สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กฎเหล็กจัดการสภาพคล่องเอสเอ็มอี

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

สรัญญา จันทร์สว่าง



เศรษฐกิจขยับเป็นจังหวะที่ภาคธุรกิจหันกลับมารุกขยายตลาดอีกครั้ง โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม

หรือ เอสเอ็มอี ที่เผชิญ "ปัจจัยลบ" อาจต้องพักรบระหว่างทางกันไปบ้าง แม้แนวโน้มเศรษฐกิจไต่ระดับขาขึ้นเช่นเดียวกับ "กำลังซื้อ" จะเป็นสัญญาณบวกต่อการขยายฐานตลาด แต่สิ่งที่ไม่อาจละเลยได้ในทุกสภาวการณ์ คือ การบริหารจัดการสภาพคล่อง

โดยเฉพาะ "เอสเอ็มอี" ที่อาจลิงโลดกับกระแสตอบรับของ "จุดขาย" จึงให้ความสำคัญกับการมุ่งหาตลาดเพื่อสร้างยอดขายเป็นหลัก จนอาจละเลยการบริหารจัดการรายได้ที่เข้ามา หากรู้จักวางแผนการใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เพียงเป็นฐานรากที่แข็งแกร่งของกิจการ แต่สามารถ “ต่อยอด” นำสู่การขยายเครือข่ายรองรับโอกาสทางธุรกิจมากมาย วันนี้มี "กฎเหล็ก" จัดการสภาพคล่องให้เอสเอ็มอีหันกลับมาทบทวนและเตรียมความพร้อมกันอีกครั้ง

เริ่มตั้งแต่ การจัดทำงบประมาณเงินสด (Cash Budget) บันทึกทุกอย่างเกี่ยวกับ “เงิน” ทั้งรายรับ และ “รายจ่าย” จุกจิกแค่ไหนอย่าขี้เกียจ ทำงานวันนี้ ต้องบันทึกวันนี้ เพื่อความถูกต้องและไม่ล่าช้า แม้กระทั่งนั่งดื่มกาแฟรอลูกค้า หรือเลี้ยงลูกค้า คือ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มทวีคูณตามจำนวนแก้วและจำนวนครั้งที่คุณสามารถจัดการกับ “ตัวเลข” ที่ไม่พึงประสงค์นี้ได้หากมี “ฐานข้อมูล” ที่ถูกต้อง

การตรวจสถานะเงินสดของกิจการเป็นประจำ เทียบอดีต ปัจจุบัน และประมาณการอนาคต ยิ่งมี “ความถี่” ในการทำเป็นประจำได้ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน โอกาสที่จะรับรู้ความผิดพลาดย่อมเร็ว เป็นการป้องกันการ “รั่วไหล” ที่ดี

อย่าตรวจดูสถานะเงินเฉพาะในสมุดบัญชีธนาคาร หรือ ใน Bank Statement เพียงอย่างเดียว เพราะไม่ได้แสดงข้อมูลใดๆ นอกจาก “ตัวเลข” รายรับ-รายจ่ายกลมๆ เท่านั้น อย่าลืมว่าคนเรา “ความจำสั้น” คุณไม่สามารถจดจำรายละเอียดทั้งหมดได้แม้จะผ่านไปเพียงวันเดียว ฉะนั้นกลับไปเริ่มต้นกฎเหล็กตั้งแต่ข้อแรกอย่างเข้มงวด

หัวใจในการดำเนินธุรกิจเอสเอ็มอี คือ เงินสด ไม่ใช่กำไร หรือ ตัวเลขทางบัญชี ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องโฟกัส “เฉพาะหน้า” ชนิด “วันต่อวัน” ให้ดีที่สุด ด้วยความเป็นกิจการขนาดเล็ก สายป่านสั้น หากรายได้ไม่เข้าเพียงวันเดียวตอบตัวเองให้ได้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับกิจการของคุณ!!!???

อย่าให้เงินสดขาดมือ ควรสำรอง “เงินสดขั้นต่ำ” เผื่อกรณี “ฉุกเฉิน” สามารถคาดการณ์เงินสดสุทธิ ระยะ 3 เดือน 6 เดือน 1 ปีข้างหน้าได้ พร้อมๆ กับ บวกลบคูณหาร ค่าใช้จ่ายคงที่ ค่าใช้จ่ายแปรผัน แผนการลงทุนเพิ่มเติม การขยายหรือต่อยอดกิจการ

ปัญหาทางการเงินในวันนี้เกิดจากปัญหา “สะสม” ที่ไม่ได้รับการแก้ไข ดังนั้นเมื่อพบปัญหาทางการเงินเพียงน้อยนิด ต้องจัดการแก้ไขในทันที อย่าให้กลายสภาพเป็น “ลูกหนี้ที่ขาดส่ง” เพราะหมายถึงเครดิตที่จะมีผลต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคตเลยทีเดียว

ปัญหาการเงินแก้ไขได้ด้วยการ “เจรจา” ซึ่งเป็นวิธีการแรกที่ผู้ประกอบการควรต้องกระทำมากที่สุดหากสภาพคล่องเริ่มสะดุด รายรับเข้าน้อยลง น้อยลง อาจขอความอนุเคราะห์จากเจ้าหนี้ “จ่ายน้อยลง” กว่าปกติ หรือ ยืดเวลาชำระหนี้ออกไป เพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้บานปลาย

ไม่ตามกระแส และไม่ลงทุนเกินตัว ข้อนี้สำคัญ เมื่อเกิดเทรนด์ธุรกิจฮอตฮิตในตลาดย่อมกระตุ้นต่อมความสนใจของผู้ประกอบการ “ลองดู-ลองทำ” อย่าได้คิดเป็นอันขาดหากไม่ใช่ “รายแรก” ในการเปิดตลาด แม้กิจการเดิมจะไปได้สวย มีเงินสดพร้อมลงทุน แต่หากไม่ใช่ธุรกิจที่เชี่ยวชาญ คือ การลงทุนที่เกินตัว เกินกำลัง นั่นเอง

ในวันที่ธุรกิจหลัก “เข้มแข็ง” สถานะทางการเงิน “แข็งแกร่ง” ไม่ยากที่เอสเอ็มอีจะตีปีกขยายอาณาจักรสู่ธุรกิจขนาดกลาง และก้าวสู่บริษัทยักษ์ใหญ่ตามลำดับไป


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กฎเหล็ก จัดการสภาพคล่อง เอสเอ็มอี

view