สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แรงจูงใจกับการลงทุน

แรงจูงใจกับการลงทุน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




คนที่เกี่ยวข้องกับตลาดหุ้น หุ้นและการลงทุนนั้นมีมากมาย แต่ละคนหรือแต่ละกลุ่มนั้นต่างก็มีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน

ซึ่งบ่อยครั้งก็ไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของเราที่เป็นนักลงทุนแบบ VI ลองมาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

เริ่มตั้งแต่โบรกเกอร์ที่ผลประโยชน์หลักอยู่ที่ค่าคอมมิชชั่นซื้อขายหุ้น สิ่งที่พวกเขาอยากเห็นคือซื้อขายหุ้นของลูกค้าบ่อยๆ ดังนั้นพวกเขามักจะออกบทวิเคราะห์หุ้นมีสภาพคล่องซื้อขายสูงและเป็นหุ้นมีความผันผวนของราคาสูง เนื่องจากความไม่แน่นอนของตัวกิจการ

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่การตลาดมักให้คำแนะนำลูกค้าซื้อขายบ่อยๆ เวลาหุ้นขึ้นและลงแรงในช่วงเวลาสั้นๆ และสำหรับลูกค้ารายใหญ่หรือไม่ใหญ่มาก แต่ซื้อขายหุ้นแบบเทรดเดอร์ที่มีปริมาณการซื้อขายหุ้นสูงมากจะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ พวกเขาไม่ชอบและจะไม่แนะนำให้ลูกค้าลงทุนถือหุ้นระยะยาว แม้ว่าหุ้นจะเป็นกิจการที่ดีมากและเหมาะสมกับการลงทุนระยะยาว และถ้าลูกค้าถือหุ้นดังกล่าวไว้บางครั้งเขาก็แนะนำว่าควร “ขายไปก่อนแล้วค่อยซื้อกลับทีหลัง”

ในหลายกรณี พวกเขาอ้างการวิเคราะห์ทาง “เทคนิค” ที่จะช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อขายทันที เมื่อราคาหุ้นถึงจุดเปลี่ยน ดังนั้น เวลาฟังโบรกเกอร์หรือนักวิเคราะห์ จะต้องระวังว่า วัตถุประสงค์ของเขาอาจจะไม่เหมือนของเรา เราต้องการกำไรหรือได้ผลตอบแทนจากการลงทุน ส่วนเขาต้องการค่าคอมมิชชั่น แรงจูงใจไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นคำแนะนำหรือความเห็นของเขาจึงอาจลำเอียงได้

เจ้าของและหรือผู้บริหารบริษัท ถ้ามองหยาบๆ ก็น่าจะมีวัตถุประสงค์คล้ายกับนักลงทุน เนื่องจากต่างก็เป็นผู้ถือหุ้นเหมือนกัน หรือมีเป้าหมายที่อยากจะเห็นราคาหุ้นขึ้นไปสูงเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม เจ้าของและหรือผู้บริหารนั้นมักมีผลประโยชน์อย่างอื่น เช่น มีเงินเดือน โบนัส และผลประโยชน์เกี่ยวพันอย่างอื่นกับบริษัทด้วย

ถ้าผลประโยชน์อย่างอื่นนอกจากปันผลจากหุ้นมีมากอย่างมีนัยสำคัญ แรงจูงใจของเจ้าของหรือผู้บริหารก็อาจจะแตกต่างจากผู้ถือหุ้นที่เป็นนักลงทุนได้ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมง่าย ๆ ที่สุดอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของการจ่ายเงินปันผล ที่บางครั้งหรือบางบริษัทอาจจะจ่ายน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เหตุเพราะว่าผู้บริหารอาจจะถือหุ้นน้อยหรือไม่มี เขาอาจจะอยากเก็บเงินไว้ในบริษัท ซึ่งเขาจะได้มีโอกาสใช้ได้มากกว่า หรืออาจจะทำให้เขามีการบริหารงานที่สบายกว่าปกติ

