สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กิจการไอซีทีในการผลิตและการค้าขาย

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ เรื่องเล่าซีอีโอ โดย วิชัย เบญจรงคกุล

ไอทีได้เข้ามามีส่วนช่วยในกระบวนการผลิตและการค้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำในการดำเนินการของขั้นตอนต่าง ๆ ซึ่งในยุคแรกก็มักจะใช้วิธีนำ Best Practice ด้านไอทีในแต่ละแห่งนำไปใช้ในสถานที่อื่นของกลุ่มผู้ผลิตและผู้ค้าเดียวกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพที่เสมือนกันหรืออย่างน้อยใกล้เคียงกันในแต่ละสถานที่

ซึ่งในยุคแรกบางครั้งเรามักจะพบปัญหาว่าแต่ละสาขาที่มีสถานที่ห่างไกลกันอาจไม่ยอมใช้ระบบไอทีที่เหมือนกัน ด้วยสาเหตุของงบประมาณหรือการที่ขาดแคลนผู้ดูแลอุปกรณ์และระบบของสินค้าไอทีนั้น ๆ ในสถานที่อื่น ๆ ทำให้หลาย ๆ ครั้งก็จะพบความยุ่งยากในการนำ Best Practice หรือซอฟต์แวร์เดียวกันไปใช้เหมือนกันได้ เพราะหลาย ๆ ระบบจะไม่มีมาตรฐานรองรับเหมือนกันทีเดียว



ต่อมาเมื่อระบบไอทีถูกพัฒนาให้มีความสามารถในการเชื่อมต่อเข้าหากันได้มากขึ้น หรือแม้แต่การที่มีการนำมาตรฐานต่าง ๆ ของอินเทอร์เน็ตมาใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างระบบไอที การใช้ภาคสื่อสารมีความสำคัญมากขึ้นจนกระทั่งเรื่องของการที่มีระบบแบบ Stand Alone เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากคิดหรือใช้เป็นจุดขาย เพราะระบบไอทีไม่เพียงแต่ต้องสามารถใช้ได้ดีในสถานที่เดียวของที่ทำการของกิจการ แต่ต้องใช้ได้ดีในทุกสถานที่ของกิจการ การหลอมรวมของระบบไอทีและระบบสื่อสารทำให้เกิดการเชื่อมต่อแบบแยกไม่ออกของไอซีที เมื่อระบบสื่อสารคือส่วนเชื่อมที่สำคัญของการใช้ระบบไอทีให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ดี ไอซีทีก็คงเป็นส่วนเสริมหรือส่วนช่วย (ตัวสำคัญ) ของภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นสายการผลิตหรือการค้าขายก็ตาม

กิจการไอซีทีด้วยตัวมันเองก็มีความซับซ้อน เพราะนอกจากต้องรู้จักกระบวนการทำงานของผู้ใช้จากทุกภาคส่วนของกิจการและธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่การออกแบบสินค้า การผลิต การขนส่ง การกระจายสินค้า การขาย การบริการ และการซ่อมบำรุงรักษา รวมทั้งการเก็บข้อมูลต่าง ๆ ของลูกค้า ซึ่งล้วนแต่ใช้ไอซีทีมาช่วยในกระบวนการของขั้นตอนต่าง ๆ ทั้งสิ้นในทุกวันนี้

มีคนเคยถามว่าวันนี้ใครใช้ไอซีทีในการช่วยกิจการมากที่สุดตั้งแต่ ต้นน้ำจนปลายน้ำของสินค้า คำตอบ คือ ทุกคนและในทุกขั้นตอน ดังนั้นหากจะมอบให้ใครคนใดคนหนึ่งในกระบวนการเป็นผู้ที่กำหนดนโยบายไอซีที หรือรับผิดชอบในการพัฒนาการบริการของไอซีทีเพื่อสนับสนุนคนทั้งกระบวนการ นั้น ต้องยอมรับว่าเป็นไปไม่ได้ ผู้ใช้ไอซีทีในแต่ละขั้นตอนของกิจการจากต้นน้ำจนปลายน้ำนั้น ล้วนมีความต้องการเฉพาะตัว และจะเข้าใจในเฉพาะเรื่องของที่ตัวเองทำอยู่

เมื่อถามว่าในบริบทของนโยบายดิจิทัลที่รัฐบาลกำลังผลักดันอยู่นั้น หน่วยงานภาคเอกชนหรือรัฐที่ดูแลด้านไอซีทีสามารถจะใช้บุคลากรและความรู้ของแค่ภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งของกระบวนการมาให้คำแนะนำ หรือช่วยขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลที่อาศัยไอซีทีเป็นตัวเชื่อมและขับเคลื่อนได้ไหม คำตอบก็คือไม่ได้เช่นเดียวกัน ทั้งผู้ประกอบการไอซีที ผู้ประกอบการภาคการผลิต ภาคการค้า และภาคบริการ ต้องร่วมมือกันทำงาน เราจึงจะได้แนวการทำงานที่สมบูรณ์

การขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจที่ต้องครอบคลุมทุกขั้นตอนของกระบวนการภาคเศรษฐกิจ ต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์จากแต่ละขั้นตอนมาร่วมมือกันขับเคลื่อน สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หรือแม้แต่สมาคมสมาพันธ์ไอซีทีเองก็ไม่สามารถจะนำองค์ความรู้ของตัวเองที่รู้ลึกในเรื่องของกิจการของตัวเองมาใช้ในการอ้างอิงได้ดีเท่า

หากทุกฝ่ายร่วมมือกัน ตั้งแต่กลุ่มผู้ออกแบบหรือเจ้าของสินค้าและบริการ กลุ่มที่อยู่สายการผลิตหรือผู้รับจ้างผลิตสินค้าและบริการ และกลุ่มที่อยู่ในการกระจายสินค้าสู่ตลาดจนถึงผู้ซื้อสินค้าและใช้บริการ รัฐบาลจะได้สามารถผลักดันความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลได้อย่างเป็นรูปธรรมเร็วขึ้น

ผมเป็นห่วงครับว่าหากปล่อยเป็นหน้าที่ให้เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเองที่กระทรวงหรือรัฐบาลไปฝากความหวังไว้ และกลุ่มนั้น ๆ ขาดความรู้ความชำนาญที่แท้จริง ก็จะสามารถทำให้การดำเนินการล้มเหลวได้ และจะเกิดความเสียหายหลายอย่างตามมา จะดีกว่าถ้าเรารู้ 360 องศา และทำให้ครอบคลุม 360 องศา แต่ถ้ามองเรื่องนี้จากเพียงมุมมองเดียว เราจะพลาดภาพจริงและเรื่องจริงไปได้ครับ

ขอฝากท่านที่มีพลังในการกู้ชาติโปรดพิจารณาด้วยครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กิจการไอซีที การผลิต การค้าขาย

view