สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เรวัติ ตันตยานนท์



ผู้ประกอบการที่แตกต่างจากทั่วไปคือคนคิดริเริ่มสร้างธุรกิจที่ต้องใช้ความรู้หรือเทคโนโลยีมาสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่

เป็นที่แน่นอนว่า กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้เฉพาะในด้านใดด้านหนึ่งมาก่อนแล้ว ก่อนที่จะตัดสินใจนำความรู้เหล่านั้น มาสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิชย์

ในต่างประเทศ ธุรกิจนวัตกรรมประเภทนี้ จะถูกเรียกว่าเป็น ธุรกิจไฮเทค (high-technology firms) หรือ ธุรกิจเริ่มใหม่ที่ใช้พื้นฐานด้านเทคโนโลยี (NTBFs - new technology-based firms) ที่จุดเริ่มต้นของธุรกิจ มักจะเป็นบริษัทขนาดเล็ก แต่มีความชำนาญเฉพาะด้านสูง

โดยที่ผู้ก่อตั้งธุรกิจ จะเป็นผู้สร้างและบริหารธุรกิจด้วยตนเอง และเป็นผู้ที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีทันสมัยในด้านใดด้านหนึ่งมาก่อนแล้ว บริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่ มีวัตถุประสงค์ที่จะแสวงหาโอกาสทางการตลาดด้วยความรู้ด้านวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีที่เหนือกว่า เป็นบริษัทที่เป็นอิสระ ไม่เป็นบริษัทย่อยของบริษัทอื่น และบริหารจัดการด้วยผู้ก่อตั้งหรือกลุ่มผู้ใกล้ชิดที่มีความรู้ในระดับที่ใกล้เคียงกันจำนวนไม่มาก

ต้นแบบของแนวคิดธุรกิจนวัตกรรม เกิดจากการที่นักวิจัยหรืออาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่มีหน้าที่ค้นคว้าหาวิทยาการใหม่ๆ เห็นประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ของผลงานการวิจัยของตัวเอง จึงตัดสินใจพลิกผันตัวเองออกมาเป็นเจ้าของธุรกิจเอง (เรียกว่า spin-offs)

ในบางครั้ง spin-offs เหล่านี้ ยังคงได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยต้นสังกัด เช่น ยังให้คงสภาพเป็นอาจารย์หรือนักวิจัยอยู่ หรือ เข้าร่วมลงทุนในการก่อตั้งบริษัท เป็นต้น

มีการศึกษาว่า องค์ประกอบที่จะเอื้อให้นักธุรกิจนวัตกรรมเหล่านี้สามารถประสบความสำเร็จเชิงพาณิชย์ได้ เกิดขึ้นจากภูมิหลังหรือประสบการณ์ของผู้ก่อตั้งบริษัทเป็นอย่างมาก

ภูมิหลังหรือประสบการณ์เหล่านี้ อาจแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

กลุ่มที่มีอดีตเป็นนักวิจัยหรือนักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยี ทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัยต่างๆ อาจมีพื้นความรู้ด้านการบริหารธุรกิจมาบ้างแล้ว

กลุ่มที่มีอดีตเป็นพนักงานหรือผู้บริหารในโรงงานอุตสาหกรรมมาก่อน ส่วนใหญ่จะมีหน้าที่รับผิดชอบในด้านงานพัฒนาคุณภาพของสินค้า หรือการพัฒนากระบวนการผลิต องค์ความรู้เกิดขึ้นในตัวเองจากการลงมือทำจริง เคยเห็นทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวในความพยายามของการพัฒนาสินค้าหรือระบบการผลิตมาแล้ว