หุ้น IPO หรือหุ้นที่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นครั้งแรก เราจะต้องรู้ว่าเจ้าของน่าจะมีแรงจูงใจอย่างไร ข้อแรกนั้นชัดเจนคือ เขาต้องการขายหุ้นเพื่อเอาเงินเข้าบริษัทเพื่อเหตุผลในการขยายงาน และทำให้บริษัทมีฐานะการเงินที่มั่นคง หรือในบางกรณี เจ้าของก็พ่วงหุ้นส่วนตัวเอามาขายด้วย ในทุกกรณี เขาต้องการขายได้ในราคาที่สูงเท่าที่จะเป็นไปได้และที่สำคัญคือเขาต้องคิดว่านั่น เป็นราคาที่เขาพอใจเมื่อเทียบกับคุณค่าของหุ้นในสายตาของเขา

แรงจูงใจนี้ทำให้เขาพยายามกำหนดราคาหุ้นให้สูง โดยอาจแต่งตัวหรือใช้จังหวะที่เหมาะสมของบริษัท หรือภาวะตลาดหุ้นในการเสนอขายหุ้นให้กับนักลงทุนทั่วไป ผลคือหุ้น IPO มักจะแพงกว่าพื้นฐานที่ควรจะเป็น และนั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่จูงใจให้เจ้าของเอาหุ้นเข้าตลาด

อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีก็อาจจะเป็นไปได้ว่าเจ้าของอาจจะมีแรงจูงใจอย่างอื่นที่สำคัญกว่า เช่น เขาต้องการเอาหุ้นเข้าตลาด เพื่อให้บริษัทมีการบริหารงานที่เป็นมาตรฐานและหุ้นมีสภาพคล่องและมีราคาตลาด ที่ทำให้เขารู้มูลค่าความมั่งคั่งของตนเอง และสามารถขายเพื่อกระจายความเสี่ยง รวมถึงสามารถนำมาแบ่งปันให้ทายาทได้อย่างสะดวกในอนาคต ในกรณีแบบนี้ การตั้งราคาหุ้นอาจไม่ได้สูงกว่าพื้นฐานก็ได้ สรุปคือการวิเคราะห์หรือมองถึงแรงจูงใจของเจ้าของที่นำหุ้นเข้าตลาดจะช่วยให้เรารู้ว่าราคา IPO นั้นมีความสมเหตุผลมากน้อยแค่ไหนได้

นักลงทุนแต่ละคนที่เข้าไปซื้อขายหุ้นตัวใดตัวหนึ่งเองนั้นมีแรงจูงใจที่แตกต่างกัน คนที่เข้าไปซื้อหุ้นลงทุนจนได้หุ้นครบจำนวนตามที่ต้องการแล้วนั้นต่างต้องการให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไป แรงจูงใจนี้ทำให้เขาอยากจะเชียร์หุ้นตัวนั้นถ้ามีโอกาสทำได้ คนที่ซื้อหุ้นตัวปริมาณมากและเป็นการซื้อเพื่อ “เก็งกำไร” ก็จะมีแรงจูงใจที่จะเชียร์หุ้นมาก เนื่องจากเขาอยากที่จะเห็นหุ้นขึ้นไปเร็วเพื่อที่ว่าเขาจะได้ขายทำกำไรและหันไป “เล่น” หุ้นตัวอื่น

คนที่ลงทุนระยะยาวเอง การเชียร์อาจจะไม่มากเท่า เนื่องจากเขาไม่คิดจะขายหุ้นในระยะเวลาอันสั้น ในทางตรงกันข้าม คนที่ยังไม่ได้ซื้อหุ้นหรือคนที่ขายหุ้นตัวนั้นไปแล้ว อาจมีแรงจูงใจในทางตรงกันข้าม พวกเขาไม่อยากให้หุ้นขึ้น ดังนั้นไม่เชียร์ แถมอาจจะวิจารณ์ในด้านลบ ดังนั้น เวลาที่ฟังการวิเคราะห์วิจารณ์หุ้นแต่ละตัวจากนักลงทุนคนอื่น ควรจะรู้ว่าแต่ละคนมีแรงจูงใจไม่เหมือนกัน และการวิเคราะห์หุ้นอาจลำเอียงทั้งในด้านดีและร้ายขึ้นอยู่กับแรงจูงใจของแต่ละคน

