สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปลี่ยนคนไทยให้ รวยก่อนแก่

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...อนัญญา มูลเพ็ญ / ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์

ในขณะที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ส่วนหนึ่งมีแนวคิดจะเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้มีการตั้งกาสิโนคอมเพล็กซ์ขึ้นในประเทศไทย เพื่อให้เงินจากนักพนันที่นำไปเล่นที่บ่อนนอกประเทศกลับมาหมุนเวียนกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

แต่มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ก็เสนอประเด็นให้ผู้ที่กำลังปฏิรูปประเทศไทยช่วยคิดถึงปัญหาที่ไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบในปี 2568 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งมีแนวโน้มว่าคนไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุที่เต็มไปด้วยคน “แก่ก่อนรวย” แตกต่างจากประเทศพัฒนาแล้วอย่างเช่น ญี่ปุ่น กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย ที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแต่มีจำนวนคน “รวยก่อนแก่” มากกว่า

“สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานทีดีอาร์ไอ ระบุว่า ในปี 2568 ถ้าประเทศไทยยังติดอยู่กับการเป็นประเทศรายได้ปานกลางโดยไม่มีการปรับแนวทางการพัฒนาประเทศ ปล่อยให้เศรษฐกิจขยายตัวโดยเผชิญกับความเสี่ยงทั้งภัยธรรมชาติ ปัญหาการเมือง รวมถึงเศรษฐกิจโลกซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศแรกในเอเชียที่จะเข้าสู่สังคมสูงอายุก่อนการพัฒนาและมีรายได้สูง หรือ “แก่ก่อนรวย” อย่างแน่นอน

การรายงานข้อมูลของทั้งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ก็สอดรับกับการแสดงข้อกังวลดังกล่าว โดยข้อมูลประชากรล่าสุด ณ ปี 2556 พบว่าจากประชากรของประเทศไทยที่มีอยู่ 64.78 ล้านคนนั้น มีจำนวนผู้สูงอายุตามคำจำกัดความขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) อยู่ประมาณ 10.7% โดย สศช.ระบุว่า การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทยเป็นไปอย่างรวดเร็วและเร็วกว่าประเทศพัฒนาแล้ว

โดยจากประสบการณ์ของต่างประเทศพบว่า ประเทศที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก่อนประเทศไทยจะมีระดับรายได้ต่อหัวที่สูงกว่า เช่น เกาหลีใต้และสิงคโปร์มีรายได้ต่อหัว 10,160 และ 23,420 เหรียญสหรัฐ ตั้งแต่ปี 2542 ส่วนไทยในปี 2557 ที่ผ่านมามีรายได้ต่อหัว 5,480 เหรียญสหรัฐ เป็นประเทศรายได้ปานกลางขั้นสูง (upper-middle Income)

“การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปจาก 7% เป็น 14% ของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะใช้เวลาค่อนข้างยาวนานหลายสิบปี เช่น อังกฤษใช้เวลา 45 ปี และฝรั่งเศสใช้เวลา 115 ปี ขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะมีระยะเวลาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรดังกล่าวค่อนข้างสั้นกว่า โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาเพียง 22 ปี สะท้อนถึงการที่ประเทศไทยมีระยะเวลาในการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุที่สั้นกว่าประเทศพัฒนาแล้วค่อนข้างมาก” รายงานของ สศช. ระบุ

อย่างไรก็ตาม การประเมินช่วงปีของการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (ประชากรวัย 65 ปี มีสัดส่วน 14% ของประชากรทั้งประเทศ) ของแต่ละสำนักจะแตกต่างกัน เช่น ในส่วนของทีดีอาร์ไอคาดว่าจะเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ในปี 2568 ส่วน สศช.คาดว่าจะเป็นปี 2573 แต่ทุกหน่วยงานประเมินตรงกันว่า เมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้วแต่ไทยจะยังไม่เป็นกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง แต่มีสัดส่วนผู้สูงอายุในระดับสูงกว่าประเทศอื่นในอาเซียน (ยกเว้นประเทศสิงคโปร์) ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญ เพราะการเพิ่มขึ้นของประชากรวัยสูงอายุก่อให้เกิดความต้องการสวัสดิการสังคมมากขึ้น เช่น การรักษาพยาบาล การดูแลผู้สูงอายุ ระบบบำนาญ ขณะที่ระดับรายได้ต่อหัว การออมของประชาชนยังอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้เกิดแรงกดดันต่อภาระด้านงบประมาณของภาครัฐเพื่อใช้จัดสวัสดิการสังคมโดยตรง

