สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดมุมคิดคนวงการแบงก์ สู่วิถี ธนาคารที่ยั่งยืน

จากประชาชาติธุรกิจ

ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) ที่อยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีทั้งสิ้น 29 แห่ง แบ่งเป็นธนาคารที่จดทะเบียนในประเทศ 17 แห่ง ธนาคารต่างประเทศ 12 แห่ง มีสินทรัพย์รวมกันทั้งระบบ 16.7 ล้านล้านบาท (ข้อมูล ณ ม.ค. 2558) รับเงินฝาก 11.7 ล้านล้านบาท เงินให้สินเชื่อสุทธิ (ปล่อยกู้) 10.7 ล้านล้านบาท เรียกได้ว่าสินทรัพย์ของแบงก์มีมูลค่ามากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เกือบ 38%

นับว่าแบงก์มีบทบาทอย่างสำคัญในการสร้าง "ความมั่งคั่ง" และ "สนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ" ของประเทศ

ขณะเดียวกัน ในศตวรรษที่ 21 ที่เรากำลังใช้ชีวิตกันอยู่นี้ ยังเกิดแนวคิด "การธนาคารเพื่อความยั่งยืน" หรือ Banking for Sustainability ซึ่งมี 2 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ 1) การจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ด้วยการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์และการปล่อยสินเชื่อ และ 2) การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่สนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สร้างประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมพร้อมกับสร้างโอกาสใหม่ ๆ เช่น ธุรกิจพลังงานสะอาด ไมโครไฟแนนซ์ เป็นต้น

แล้วเมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา บริษัทป่าสาละ จึงจัดเสวนาคนในแวดวงแบงก์ เรื่อง "การธนาคารที่ยั่งยืนในประเทศไทย"

เริ่มที่มุมมองของ "คนกลาง" ที่ทำหน้าที่เก็บข้อมูลเครดิตของลูกหนี้ในระบบ "สุรพล โอภาสเสถียร" ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโรกล่าวว่า แบงก์ถูกสร้างมาจากความไว้วางใจและความเชื่อมั่น ดังนั้น แบงก์จึงมีพลังอย่างมากที่จะเป็นตัวกลางจาก 2 ฝั่งนี้ และการทำธุรกิจของแบงก์นอกจากจะรับฝากเงินแล้ว อีกด้านก็ต้องคืนให้ผู้ฝากเมื่อถูกทวงถามด้วย

"ด้านหนึ่งแบงก์ก็เป็นธุรกิจที่ทำกำไร แต่อีกด้าน แบงก์ปัจจุบันก็พยายามให้เงินกู้คู่ความรู้ด้วย เพราะแบงก์ตระหนักว่าลูกหนี้ที่มีวินัยย่อมทำให้ผลประกอบการดี"

โดยเล่าถึงสถานการณ์ "หนี้ครัวเรือน" ซึ่งเป็นประเด็นฮอตในวงการแบงก์ไทยเวลานี้ว่า หนี้ครัวเรือนเมื่อสิ้นปี 2557 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 10.43 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 7% จากระดับ 9.79 ล้านล้านบาท เมื่อสิ้นปี 2556 ซึ่งทำให้มนุษย์เงินเดือนจำนวนมากเป็น "เศรษฐีเงินแวบ" พอเงินเดือนออกต้องไปทำบุญ 9 แบงก์ เร่งคืนเงินกู้บัตรเครดิต และอื่น ๆ

ขณะที่แบงก์หลายแห่งก็รุกเข้าไปทำการตลาดสินเชื่อบัตรเครดิตกับคนรุ่นใหม่เจเนอเรชั่นวาย ซึ่งเป็นกลุ่มที่พร้อมจะใช้จ่าย ดังนั้นเขาจึงฝากว่า การจะทำโปรดักต์การเงินใหม่ ๆ ออกมา ก็ต้องคำนึงถึงกลุ่มลูกค้าด้วย เพราะผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินมีทั้งด้านดีและด้านเสีย

