สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โกงไป ก็ไม่ได้กำไร

โกงไป ก็ไม่ได้กำไร

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




งานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2014 เพิ่งจบลงไปหมาดๆเมื่อวันพุธที่ผ่านมา

ใครที่ไปชมก็คงเห็นว่า สวยทั้งรถ สวยทั้งคน และทำให้ได้อารมณ์สดใสกันไปทั่วหน้า วันนี้ ผมเลยอยากจะเล่าเรื่องเกี่ยวกับรถยนต์ให้ฟัง เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ

เวลาที่ใครจะตัดสินใจซื้อรถยนต์สักคัน ย่อมมีข้อมูลมากมายที่ต้องใช้ในการพิจารณา เพราะว่าเป็นการลงทุนก้อนใหญ่ และยังจะเกิดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามมาอีกมากมายในอนาคต เช่นค่าซ่อมบำรุง และ ค่าน้ำมัน เป็นต้น

“กี่กิโลลิตร?” เป็นคำถามสำคัญคำถามหนึ่ง ซึ่งผู้ผลิตรถยนต์จะต้องให้คำตอบกับผู้ซื้อว่า รถยนต์รุ่นต่างๆที่ผลิตออกมาจำหน่ายนั้น จะขับเคลื่อนไปได้ระยะทางกี่กิโลเมตร ต่อการใช้น้ำมันหนึ่งลิตร ซึ่งถ้าเป็นประเทศที่ใช้ระบบ ไมล์กับแกลลอน ก็ใช้เป็นว่า “ไมล์ต่อแกลลอน” หรือ “mpg”

ก่อนที่จะมีงานมอเตอร์โชว์ของไทยเพียงไม่กี่วัน คือเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2557 ผู้ผลิตรถยนต์ของเกาหลีสองราย ได้แก่ ฮุนได และ เกีย ต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินให้แก่ทางการของสหรัฐ รวมเป็นเงินถึง 360 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 11,500 ล้านบาท เพื่อเป็นการรับผลแห่งความผิดพลาดที่ได้เกิดขึ้น ในเรื่อง “ไมล์ต่อแกลลอน” ที่เกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน

สองปีก่อนหน้านั้น เดือนพฤศจิกายน 2555 “สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของอเมริกา” (EPA) แถลงว่าตามที่บริษัททั้งสอง ได้ประกาศว่ารถยนต์ของบริษัทรุ่นต่างๆ มีอัตราการใช้งานได้กี่ไมล์ต่อแกลลอนนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ใช่ความจริง เพราะในความเป็นจริงก็คือ อัตราการใช้งานน้อยกว่าที่บริษัทได้ประกาศไว้

เหตุทั้งหลายทั้งปวง ก็เริ่มมาจากมีองค์กรปกป้องผู้บริโภคแห่งหนึ่ง ได้ร้องเรียนต่อ EPA เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ว่าทั้งสองบริษัทโฆษณาเกินจริง ดังนั้น EPA จึงทำการสอบสวน และผลก็คือ ฮุนได กับ เกีย ยอมรับด้วยดีว่า เป็นความผิดพลาดจริง แต่เป็นเรื่องของข้อผิดพลาด ที่เกิดจากกระบวนการทดสอบสมรรถนะของเครื่องยนต์ ภายในห้องทดลองของบริษัทเอง ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจหลอกลวงผู้บริโภค

“ผมรู้สึกเสียใจ และขอโทษอย่างจริงใจ ต่อท่านผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบครั้งนี้ และทางบริษัทจะแก้ไขกระบวนการทดสอบสมรรถนะให้ถูกต้องโดยเร็วที่สุด” ดร. เค ซี แยง หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาของ ฮุนไดและเกีย (ซึ่งเป็นบริษัทแม่-ลูกกัน) แถลงต่อสื่อมวลชน

ด้วยข้อผิดพลาดดังกล่าว ระหว่างสองปีที่ผ่านมา ฮุนได และ เกีย จึงต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อผู้บริโภค เพราะสามารถคำนวนออกมาได้ว่าการที่ผู้บริโภคซื้อรถยนต์ ฮุนได และ เกีย รุ่นต่างๆไป โดยเชื่อว่าตัวเลข mpg ที่บริษัทได้ให้ไว้นั้นถูกต้อง เมื่อไม่ใช่ความจริง จึงเกิดความเสียหาย เพราะเจ้าของรถ ต้องจ่ายค่าน้ำมันมากกว่าที่คาดไว้เมื่อวันที่ได้ตัดสินใจซื้อ ความเสียหายของแต่ละคน ก็แตกต่างกันไป ต้องคำนวณออกมาว่าซื้อรถยนต์รุ่นใด เมื่อไร ใช้ไปแล้วกี่ไมล์ ราคาน้ำมันในขณะที่ใช้นั้น ราคาแกลลอนละเท่าใด ฯลฯ

