สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เทคโนโลยีกำหนดอนาคต

เทคโนโลยีกำหนดอนาคต

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เกริ่นนำถึงความสำเร็จของเอลอน มัสก์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งเทสลา มอเตอร์ส จนนับได้ว่าเป็นผู้ผลิตรถไฟฟ้า

ที่ประสบความสำเร็จ แซงหน้ายักษ์ใหญ่ในโลกยานยนต์ที่ก่อตั้งมาก่อนหน้าหลายสิบปีและร้อยปี แถมยังมีมูลค่าบริษัทสูงถึงกว่า 8 แสนล้านบาทในปัจจุบัน

ความสำเร็จในวัย 43 ปีของเอลอน มัสก์อาจดูหวือหวาแต่เทียบไม่ได้กับความสำเร็จครั้งแรกของเขาตั้งแต่เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ด้วยการจับกระแสความต้องการของธุรกิจออนไลน์ที่มีเว็บไซต์ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าเกิดขึ้นมากมาย แต่ไม่มีตัวกลางที่คอยช่วยอำนวยความสะดวกให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย

เอลอน ก่อตั้งเพย์พัลขึ้นมาเพราะเห็นโอกาสดังกล่าว ซึ่งตัวเขาในวัย 28 ปีนั้น เห็นโอกาสครั้งสำคัญในชีวิตจึงหยุดการเรียนต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เพื่อทุ่มเทให้ธุรกิจใหม่ซึ่งต่อมาประสบความสำเร็จสูงสุดจนถูกอีเบย์ซื้อกิจการไปเมื่อปี 2545 ด้วยมูลค่าสูงถึง 1,500 ล้านดอลลาร์

อะไรที่ทำให้นักศึกษาปริญญาเอกในสถาบันชั้นนำของโลกอย่างสแตนฟอร์ดถึงกับยอมทิ้งปริญญาที่กำลังจะได้รับ มาปลุกปั้นบริษัทใหม่ที่ไม่มีใครรู้ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ คำตอบอยู่ที่ “ปัญหา” ที่เอลอนมองเห็น และเชื่อว่าเพย์พัลเป็นคำตอบให้ปัญหานั้นได้

ปัญหาที่ว่านั้นก็คือการเติบโตของตลาดออนไลน์ระหว่างผู้บริโภคต่อผู้บริโภคโดยตรง เช่นการประมูลสินค้าในอีเบย์ที่เว็บไซต์เป็นแค่สื่อกลาง แต่เมื่อถึงขั้นตอนต้องจ่ายเงินและส่งของกันแล้วผู้ใช้แต่ละฝ่ายมักจะไม่มั่นใจซึ่งกันและกัน คนขายก็ไม่กล้าส่งของก่อนเพราะกลัวไม่ได้เงิน ส่วนคนซื้อก็ไม่กล้าโอนเงินให้ก่อนเพราะกลัวว่าสินค้าจะไม่เป็นไปตามที่ตกลงกัน

เพย์พัลจึงเข้ามาเป็นตัวกลางในกรณีดังกล่าว เพราะมีระบบที่กลั่นกรองผู้ซื้อผู้ขายทำให้ผู้ซื้อมั่นใจว่าจะได้รับสินค้าแน่นอนและยังครอบคลุมไปถึงกรณีที่ได้สินค้าไม่ตรงกับที่โฆษณาไว้ก็ไม่ต้องเสียเงินฟรีๆ เหมือนอดีต เช่นเดียวกับผู้ขายก็มั่นใจได้ว่าส่งของไปแล้วก็จะได้รับเงินแน่นอนเพราะระบบหักบัญชีของเพย์พัลที่วางระบบไว้รัดกุมมาก

เรื่องนี้อาจฟังดูธรรมดาแต่อย่าลืมว่านี่เป็นธุรกิจที่ริเริ่มกันเมื่อ 15-16 ปีที่แล้ว แนวคิดนี้จึงเสี่ยงมากที่จะได้รับการยอมรับและไม่มีอะไรรับประกันเลยว่าจะมีเว็บไหนเลือกใช้บริการนี้บ้าง ซึ่งระยะแรกได้ผลตอบรับน้อยมาก เพราะระบบที่ดูซับซ้อน แต่ก็ประสบความสำเร็จเกินคาดในระยะเวลาเพียง 4 ปี

แล้วเอลอนเห็นปัญหาอะไรอีกบ้างที่จะเป็นโจทย์ให้เขาในอนาคต ปัญหาแรกที่เขามุ่งตอบโจทย์คงหนีไม่พ้นเรื่องของ “พลังงาน” ที่เรารู้กันดีว่าน้ำมันเชื้อเพลิงกำลังจะหมดไปจากโลกจึงเป็นที่มาให้เขาทุ่มทุนสร้างเทสลา มอเตอร์ส ผลิตรถไฟฟ้าจนถือได้ว่าติดลมบนไปแล้ว

แต่นั่นก็ยังดูเหมือนไม่เพียงพอกับวิกฤติการณ์ด้านพลังงานเพราะภาวะโลกร้อนและภาวะเรือนกระจกที่กำลังเกิดขึ้นทำให้สภาพแวดล้อมเลวร้ายกว่าที่คิดไว้หลายเท่า การหาพลังงานทางเลือกได้มากขึ้นจึงน่าจะช่วยเยียวยาโลกใบนี้ได้ดีขึ้นด้วย

เอลอน จึงได้ก่อตั้งบริษัท โซลาร์ ซิตี้ ให้บริการเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์แบบติดหลังคา รวมถึงสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ขนาดยักษ์ใหญ่ที่สุดในโลกจนกลายเป็นผู้ให้บริการพลังงานไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์รายใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

ทั้ง 2 บริษัทนี้ผนึกกำลังกันเปลี่ยนแปลงทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์และพลังงานไปในเวลาเดียวกัน และเชื่อได้ว่ามีอะไรๆ ซ่อนอยู่อีกมาก ยกตัวอย่างเช่น Space X ซึ่งบุกเบิกทำธุรกิจด้านอวกาศซึ่งเป็นการเปลี่ยนโฉมการสำรวจอวกาศที่เคยอยู่ภายใต้การควบคุมขององค์การนาซ่าแต่เพียงองค์กรเดียวมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี

ทั้งหมดนี้อาจดูเหมือนนิยายวิทยาศาสตร์ที่คนๆ เดียวเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากมายในหลายอุตสาหกรรม แต่อีกมุมหนึ่งนั้นก็สะท้อนให้เห็นว่าโลกนี้ยังมีโอกาสอีกมากมายให้เราไขว่คว้า ขึ้นอยู่กับตัวเราเองเท่านั้นว่าจะมีข้อจำกัดใดๆ ขวางกั้นจิตนาการของเราเอาไว้หรือไม่


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เทคโนโลยี กำหนดอนาคต

view