"ผลิตภัณฑ์และการบริการทางการเงินเป็นทั้งเรื่อง Good และ Bad การกระตุ้นให้ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์การเงิน โดยที่ไม่ให้ความรู้เขา ไม่สอนให้เขาใช้เป็น จึงเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง" สุรพลกล่าว

ขณะที่ "ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ฉายภาพธุรกิจแบงก์ว่า การแข่งขันธุรกิจแบงก์ยิ่งเยอะ การทำธุรกิจก็ยิ่งยาก เพราะแบงก์ต้องคิดถึง Bottom Line (กำไร) แต่แบงก์ที่คิดถึงความยั่งยืนของแบงก์ คือความยั่งยืนของลูกค้า คู่ค้า และสังคมก็มี

โดยยกตัวอย่างธนาคารกรุงเทพว่า จะให้เป้าหมาย (Target) ยอดขายเป็นรายสาขา ไม่ใช้รายบุคคล เพื่อป้องกันการ Force Sell (บังคับขาย) บีบให้พนักงานขายในสิ่งที่ไม่อยากขาย

"เราเห็นว่าการบังคับขายในระยะยาวจะเป็นปัญหา และลูกค้าก็จะเกิดความคลางแคลงใจว่า ทำเพื่อประโยชน์แบงก์หรือประโยชน์ลูกค้า หรือการออกผลิตภัณฑ์เงินฝาก เราก็จะต้องบอกอัตราดอกเบี้ยรับเฉลี่ยรายเดือนให้ชัดเจน ไม่ใช่ฝาก 7 เดือน ดอกเบี้ย 7% แต่ให้ 7% ในเดือนที่ 7 ซึ่งการบอกไม่ชัดเจนอย่างนี้ อาจเรียกว่าเป็นการหาประโยชน์จากความไม่รู้ของลูกค้า"

นอกจากนี้ เขาให้ความเห็นว่า ผลิตภัณฑ์การเงินในปัจจุบันอาจจะเน้นให้คนกู้มากกว่าออม แต่ก็หวังว่ากลไกจากกองทุนการออมแห่งชาติ ที่กำลังเกิดขึ้นจะมีบทบาทให้คนออมมากขึ้น เพราะมีผลการศึกษา พบว่า ถ้าให้คนจนออมวันละบาท เขาทำได้ แต่ถ้าออมวันละ 30 บาท ทำไม่ได้ แล้วถ้าออมแล้วกู้ได้ ก็จะสร้างทางเลือกในชีวิตเขาได้ เช่น กรณีของสัจจะออมทรัพย์ทำ ซึ่งหนุนให้คนออมก่อนกู้

ขณะที่ "ธัญญพงศ์ ธรรมาวรานุคุปต์" รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจรายย่อยและเครือข่าย ธนาคารกรุงไทย เล่าประสบการณ์ในฐานะผู้พัฒนาไมโครไฟแนนซ์ หรือสินเชื่อเพื่อรายย่อย สำหรับพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสด ที่ไม่มีหลักประกันว่า การทำให้ลูกค้าเหล่านี้เป็นผู้กู้ที่มีศักยภาพในการชำระหนี้ได้ว่าต้องอาศัย 3 เงื่อนไข 1) ต้องให้ความรู้ทางการเงินกับผู้กู้ 2) ต้องสร้างวินัยการเงิน และ 3) ต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้ผู้กู้มีเงินแล้วมาชำระหนี้

ถ้าทำ 3 เรื่องนี้ได้ก็จะทำให้การประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยมีผลสำเร็จ ทำให้พ่อค้าแม่ค้า คนที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อ มีเงินไปหมุนเวียนในการประกอบอาชีพได้

แต่ที่แน่ๆ ก่อนจะกระตุ้นให้ "กู้" แบงก์ก็ต้องรับผิดชอบสังคมด้วยการกระตุ้นให้ "ออม" ด้วย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เปิดมุมคิด คนวงการแบงก์ สู่วิถี ธนาคารที่ยั่งยืน

view