กลุ่มที่มีอดีตต้องเกี่ยวข้องกับตลาด ผู้บริโภค หรือเป็นผู้ใช้สินค้า เทคโนโลยี หรือเป็นผู้รับบริการโดยตรง เป็นผู้ใช้หรือผู้บริโภคที่มองเห็นความต้องการที่ยังไม่ได้รับการสนองตอบ จึงริเริ่มที่จะสร้างธุรกิจขึ้นมาเพื่อนำเสนอความต้องการนั้นๆ ด้วยตนเอง โดยเริ่มต้นมักจะมุ่งไปที่กลุ่มลูกค้าจำนวนไม่มาก แต่มีความต้องการที่ตรงกัน และยินดีที่จะจ่ายแพงขึ้นเพื่อได้รับคุณสมบัติของสินค้าหรือบริการที่ไม่สามารถหาได้ในท้องตลาดทั่วไป

กลุ่มผู้ประกอบการที่มองเห็นโอกาสเชิงพาณิชย์ แม้ว่า ตนเองจะไม่มีพื้นความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หรือเชี่ยวชาญในด้านการตลาด มาก่อน แต่เป็นผู้มีวิสัยทัศน์ มองเหตุการณ์ไปในอนาคต และพร้อมที่จะรับความเสี่ยงหากความคิดของตนเองไม่ประสบความสำเร็จ

นอกจากภูมิหลังหรือประสบการณ์ส่วนตัวแล้ว ยังมีผู้ศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยเอื้ออื่นๆ ที่จะทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมประสบความสำเร็จ

ปัจจัยเอื้อเหล่านี้ ได้แก่

บุคลิกภาพส่วนตัว มักจะเป็นผู้ที่มีความพยายามสูง ต้องการประสบความสำเร็จ และมีความกระตือรือร้นต่อสิ่งที่ตนเองสนใจอย่างจริงจัง

สภาวะทางครอบครัว จะต้องได้รับการสนับสนุนจากคู่สมรส ไม่มีความขัดแย้งทางครอบครัว และอาจยังไม่มีลูก หรือมีลูกเพียง 1 หรือ 2 คนเท่านั้น

สถานะทางสังคม มักจะเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาถึงระดับมหาวิทยาลัย บางครั้งพบว่าหากมีผู้ปกครองเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยหรือเป็นนักวิจัย ก็จะเป็นปัจจัยเสริมอย่างดี ส่วนใหญ่จะอยู่ในครอบครัวชนชั้นกลาง

ประสบการณ์ในการทำงาน หากต้องเกี่ยวข้องหรือเคยประสบกับสถานการณ์เช่น ความขัดแย้ง ความหงุดหงิด ความซ้ำซ้อน ในการทำงาน ก็จะเป็นปัจจัยเสริมผลักดันให้ต้องออกมาประกอบธุรกิจของตนเองได้

มีแหล่งสนับสนุนทางการเงิน เช่น ฐานะของผู้ปกครองหรือญาติสนิทดีพอที่จะให้การสนับสนุนทางการเงิน การเข้าถึงแหล่งเงินสนับสนุนจากภาครัฐ หรือการได้รับรางวัลต่างๆ จากการประกวดความคิดสร้างสรรค์ การประกวดสิ่งประดิษฐ์ หรือการประกวดนวัตกรรม

ความเชื่อมโยงกับแหล่งเทคโนโลยี บริษัทตั้งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการพัฒนาและแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีทันสมัย หรือสภาพแวดล้อมแห่งความคิดสร้างสรรค์ โอกาสในการเข้าถึงข้อมูล หรือการได้รับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

ความใกล้ชิดกับตลาดและผู้บริโภค โดยเฉพาะความใกล้ชิดกับตลาดเป้าหมายหรือกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และมีบรรยากาศของการสร้างสัมพันธ์กับตลาดได้ดี

เป็นที่แน่นอนว่า ความสำเร็จในการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม ไม่ได้เกิดขึ้นจากโชคแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะมีที่มาที่ไปอย่างเป็นระบบพอสมควร ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างของผู้ประกอบการในประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่แม้จะเริ่มจากการเป็นบริษัทขนาดเล็ก แต่ก็สามารถประสบความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของคนในโลกได้อย่างกว้างขวาง

ความสำเร็จของนวัตกรรมไม่ใช่จะต้องพึ่งแต่ “โชค” หรือ ความ “เฮง” แต่เพียงอย่างเดียว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม

view