สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โศกนาฏกรรมของโกเว็กซ์ (GOWEX)

โศกนาฏกรรมของโกเว็กซ์ (GOWEX)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




บริษัทที่เคยมีมูลค่าตลาดถึง 1,900 ล้านยูโร หรือประมาณ 82,000 ล้านบาท ล้มละลาย ได้อย่างไร?

ท่านที่สนใจติดตามหุ้นในตลาดต่างประเทศอาจจะได้รับทราบข่าวบริษัทผู้ให้บริการไวไฟ (WiFi) ที่เพิ่งได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งใน “บริษัทเข้าใหม่ที่ดีที่สุด” ในกลุ่มของบริษัทขนาดกลาง และขนาดย่อมจากสมาพันธ์ตลาดหลักทรัพย์ยุโรปและคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ยุโรป เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี2556 ที่ผ่านมา ต้องถูกให้หยุดพักการซื้อขายและยื่นขอรับการคุ้มครองจากเจ้าหนี้ภายใต้กฎหมายล้มละลายในเดือนกรกฎาคมของปีนี้

บริษัทที่มีชื่อเต็มว่า Let’s Gowex S.A.จดทะเบียนก่อตั้งในสเปนเมื่อปี2542 ประกอบธุรกิจหลักสองด้านคือ พัฒนาบริหาร และหาช่องทางธุรกิจในตลาดโทรคมนาคมรวมถึงให้ บริการบรอดแบนด์บริการเน็ตเวอร์ค และจัดการ Voice Over IP กับอีกด้านหนึ่งคือ การให้บริการไวไฟ (WiFi) แก่เมืองต่างๆ เช่น นิวยอร์ค ปารีส มาดริด ไมอามี

บริษัทโกเว็กซ์เสนอขายหุ้นต่อประชาชนและเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาด Mercado Alternative Bursatil (MAB) ซึ่งเป็นตลาดทางเลือกของสเปน (ที่มีหุ้นขนาดเล็กกว่าที่ จดทะเบียนในตลาดหลัก) ในปี2543 ใช้สัญลักษณ์ในการซื้อขายว่า GOW โดยในภายหลังก็เข้าไปจดทะเบียนซื้อขายในตลาด EURONEXT ของฝรั่งเศส ใช้สัญลักษณ์ ALGOW

เรื่องที่เกิดขึ้น เกิดอย่างรวดเร็วมาก ภายหลังจากบริษัทก็อตแทมซิตี้รีเสิร์ชซึ่งเป็นบริษัทช็อตเซลล์ คือทำการวิเคราะห์เพื่อทำการขายช็อต (วิเคราะห์ว่าหุ้นของบริษัทไหนมีราคาที่สูงกว่าที่ควรจะเป็นเมื่อเห็นแล้วก็จะยืมหุ้นจากผู้ลงทุนอื่นมาขายก่อนเมื่อราคาตกลงไปจึงซื้อเพื่อนำมาส่งมอบคืนให้ โดยได้กำไรจากส่วนต่าง) ได้ออกมาฟันธงในวันที่ 1 กรกฎาคม 2557 ว่า หุ้นของ บริษัทเล็ตสโกเว็กซ์(ขอเรียกสั้นๆว่าโกเว็กซ์) ควรจะมีมูลค่าเป็นศูนย์เพราะบริษัทมีรายได้ปลอมถึง 90% ของที่รายงาน หรืออีกนัยหนึ่งคือ บริษัทรายงานรายได้สูงกว่ารายได้จริงถึง 10 เท่า