รถยนต์ทั้งสองยี่ห้อ ที่จำหน่ายในทวีปอเมริกาเหนือ และได้รับผลกระทบจากความผิดพลาดครั้งนี้ มีจำนวน 1.1 ล้านคัน และในจำนวนนี้ เป็นรถยนต์ฮุนได และรถยนต์เกีย รุ่น 2011-2013 ที่จำหน่ายในอเมริกา จำนวน 600,000 คัน และ 300,000 คัน ตามลำดับ โดยที่ฮุนได และ เกีย ยอมเปลี่ยน mpg ของรถยนต์รุ่น 2012 หลายรุ่นให้ลดลงมาตามความจริง ซึ่งบางรุ่นก็ลดลงเพียง 1 ไมล์ต่อแกลลอน แต่บางรุ่นก็ปรับลดลงถึง 6 ไมล์ต่อแกลลอน แต่โดยเฉลี่ยรวมทุกรุ่นแล้ว ก็ลดลงมาจาก 27 ไมล์ต่อแกลลอน เป็น 26 ไมล์ต่อแกลลอน หรือ ลดลง 3.7%

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดครั้งนี้ มีหลากหลายมิติด้วยกัน ประการแรก ฮุนได และ เกีย ได้จ่ายค่าเสียหายให้แก่ผู้ซื้อรถยนต์ ไปแล้ว 395 ล้านดอลลาร์ ประการต่อมา คู่แข่งยังกล่าวหาว่า การประกาศ mpg ที่สูงกว่าความจริง ทำให้คู่แข่งเสียเปรียบ จากการจำหน่ายรถยนต์ได้น้อยลง ซึ่งทางการก็เห็นด้วย ดังนั้น เมื่อเดือนที่แล้ว EPA จึงสั่งให้ทั้งสองบริษัท ต้องเสียค่าปรับ 100 ล้านดอลลาร์ ยึดคืนเงินเครดิตที่บริษัทเคยได้รับในเรื่องอัตราการปล่อยสารคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ อีก 210 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งบริษัทถูกสั่งให้ว่าจ้างสำนักงานตรวจสอบอิสระ เพื่อตรวจสอบระบบการทดสอบที่บกพร่อง อีก 50 ล้านดอลลาร์ ฯลฯ

รวมจิปาถะแล้ว ฮุนได กับ เกีย ต้องเสียเงินประมาณ 750 ล้านดอลลาร์ หรือ 24,000 ล้านบาท สำหรับความผิดพลาดครั้งนี้

จะว่าไป ทั้งฮุนไดและเกีย ก็ยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดจากห้องทดลองของบริษัท และไม่ได้มีเจตนาหลอกลวงใคร ซึ่งเจ้าหน้าที่ของ EPA และกระทรวงพลังงานของอเมริกา ก็เชื่อว่าเป็นเช่นนั้น นอกจากนั้น เมื่อปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตอีกรายหนึ่ง คือ ฟอร์ด มอเตอร์ ก็ออกมาขอปรับลด mpg สำหรับรถยนต์บางรุ่นลง ตั้งแต่ 4-7 ไมล์ต่อแกลลอน แล้วก็ต้องจ่ายค่าเสียหาย ให้แก่ผู้ที่ซื้อรถยนต์ ไปแล้วเช่นกัน โดยบริษัทแถลงว่า ได้ค้นพบข้อผิดพลาดด้วยตัวเอง และขอโทษลูกค้าด้วย

แต่จะอย่างไรก็ตาม ในกรณีของฮุนได และ เกีย นั้น เจ้าหน้าที่ของทางการ ก็มีหน้าที่ต้องปกป้องผู้บริโภค และควบคุมให้มีการแข่งขันภายใต้กติกาที่เป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย ดังนั้น เมื่อฮุนได กับ เกีย โดนปรับไปเรียบร้อยแล้ว ก็ยังได้รับของแถมติดปลายนวมมาอีก เมื่อเจ้าหน้าที่ EPA คนหนึ่งกล่าวว่า “นี่คือบทพิสูจน์ว่า การหลอกลวงนั้น ไม่ทำให้ได้กำไร”


เอาเถอะ เมื่อทำผิดไปแล้ว ก็ต้องรับผลแห่งความผิดพลาด ซึ่งถือว่ายุติธรรมดี แต่อย่างน้อยก็ต้องชมเชยว่าเขาไม่ได้ตั้งใจ และยอมรับผิดชอบทุกอย่างด้วยดี ต่างกับนักธุรกิจบางราย ที่อาจจะมีความตั้งใจ และเมื่อถูกจับได้ว่าทำผิด ก็ยังหาวิธีตะแบงๆไปเรื่อยๆ อย่างนี้ถือว่าใช้ไม่ได้


จึงขอสำทับอีกครั้งว่า “โกงไป ก็ไม่ได้กำไร!” ถ้าใครได้ยินแล้วรู้สึก “สะดุ้ง”....ก็ปรับเปลี่ยนนิสัยได้แล้วนะ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : โกง ไม่ได้กำไร

view