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นการประเมินสถานการณ์สังคมสูงอายุตามคำจำกัดความขององค์การสหประชาชาติ แต่หากพิจารณาจากการเก็บข้อมูลของ สสช.ที่เฝ้าติดตามสถานการณ์นี้อยู่ การเก็บข้อมูลตามเกณฑ์ของ สสช.ที่สำรวจผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไปนั้น พบว่าประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2548 คือมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปอยู่ 10.5% และการสำรวจ ณ ปี 2557 ประชากรอายุตั้งแต่ 60 ปี มีอยู่ถึง 10 ล้านคน หรือ 14.9% ของประชากรทั้งหมด ในขณะที่ประชากรวัยเด็ก (0-14 ปี) มีแนวโน้มลดลงอย่างรวดเร็วจากสัดส่วน 24.6% ในปี 2543 คาดว่าจะลดลงอย่างต่อเนื่องจนเหลือ 11.2% ในปี 2573 ซึ่งข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นว่าหากภาวะการเกิดยังต่ำอยู่เช่นปัจจุบัน โครงสร้างประชากรของประเทศไทยจะเปลี่ยนไปจากปัจจุบันที่ประชากร 71% เป็นกลุ่มของวัยแรงงานอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ การสำรวจสถานการณ์ผู้สูงอายุล่าสุดของ สสช.ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับประชากรสูงอายุ สสช.ระบุว่า จากการสำรวจ ณ ปี 2557 นั้น พบว่าแหล่งรายได้ที่สำคัญของผู้สูงวัยคือส่วนใหญ่ 35.7% มีบุตรเลี้ยง รองลงมา 34.3% มาจากการทำงานเอง ตามด้วย 15.3% ที่มาจากเบี้ยยังชีพข้าราชการ จากคู่สมรส 4.6% บำเหน็จ/บำนาญ 4.5% และจากดอกเบี้ยเงินออมที่เก็บออมได้รวมถึงการขายทรัพย์สินที่มีอยู่ 3.8%

ทั้งนี้ พบว่าผู้สูงวัยมีแนวโน้มที่จะเข้ามามีส่วนในกำลังแรงงานเพิ่มมากขึ้น โดยพบว่าผู้สูงวัยมีงานทำจาก 31.9% ในปี 2537 เพิ่มเป็น 35.7% 38.3% และ 39.5% ในปี 2550 2554 และ 2557 ตามลำดับ ในแง่ของความเพียงพอของรายได้นั้น เกินกว่าครึ่งหนึ่งหรือ 59.4% ของผู้สูงอายุระบุว่าตนมีรายได้เพียงพอ 21.6% ระบุว่าเพียงพอในบางครั้ง 17% ระบุว่ารายได้ไม่เพียงพอ และมี 2% ที่ระบุว่ามีรายได้เกินเพียงพอ ส่วนการออมนั้นผู้สูงอายุส่วนใหญ่คือ 73.8% มีการออม ยังมีบางส่วนคือ 26.2% ที่ไม่มีการออม

การ “แก่ก่อนรวย” หรือ “รวยก่อนแก่” มีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุหลังจากที่หมดวัยทำงานแล้ว และมีความสำคัญต่อรัฐบาลในการทุ่มเทงบประมาณในการเลี้ยงดูผู้สูงอายุเหล่านี้ ทั้งทางด้านการรักษาพยาบาล สวัสดิการด้านต่างๆ และที่สำคัญประเทศจะไม่สามารถยกระดับการพัฒนาประเทศให้สูงขึ้นไปได้