การซื้อขายหุ้นของผู้บริหารที่ต้องแจ้งต่อกลต.ทุกครั้ง เราต้องพยายามมองหาว่าแรงจูงใจของเขาเป็นอย่างไร โดยปกติ ถ้าเป็นการขายรายการใหญ่มาก เช่น ขายถึง 10% ของบริษัท ในกรณีแบบนี้เราต้องวิเคราะห์ว่าเพราะเหตุใดเขาจึงขายและขายให้ใคร ในราคาเท่าไร แรงจูงใจในการขายคืออะไร เช่นเดียวกับแรงจูงใจของผู้ซื้อ เป็นไปได้ว่าเจ้าของอาจมองเห็นถึงความเสี่ยงในอนาคตของบริษัท เขาจึงขายไปในขณะที่หุ้นมีราคาดี

เป็นไปได้อีกเช่นกันว่าคนซื้อมองเห็นบริษัทมีศักยภาพสูงที่จะเติบโตต่อไปอีกนาน ดังนั้นจึงอยากซื้อหุ้นล็อตใหญ่เพื่อการลงทุน และคิดว่าราคาที่ซื้อนั้นคุ้มค่า ในหลายๆ กรณี การซื้อหุ้นล็อตใหญ่เพื่อจะเข้ามาเป็น Strategic Partner หรือเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ ที่จะทำให้บริษัทมีผลประกอบการดีขึ้น หลังจากเข้ามาลงทุน ในกรณีแบบนี้เราต้องวิเคราะห์ว่ามันจะดีขึ้นจริงหรือไม่ และถ้าราคาหุ้นสูงขึ้นไปมากจากช่วงก่อนการขาย ควรจะทำอย่างไร

การซื้อขายหุ้นของผู้บริหารที่ไม่ใช่รายการใหญ่ และเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นั้น ต้องดูเป็นกรณีๆ ไป โดยปกติถ้าเป็นผู้บริหารที่ไม่ใช่เจ้าของบริษัท หรือเป็นระดับซีอีโอหรือคนที่มีอำนาจกำหนดทิศทางของบริษัทจริงๆนั้น มักจะไม่ได้มีนัยสำคัญอะไรมากนัก แรงจูงใจในการขายหุ้นของพวกเขาอาจจะเกิดจากความต้องการใช้เงินธรรมดา หรืออาจจะเกิดจากความรู้สึกว่าหุ้นมีราคาสูงเต็มมูลค่าหรือเกินพื้นฐานไปแล้ว เช่นเดียวกับการซื้อหุ้นที่อาจจะเกิดจากความคิดที่ว่าหุ้นมีราคาถูก

อย่างไรก็ตาม เขาอาจคาดผิดได้เพราะเขาอาจจะไม่รู้จริง แต่ในกรณีที่ผู้บริหารคนสำคัญหรือเจ้าของเข้ามาซื้อๆ ขายๆ หุ้นค่อนข้างบ่อยนั้น คิดว่าเราคงต้องวิเคราะห์แรงจูงใจของเขาว่าเพราะอะไร เป็นไปได้ว่าเขาอาจพยายาม“ส่งสัญญาณ” ซึ่งอาจจะ “ลวง” ให้นักลงทุนเข้าใจผิดในคุณค่าของหุ้นในเวลานั้น โดยมีแรงจูงใจที่จะทำให้ราคาหรือสภาพคล่องของหุ้นแตกต่างจากที่ควรจะเป็นเพื่อเหตุผลบางอย่าง

เราในฐานะที่เป็น VI จะต้องติดตามและวิเคราะห์ว่ามันควรจะเป็นอะไร ประเด็นสำคัญก็คือ จะต้องคิดอย่างเป็นอิสระและไม่ถูกชักนำโดยข้อมูลที่ออกมาจากแรงจูงใจของคนอื่น ที่ไม่ได้มีเป้าหมายเหมือนกับเราหรือตรงข้ามกับเรา


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แรงจูงใจ การลงทุน

view