สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เอาให้จริง

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ สามัญสำนึก โดย พิเชษฐ์ ณ นคร

ข่าวใหญ่ยุทธศาสตร์ลงทุนโครงสร้าง พื้นฐานด้านคมนาคมและขนส่งของประเทศได้รับไฟเขียวจากที่ประชุมคณะรักษาความ สงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา จุดประกายความหวังคนไทยทั้งประเทศอีกครั้ง แม้ไม่อาจมั่นใจได้เต็มร้อยว่าถ้าหากการเมืองพลิกผันผลัดใบ บิ๊กโปรเจ็กต์ที่กระทรวงคมนาคมวาดแผนลงทุนระยะยาว 8 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2565 วงเงินรวมทั้งสิ้น 2.4 ล้านล้านบาท จะถูกปรับเปลี่ยนใหม่อีกหรือไม่

เพราะนักการเมือง ผู้บริหารประเทศส่วนใหญ่มักอวดภูมิด้วยการโยกสลับปรับโน่นนิดนี่หน่อย พอให้ได้ชื่อว่าทำมากับมือ ทั้ง ๆ ที่สารพัดแผนงานล้วนมาจากไอเดียข้าราชการประจำ ทั้งที่หลายโครงการพร้อมเริ่มต้นนับหนึ่งได้ตั้งแต่ปีมะโว้ เพราะพี่ไทยถนัดเรื่องต่างคนต่างคิดต่างคนต่างทำเลยต้องย่ำอยู่กับที่ อย่างโปรเจ็กต์ร้อยปีการขุดคลองคอคอดกระ ที่วันดีคืนดีก็ถูกขุดขึ้นมาลับฝีปาก

อย่างไรก็ตาม ห้วงเวลานี้อำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ที่ คสช.ดังนั้นโอกาสที่จะผลักดันโครงการในแผนกระดาษให้เป็นจริงจึงเป็นไปได้สูง แม้ภายในเดือน ก.ย.นี้จะมีการจัดตั้งรัฐบาลมารับไม้ต่อบริหารประเทศ แต่ยังไง ๆ เมกะโปรเจ็กต์ในพิมพ์เขียวที่ผ่านการแอปพรูฟจาก คสช.ฉบับนี้ก็คงไม่ถูกเก็บเข้าลิ้นชัก อย่างน้อยบางโครงการน่าจะเดินหน้าได้เสียที หลังเคยถูกรัฐบาลพลเรือนเต็มขั้นหลายยุคหลายสมัยเขย่าครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ลงตัวสักที

ทั้ง ๆ ที่ทุกภาคส่วนระบุตรงกันว่า ยุทธศาสตร์ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศไทย ยิ่งเกิดขึ้นได้เร็วก็ยิ่งช่วยเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน แต่พอเอาเข้าจริงก็ยังมีเสียงคัดค้าน

ไม่น่าเชื่อว่าโรดแมปโครงข่ายเส้นทางคมนาคมเกือบจะพิมพ์เดียวกัน แต่รัฐบาลไม่รู้กี่ชุดต่อกี่ชุด ที่ขยันหยิบพิมพ์เขียวแผนลงทุนเส้นทางรถไฟฟ้า ทางด่วน มอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ ถนน 4 เลน ไฮสปีดเทรน อีหรอบเดียวกันมาจุดพลุปั้นความหวังให้กับชาวบ้าน แต่สุดท้ายแค่สร้างกระแสปั่นราคาหุ้น ที่ดินเข้าทางเศรษฐีไฮโซ

ชาวบ้านได้แค่นั่งทำตาปริบ ๆ กับกระแสข่าวที่วันดีคืนดีก็จะมีคนปั้นแต่งขึ้นมา คนซื้อบ้านยิ่งหนักหนาสาหัสกว่าหลายเท่า เพราะต้องควักกระเป๋าจ่ายเพิ่ม จากที่ราคาบ้าน และที่ดินมักฉวยโอกาสขยับขึ้น แล้วไม่ยอมปรับลดลง

ไม่แปลกที่อดีต รมว.คมนาคม ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งเคยถูกมอบหมายให้เป็นหัวหอกในการผลักดันแผนลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2.2 ล้านล้านบาท ยุครัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" จะเคยหัวหมุน แจงรายละเอียดแผนลงทุนซ้ำแล้วซ้ำเล่า

พร้อมหยิบยกข้อมูลโครงการสร้างพื้นฐานของไทยกับเพื่อนบ้านในอาเซียนขึ้นเปรียบเทียบให้เห็น โดยภาพรวมการจัดอันดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในปี 2555-2556 ที่ The Global Competitiveness Report, World Economic Forum จัดทำขึ้น ปรากฏว่าไทยอยู่ในลำดับที่ 49 มาเลเซียอยู่ในลำดับที่ 29 สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานล้ำหน้ากว่าแบบไม่เห็นฝุ่น ขณะที่อินโดนีเซียอยู่ในลำดับที่ 92 ฟิลิปปินส์ลำดับที่ 98 และเวียดนามลำดับที่ 119

เทียบโครงสร้างพื้นฐานประเภทถนน ปี 2556 ไทยติดอันดับ 39 ตกจากอันดับที่ 36 ในปี 2555 มาเลเซียหล่นจากอันดับ 21 มาอยู่ที่อันดับ 27 โครงการระบบรางอย่างรถไฟ ปี 2556 ไทยอยู่ในอันดับ 65 จากปี 2555 ติดอันดับ 57 ขณะที่มาเลเซียอยู่ในอันดับที่ 17 จากปี 2555 อยู่อันดับ 20 ท่าเรือ ไทยตกจากอันดับที่ 28 ในปี 2555 มาอยู่ที่ 33 ในปี 2556 ส่วนมาเลเซีย อันดับ 21 จากเดิม 19 สนามบิน ปี 2556 ไทยอยู่อันดับที่ 33 จากปี 2555 อยู่อันดับ 28 มาเลเซียอยู่อันดับ 24 จากเดิมปี 2555 อยู่อันดับที่ 29

แต่ประมาทไม่ได้ โดยเฉพาะอินโดนีเซียนั้น ถ้าไทยมัวแต่ชักช้า ได้แค่จ่อจะลงทุน ไม่ยอมลงหมุดตอกเข็มสักที ก็มีสิทธิ์ตกเป็นรอง เนื่องจากปีที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศเดินหน้าแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อภิมหาโปรเจ็กต์ วงเงินสูงถึง 3.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ยกเว้นจะเจอโรคเลื่อน ชักเข้าชักออก หลังการเมืองผลัดใบเหมือนบ้านเรา


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เอาให้จริง

view