทำได้สองทางด้วยกัน นั่นคือ ลดจำนวนคนและลดการใช้ทรัพยากรของแต่ละคน

เรื่องจำนวนคนบนโลกเป็นประเด็นที่มีความเห็นต่างกันมาก สังคมส่วนใหญ่ได้ดำเนินนโยบายในแนวลดอัตราการเกิดของประชากรมานาน กระนั้นก็ดี พอจำนวนประชากรลดลง ต่างพากันหาทางทำให้เพิ่มขึ้นเพราะต้องการให้คนรุ่นหลังเลี้ยงดูผู้สูงวัยที่มีจำนวนและอัตราส่วนเพิ่มขึ้น จากมุมมองของด้านการใช้ทรัพยากร จำนวนประชากรไทยไม่ควรจะเพิ่มขึ้นไปจากในระดับปัจจุบัน หรืออาจจะต้องลดลง ส่วนจะยึดข้อเสนอแนวไหนเป็นเป้าหมายในการปฏิรูปประเทศ หลายฝ่ายต้องร่วมปรึกษาหารือกันจนได้ข้อตกลง หลังจากนั้นจึงมองหามาตรการที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายนั้น

สำหรับในด้านการบริโภค หรือใช้ทรัพยากรของแต่ละคน เราควรเริ่มจากการมองสิ่งที่สนองความจำเป็นเบื้องต้นซึ่งทุกคนต้องมีเพื่อดำรงชีวิตแล้วตามด้วยสิ่งที่เกินความจำเป็น เราแยกสิ่งเหล่านี้ออกอย่างคร่าวๆ ว่าอะไรอยู่ในส่วนไหน เราคุ้นเคยกับเรื่องปัจจัยสี่ แต่โลกปัจจุบันนี้ เราต้องมีสิ่งจำเป็นอื่นๆ อาทิเช่น เครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารและการเดินทาง อย่างไรก็ตาม ในบรรดาสิ่งที่มีความจำเป็นทั้งหลาย เรายังสามารถลดการใช้ทรัพยากรได้มากเนื่องจากมันมีส่วนที่เกินความจำเป็น อาทิเช่น ในหมวดอาหาร เราไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารเมืองหนาวซึ่งจำเป็นต้องน้ำเข้าจากประเทศห่างไกลยังผลให้ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น ในหมวดที่อยู่อาศัย เราไม่จำเป็นต้องสร้างบ้านเป็นคฤหาสน์ใหญ่โต ในหมวดเสื้อผ้า เราไม่จำเป็นต้องมีเครื่องประดับประดาเพื่อความหรูหราไร้เหตุผล หรือในหมวดเครื่องมือสื่อสารและการเดินทาง เราไม่จำเป็นต้องใช้โทรศัพท์ที่มีศักยภาพสูงเกินความจำเป็น หรือรถยนต์ขนาดใหญ่ซึ่งใช้เชื้อเพลิงมากๆ

การลดการใช้ทรัพยากรเกินความจำเป็นอาจทำได้ 3 ทางด้วยกัน นั่นคือ ด้วยความสมัครใจ ด้วยการใช้ระบบภาษี และด้วยการห้าม ความสมัครใจกับการห้ามอยู่ขั้วตรงข้ามกัน จากมุมมองของสัญชาตญาณของความต้องการทำอะไรๆ ได้อย่างเป็นอิสระของมนุษย์เรา ความสมัครใจเป็นทางที่ดีที่สุดและการห้ามเป็นทางที่ควรทำน้อยที่สุด ส่วนการใช้ภาษีอยู่กลางๆ ระหว่างสองขั้ว

จากมุมมองของด้านนโยบาย ฝ่ายรัฐอาจเลือกห้ามกิจกรรมบางจำพวก อาทิเช่น การแข่งขันรถยนต์ มอเตอร์ไซค์และเจ็ตสกี ส่วนในด้านการสร้างแรงจูงใจให้ลดการบริโภคส่วนเกินด้วยความสมัครใจเราอาจทำผ่านโครงการด้านการศึกษา แต่ด้านนี้ต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผล ฉะนั้น จะต้องทำควบคู่กันกับด้านที่จะได้ผลเร็วกว่า นั่นคือ การให้เงินสนับสนุนและการใช้ระบบภาษี สองเรื่องนี้เป็นเสมือนหน้าทั้งสองของเหรียญเดียวกัน เนื่องจากการให้เงินสนับสนุนต้องใช้งบประมาณ ฉะนั้น มันจึงควรนำมาใช้ในกรณีพิเศษจริงๆ เป็นครั้งคราวเท่านั้น อาทิเช่น การช่วยเหลือผู้ติดสารเสพติดให้เปลี่ยนพฤติกรรม ในด้านการใช้ระบบภาษีซึ่งเรามีอยู่แล้ว เราสามารถปรับเปลี่ยนให้ไปในแนวที่มีเป้าหมายในการลดการบริโภคเกินความจำเป็นได้ แนวคิดนี้เคยเสนอไว้แล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2551 เนื่องจากมันมีความสำคัญเป็นพิเศษ ตอนต่อไปจึงจะนำมาเสนออีกครั้งหลังปรับเปลี่ยนเล็กน้อย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ข้อคิดในการปฏิรูปประเทศ (3)

view