ประธานทีดีอาร์ไอระบุว่า การรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ และทำให้ผู้สูงอายุประเทศไทยรวยก่อนแก่ได้ ต้องปฏิรูปประเทศไปสู่แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมให้ก้าวหน้าเช่นประเทศเกาหลีใต้ และไปสู่ฐานเกษตรกรรมที่ทันสมัยและการบริการฐานความรู้ ค่อยๆ เปลี่ยนผ่านพัฒนาการบริการจากฐานอุตสาหกรรมและให้ฐานการผลิตเชื่อมโยงกับเกษตรกรรม

การจะปฏิรูปดังกล่าวต้องเตรียมการ 4 ด้าน คือ 1.การสร้างคนด้วยการปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะ 2.สร้างเงิน ด้วยการจูงใจให้เกิดกิจกรรมสร้างผลิตภาพรวมทั้งวิจัยและพัฒนา (R&D) และนวัตกรรม 3.การจัดการ ซึ่งรัฐจะต้องมีขนาดและหน้าที่เหมาะสม มีวินัยและธรรมาภิบาล 4.การตลาด ที่พัฒนาเป็นเทรดดิ้งเนชั่นในเศรษฐกิจเปิดเชื่อมต่อโลก

อย่างไรก็ดี การปรับฐานเศรษฐกิจไปสู่ประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้าและเกษตรทันสมัยได้ การสนับสนุนงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาจะสำคัญมาก ซึ่งปัจจุบันไทยใช้งบประมาณส่วนนี้ในระดับต่ำคือประมาณ 4 หมื่นล้านบาท หรือ 0.4% ของจีดีพี รัฐบาลปัจจุบันตั้งเป้าหมายจะเป็น 1% ในปี 2559 โดยกำหนดสัดส่วนจะนำไปลงทุนวิจัยและพัฒนาของเอกชนอยู่ที่ 70% และรัฐ 30% ในปี 2564 จากปัจจุบันที่ 50 ต่อ 50 ซึ่งหากพิจารณาจากงบที่ใส่ลงไปรวมถึงแนวทางการบริหารจัดการ เชื่อว่าเป้าหมายดังกล่าวเป็นไปได้ยาก เนื่องจากเอกชนจะต้องลงทุนวิจัยและพัฒนา 5.6 หมื่นล้านบาท/ปี จึงจะมีสัดส่วนเป็น 70% ของการวิจัยและพัฒนาโดยรวม

ทั้งนี้ แนวทางที่รัฐควรปรับปรุงเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายคือไม่ต้องเพิ่มงบวิจัยสำหรับหน่วยงานรัฐ แต่ควรหาวิธีการกระตุ้นให้เอกชนหันมาลงทุนการวิจัยและพัฒนาตามแนวทางที่เรียกว่าเอากุ้งฝอยตกปลากะพงด้วย 2 แนวทาง คือ ให้รัฐลงขันสมทบทุนวิจัยให้เอกชนที่ลงทุนอยู่ (matching grant) และรัฐลงขันสมทบทุนวิจัยให้กลุ่มเอกชนที่ลงทุน ซึ่งเป็นแนวทางที่ออสเตรเลียใช้ในสาขาการเกษตรอยู่ ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้ได้งานวิจัยเพื่อเชิงพาณิชย์มากกว่าวิจัยแล้วขึ้นหิ้ง

วางแผน "รวยก่อนแก่"

ฉัตรพงศ์ วัฒนจิรัฏฐ์ ผู้บริหารงานพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย (K-Expert) กล่าวว่า ได้ร่วมกับบริษัทวิจัยแห่งหนึ่งสำรวจจำนวนเงินที่เหมาะสมกับการใช้จ่ายของคนอายุ 60-70 ปีใช้จ่าย อยู่ที่เดือนละ 1.5-2.5 หมื่นบาท หากจะดำรงชีวิตแบบใช้จ่ายได้สบายต้องมีเงินสดประมาณ 5-8 ล้านบาท เมื่ออายุครบ 60 ปี แต่ควรเผื่อเพิ่มอีก 1-2 ล้านบาท เป็นค่ารักษาพยาบาลหรือเหตุฉุกเฉิน ดังนั้น ทางที่ดีควรมีเงินให้ได้ 6-10 ล้านบาท ในวันเกษียณ