สองวันหลังจากเผยแพร่ข้อมูลนี้ออกไป ราคาหุ้นของบริษัทโกเว็กซ์ ตกลงไปถึง 60%

โดยเมื่อข่าวนี้แพร่ออกไป ประธานเจ้าหน้าที่ บริหารของบริษัทคือนาย เฮนาโรกราเซีย มาร์ติน (Jenaro Gracia Martin) ได้เรียกประชุมพนักงานทั้งหมด และบอกว่ารายงานของ บริษัทช็อตเซลล์ผิดพลาดเขารับประกันว่า บริษัทโกเว็กซ์จะไม่ล้มหายตายจากไป เขาโวยวาย จนผู้กำกับตลาดหลักทรัพย์ของสเปนต้องสอบถามไปยังกลต.ของสหรัฐและอังกฤษว่า ก็อตแทม ซิตี้รีเสิร์ช มีที่มาเป็นอย่างไร

หุ้นของบริษัทโกเว็กซ์ถูกห้ามซื้อขายตั้งแต่ วันที่ 3 กรกฎาคม และ นายกราเซีย มาติน วัย 46 ปี ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาออกจากบริษัทในวันที่ 5 กรกฎาคม โดยคณะกรรมการของบริษัทแจ้งว่านาย กราเซีย มาร์ติน เป็น ผู้รับผิดชอบต่อเรื่องทุกๆ เรื่องแต่เพียงผู้เดียว

นายกราเซีย มาร์ติน ได้สารภาพความจริงในวันที่ 6 กรกฎาคมและบริษัทได้ยื่นขอรับการคุ้มครองจากเจ้าหนี้ภายใต้กฎหมายล้มละลายในวันเดียวกัน

จากคำให้การที่นายกราเซีย มาร์ตินให้ต่อศาลนั้นเขาได้เริ่มทำบัญชีหลอกมาตั้งแต่ปี2548 โดยใช้บริษัทที่บุคคลใกล้ชิด เช่น ภรรยาแม่บ้าน หรือ ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน เป็นกรรมการ มาทำรายการเป็นลูกค้าของบริษัทเพื่อให้บริษัทมีรายได้สูงๆ และก็อตแทมซิตี้รีเสิร์ชก็ ประมาณการถูกต้องค่ะ ว่า 90% ของลูกค้าและรายได้ที่บริษัทรายงานนั้น เป็นรายได้ที่สร้าง ขึ้นมาเอง

เมื่อสอบถามเมืองต่างๆที่บริษัทอ้างว่าได้ว่าจ้างให้บริการ WiFi ในเมือง ก็พบว่า ในบางเมือง เช่น บัวโนส แอเรส ของอาร์เจนติน่าบริษัทโกเว็กซ์ได้ไปติดต่อจริง แต่ไม่ได้บรรลุข้อตกลงใดๆ แต่โกเว็กซ์ให้ข่าวว่าได้เซ็นสัญญามูลค่า 12 ล้านยูโรกับเมืองบัวโนสแอเรสแล้ว

กรณีกรุงปารีสและแมดริด ก็พบว่าบริษัทจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับเมืองเหล่านั้นเพื่อขอโฆษณาชื่อบริษัทในรถไฟและรถบัสประจำทางทั้งสองเมืองไม่ได้ซื้อบริการไวไฟกับบริษัทแต่อย่างใด

ส่วนเมือง Gerona และAviles ก็แจ้งว่าบริษัทจ่ายเงินให้กับเมืองเป็นค่าให้บริการไวไฟและจ่ายค่าโฆษณาบริการไวไฟด้วย

ในเอกสารที่บริษัทโกเว็กซ์แจกให้กับผู้สื่อข่าวในการเปิดตัวไวไฟของเมืองไมอามีเมื่อ เดือนเมษายน 2557 บริษัทแจ้งว่าไมอามีเป็นเมืองที่สามในสหรัฐอเมริกาที่ใช้บริการไวไฟของบริษัท ถัดจาก นิวยอร์คและซานฟรานซิสโก ซึ่งเมืองนิวยอร์คให้ข้อมูลกับ ก็อตแทมซิตี้รีเสิร์ช ว่าได้ทำสัญญาจ้างมูลค่า 245,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 7.8 ล้านบาท) เพื่อให้บริการในบางส่วนของเมืองเท่านั้น

