สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เทคนิคสู่ความสำเร็จ เพื่อพัฒนาโครงการ CSR

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ CSR Talk โดย พีรานันต์ ปัญญาวรานันท์ ผู้จัดการโปรแกรมความรับผิดชอบต่อสังคม สถาบันคีนันแห่งเอเซีย

ปัจจุบันการพัฒนาโครงการด้าน CSR ของบริษัทและองค์กรที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยมีความก้าวหน้า และสร้างคุณภาพได้ทัดเทียมกับโครงการด้าน CSR ของนานาประเทศ เพราะจากการประกาศผลรางวัลด้าน CSR เราจะพบโครงการ CSR จากประเทศไทยเข้ารอบอยู่เสมอ

นับเป็นก้าวกระโดดที่สำคัญ เพราะในอดีตเราจำกัด CSR ไว้ที่การบริจาคและการทำประชาสัมพันธ์เป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบันผลสำเร็จของ CSR ได้เปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ของผู้หญิง เด็ก และผู้ด้อยโอกาส และยังกลายเป็นนวัตกรรมการผลิตใหม่ ๆ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพยายามค้นหาสูตรแห่งความสำเร็จที่ได้ยินจากกลุ่มผู้จัดการด้าน CSR เมื่อมีการเสวนากันในเรื่องเส้นทางของการพัฒนา CSR นั้นคือ การพัฒนาโครงการ CSR เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้กันเอง และพัฒนาลองผิดลองถูกกันไป จนกระทั่งรู้และเข้าใจการพัฒนาโครงการ CSR ที่เป็นมืออาชีพอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ที่มีส่วนทำให้ความเป็นอยู่ของชุมชนและสังคมดีขึ้น

กิจกรรมด้านจิตอาสาที่กลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาผู้นำและบุคลากรในองค์กรอีกด้วย ในบทความวันนี้ จึงอยากจะเขียนทบทวนเทคนิคสู่ความสำเร็จ 10 ประการเพื่อการพัฒนาโครงการ CSR ซึ่งจะช่วยสร้างกระบวนการคุณภาพให้เกิดขึ้น และทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างมีทิศทาง

1.ฟัง ฟัง และฟัง จุดเริ่มต้นที่จำเป็นของการพัฒนาโครงการด้าน CSR คือการรับทราบความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภายในและภายนอกองค์กร เพื่อให้มั่นใจว่าโครงการที่จะพัฒนานั้นเกี่ยวข้องและเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กร จะรับฟังโดยการสำรวจ สานเสวนา ส่งไปรษณีย์ พูดคุยกับกลุ่มสมาคม ชมรม NGOs หรือการสังเกตถือว่าได้ทั้งนั้น เพื่อเป็นการเริ่มต้นที่มีเหตุและผลของการดำเนินโครงการ CSR และสร้างการมีส่วนร่วมในระยะยาว

2.โครงการ CSR ที่สอดคล้องไปกับธุรกิจหลัก เพราะจะได้สามารถใช้ความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจนั้น ๆ ในการพัฒนาโครงการ CSR ได้ อีกทั้งปัจจุบัน CSR ยังทำได้มากกว่าการบริจาค เช่น การที่บริษัทที่ทำธุรกิจขนส่ง ทำโครงการ CSR ที่ขนส่งของที่บริจาคไปในพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยทางธรรมชาติ หรือบางโรงแรมที่มีธุรกิจสปาที่มีชื่อเสียงก็ทำโครงการ CSR ที่ดูแลสุขภาวะของชุมชนรอบข้าง ทั้งด้านของโภชนาการและความสะอาด โดยใช้พนักงานของตนเองช่วยในการดำเนินโครงการ

3.สร้างความเห็นชอบจากผู้บริหาร เนื่องจากโครงการ CSR เป็นกิจกรรมที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกแผนกในองค์กร และเป็นโครงการที่ต้องการการมีส่วนร่วมจากชุมชนและสังคมรอบข้าง นั่นหมายถึงความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงขององค์กรอีกด้วย ผู้บริหารบางองค์กรให้ความสำคัญกระทั่งกลายเป็น CSR Ambassador ซึ่งทำให้โครงการ CSR มีพลังในการขับเคลื่อน และสะท้อนถึงความจริงใจขององค์กรนั้น ๆ อีกด้วย