ทั้งนี้ แนวทางที่จะทำให้มีเงินเพียงพอในระดับดังกล่าว หากดูเผินๆ อาจจะไม่ยาก เพียงเก็บเงินให้ได้เดือนละ 1.7-2.8 หมื่นบาท เป็นเวลา 30 ปี แต่ในชีวิตจริงตลอดช่วงเวลาหลายสิบปีของการทำงานมีเหตุจำเป็นใช้เงินมากมาย คำแนะนำคือ ไม่ใช่แค่ออม แต่ต้องหาเพิ่ม

สำหรับมนุษย์เงินเดือน ทางเลือกหนึ่ง คือ “การหาอาชีพเสริม” เพราะการหาเงินเก่งก็สำคัญไม่แพ้การออม โดยควรเลือกอาชีพเสริมให้ถูกกับจริตของตัวเอง เช่น คนที่ชอบเข้าสังคมบุคลิกดี เลือกเป็นนายหน้าขายประกันชีวิต หรือคนที่ชอบติดตามสินค้าอินเทรนด์ก็น่าจะเหมาะกับการขายสินค้าทางออนไลน์

นอกจากนี้ แนะนำให้สมัครเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัท เพราะได้ประโยชน์ 3 ต่อ คือ 1.เก็บออมเงินทุกเดือนในบัญชีกองทุน 2.เงินสะสมนั้นสามารถลดหย่อนภาษีได้ และ 3.นายจ้างยังจะให้เงินสมทบอีกก้อนหนึ่งด้วย ปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้นายจ้างสมทบไม่น้อยกว่าจำนวนที่เราสะสมเข้ากองทุนในแต่ละเดือน

สำหรับแนวทางสุดท้าย คือ “เอาเงินไปต่อเงิน” เพื่อสร้าง Passive Income หรือรายได้ที่เกิดขึ้นแม้ไม่ได้ทำงาน หลักการคือมุ่งสะสมทรัพย์สินในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวม พันธบัตร หุ้น หรือคอนโดมิเนียมให้เช่า หลายคนพลาดโอกาสเพราะเหตุที่กลัวเงินต้นจะหาย แต่อยากให้ระลึกเสมอว่า การไม่เสี่ยง (เรื่องการลงทุน) ถือเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง

ฉัตรพงศ์ แนะผู้เริ่มลงทุนให้ลองกองทุนประเภทที่เสี่ยงต่ำสุด คือ กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) ลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น แต่กองทุนแบบนี้ไม่เหมาะเป็นตัวต่อเงิน เนื่องจากผลตอบแทนมักน้อยกว่าเงินเฟ้อ ดังนั้น หากคุ้นเคยแล้ว ควรแบ่งเงินบางส่วนไปลงทุนในกองทุนรวมหุ้นเพื่อสร้างผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อ

ส่วนผู้ที่ชำนาญถึงขั้นเลือกหุ้นเองเป็น จับจังหวะเข้าซื้อขายถูก ก็อาจเลือกเปิดบัญชีหุ้นแล้วเลือกหุ้นปันผลมาเป็นตัวหลักของพอร์ตการลงทุน เพราะเงินปันผลสามารถนำมาใช้สิทธิการขอเครดิตภาษีเงินปันผล ทำให้เราได้รับเงินที่นิติบุคคลจ่ายไปด้วยฐานภาษีของเรา ให้มาอยู่ในฐานภาษีของเราได้

ขณะที่ผู้ที่มีเงินก้อนอาจเลือกหาคอนโดทำเลดี เช่น บริเวณโรงเรียน แนวรถไฟฟ้า หรือสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อนำไปปล่อยเช่าก็ได้ ผลตอบแทนจากการปล่อยเช่าเฉลี่ยอยู่ที่ 5-6% ต่อปี อีกทั้งมูลค่าคอนโดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้เกิดรายได้สองทาง ทั้งจากการปล่อยเช่าและการขายทำกำไรในอนาคตอันไกล


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เปลี่ยนคนไทย รวยก่อนแก่

view