โกเว็กซ์ได้ใช้สัญญาจ้างบริการเหล่านี้ในการกู้เงินจากสถาบันการเงินมาจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆรวมถึงจ่ายภาษีจากกำไรที่ไม่มีจริงด้วยค่ะ โดยในปี 2556 บริษัทจ่ายภาษีเงินได้ไปถึง 10.6 ล้านยูโร (ประมาณ 456 ล้านบาท)

ถามว่าทำไมบริษัท ก็อตแทมซิตี้รีเสิร์ชจึงกลายเป็นผู้ค้นพบความเท็จอันนี้ ตอบว่า เพราะบริษัทช็อตเซลล์ หากขายหุ้นไปแล้วราคาหุ้นไม่ตกลงไปตามที่คาดบริษัทก็ขาดทุนเพราะต้องไปซื้อหุ้นราคาสูงมาคืนให้กับผู้ที่ให้ยืมมาขาย ทีมงานวิเคราะห์จึงใช้เวลาถึง 8 เดือน ในการวิเคราะห์หาข้อเท็จจริง รวมถึงเข้าพบและสัมภาษณ์ผู้บริหารไปพบลูกค้าของบริษัท รวมถึงพบคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน และสงสัยว่า ทำไมบริษัทโกเว็กซ์จึงมีกำไรในธุรกิจ hotspot WiFi ในขณะที่คู่แข่งเช่น iPass และ Boingo ขาดทุน

ท่านที่สนใจสามารถหาอ่านรายงาน 93 หน้าของ ก็อตแทมซิตี้รีเสิร์ชได้นะคะ เขาไม่ได้ ทำรายงานขาย และไม่ได้มีใบอนุญาตที่ปรึกษาการลงทุนในประเทศใดๆ แต่ทำเพื่อใช้เองในการเข้าทำกำไรจากการซื้อขายและขายช็อตบริษัทต่างๆเมื่อมีมูลค่าไม่เหมาะสมซึ่งคนทั่วๆ ไปมักจะมองว่าเป็นผู้ร้าย แต่ในความเป็นจริงการมีกลุ่มนักลงทุนเหล่านี้ ช่วยให้ตลาดเกิดสมดุลมากขึ้นค่ะ หากนักลงทุนเหล่านี้ทำอย่างมีจรรยาบรรณ

อย่างไรก็ดี งานนี้ ก็อตแทมซิตี้รีเสิร์ชกลายเป็นพระเอกในชั่วเวลาข้ามคืนเพราะแม้แต่กองทุนดังๆ ของโลกบางกองทุนยังเข้าลงทุนในหุ้นของ โกเว็กซ์ เพราะเชื่อในเรื่องราวที่บริษัท เผยแพร่ ซึ่งก็อตแทมซิตี้รีเสิร์ชพบว่าข่าวหลายอย่างที่เผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสจะไม่ตรงกับข้อเท็จจริงแต่ข่าวที่เป็นภาษาสเปนไม่ค่อยมีกรณีเช่นนี้

หากสนใจ ตอนนี้ยังพอหาอ่านข่าวและเอกสารของบริษัทโกเว็กซ์ได้และถ้าคลิกหา GOWEX WIFI ก็จะเห็นภาพโฆษณาสวยงามให้ download แอพพลิเคชั่น น่าตื่นเต้นเลยทีเดียว

คาดกันว่างานนี้ นายกราเซีย มาร์ติน คงจะต้องโทษจำคุกไม่น้อยกว่า 10 ปี ในฐาน ตกแต่งบัญชี และใช้ข้อมูลภายในในการซื้อขายค่ะ

นำมาเล่าเอาไว้เป็นอุทาหรณ์ว่า “ความจริงย่อมไม่ตาย”


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : โศกนาฏกรรม โกเว็กซ์ GOWEX

view