4.เสมอต้นเสมอปลาย หนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเชื่อใจและความจริงใจนั้น เกิดจากความสม่ำเสมอในการติดต่อสื่อสารและการกระทำ และปัจจุบันการพัฒนาโครงการ CSR นั้นได้นำไปผูกไว้กับหลักการของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังนั้นโครงการ CSR จึงเป็นโครงการระยะยาวที่ต่อเนื่องกัน เพื่อให้สามารถเห็นผลของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชนทั้งภายในและภายนอกองค์กร

5.สร้างสินค้าและบริการที่เป็นประโยชน์ทั้งในเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การนำเอาแรงงานจากชุมชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตหรือบริการ การสร้างบริการที่ทำให้ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสได้เข้าถึง และการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค

6.สร้างความเชื่อมโยงกับลูกค้าโดยเน้นคุณค่าและสปิริตขององค์กร แฟนพันธุ์แท้นั้นมิได้สัมพันธ์แค่ผลประโยชน์ในเชิงธุรกิจ แต่เพราะเห็นในคุณค่าของการมีอยู่ของสิ่งนั้น ๆ จึงควรสื่อสารเพื่อให้ลูกค้าเห็นถึงคุณค่าและสปิริตขององค์กรในการพัฒนาธุรกิจไปพร้อมกับสร้างความยั่งยืนในสังคม อาทิ ความซื่อสัตย์ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมอันดี

7.มั่นใจว่าพนักงานมีส่วนร่วมทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง พนักงานคือขุมพลังและทรัพยากรที่สำคัญในการพัฒนาโครงการ CSR เพราะทักษะ ความรู้ความสามารถในการช่วยคิดช่วยทำ อีกทั้งพนักงานนั้นเป็นลูกค้าภายใน ที่ท้ายที่สุดจะเป็นผู้สื่อสารถึงความจริงใจขององค์กรต่อการพัฒนาธุรกิจ

8.สร้างการมีส่วนร่วมกับลูกค้าในโครงการ CSR ต่าง ๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ดี ๆ ร่วมกัน อาทิ การบริจาคสิ่งของที่ไม่ใช้แล้ว การร่วมกันประดิษฐ์สิ่งของที่จะใช้ภายใต้โครงการ ร่วมมือในกิจกรรมชุมชนต่าง ๆ

9.CSR ที่ต้องใช้ทักษะ ความสามารถ และสินค้า ไม่ใช่เฉพาะเงินเท่านั้น ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะจำกัดทางเลือก CSR ไว้ที่การบริจาคเงิน เพราะทรัพยากรขององค์กรสามารถทำได้มากกว่านั้น และสังคมต้องการความช่วยเหลือที่มากกว่าเงิน ดังนั้นระหว่างศึกษาควรฟัง ฟัง ฟัง

10.นำเสนอผลสำเร็จที่มากกว่าตัวเลข ตัวเลขเป็นผลลัพธ์เบื้องต้นที่จะบอกได้ว่า งบประมาณและทรัพยากรที่ลงไปกับโครงการ CSR นั้นเกิดผลสัมฤทธิ์มากน้อยเท่าใดในเชิงสถิติ อย่างไรก็ตาม ยังมีวิธีการนำเสนอผลสำเร็จอื่น ๆ ที่ทรงพลังเช่นกัน กล่าวคือผลสำเร็จในเชิงสังคม การเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับคุณภาพชีวิตของชุมชน สังคม

แม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มพนักงาน เรื่องราวความสำเร็จแบบนี้ไม่ได้หวังผลเพื่อยืนยันความสำเร็จของโครงการ CSR แต่ยังหมายถึงการยอมรับและให้ความร่วมมือโครงการดี ๆ ที่สามารถช่วยเหลือสังคมได้จริง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เทคนิคสู่ความสำเร็จ พัฒนาโครงการ CSR

view