สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปฏิวัติอุตสาหกรรมสู่ Industry 4.0

ปฏิวัติอุตสาหกรรมสู่ Industry 4.0
โดย : จำลักษณ์ ขุนพลแก้ว

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ทุกคนต้องช่วยกันยกระดับไปสู่การเป็นบริษัทข้ามชาติ บริษัทของคนไทยมีศักยภาพที่จะผลิตสินค้าของตัวเอง และใช้ประเทศอื่นเป็นฐานการผลิต

ค่าแรงงานที่สูงจะไม่เป็นปัญหาใดๆเลย ถ้าอุตสาหกรรมของไทยยกระดับ (Upgrade) จากอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานคน สู่การผลิตกึ่งอัตโนมัติหรือเป็นระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ โดยทำการผลิตสินค้าที่ต้องการความเที่ยงตรงแม่นยำสูง สินค้าขนาดเล็กจิ๋วที่ไม่มีทางที่คนจะทำได้ สินค้าที่เน้นการออกแบบเฉพาะในจำนวนที่ไม่มากแต่ปรับได้ตามความต้องการของลูกค้า และสินค้าที่มีความสามารถใหม่ที่พิเศษไปจากเดิม โดยผันจากสินค้าโภคภัณฑ์ธรรมดา (Commodities หรือ Industrial products) สู่การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (high value-added products) หรือที่หลายคนเรียกว่า สินค้านวัตกรรม (Innovative products) นั่นเอง

ไม่เพียงแต่บุคลากรที่ต้องมีความรู้ความสามารถมากขึ้น ไม่เพียงแต่เรื่องทักษะความสามารถที่สูงเท่านั้น หากแต่ความสามารถในการบริหารจัดการองค์กร หรือแม้แต่ระบบการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ก็ต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงไปให้ก้าวล้ำนำหน้ามากขึ้น ที่สำคัญมีความยืดหยุ่นมากขึ้น (Flexible manufacturing system - FMS)

ดังนั้นเมื่อมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์การพัฒนาทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ควบคู่กับการพัฒนาทางเทคโนโลยี ถึงช่วงเวลาต่างๆที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่จนได้ชื่อว่าเป็นการปฏิวัติทางอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) นั้น จนถึงปัจจุบันอาจแบ่งได้เป็น 4 ยุคด้วยกัน ได้แก่

ยุคแรก Industry 1.0 หรือยุคเครื่องจักรกลไอน้ำ

ซึ่งถือว่าเป็นยุคแรกที่มีการต่อยอด จากเดิมที่เริ่มมีการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือแบบง่ายๆ หรือมีกลไกไม่ซับซ้อนนัก แต่ยังคงใช้แรงงานคนหรือสัตว์เป็นกำลังการผลิตหลัก เรียกว่าใช้เครื่องทุนแรงมาช่วย จนพัฒนามาสู่การใช้ความร้อนเพื่อมาสร้างพลังงานในการขับเคลื่อนเครื่องจักร แทนการใช้แรงงานคนหรือสัตว์ นอกจากจะช่วยผ่อนแรงจนถึงขั้นทดแทนแรงงานคนได้ในหลายส่วนแล้ว ยังช่วยเพิ่มศักยภาพและความสามารถที่เดิมต้องใช้แรงงานคนจำนวนมาก มาเป็นแบบผสมผสานหรือใช้เครื่องจักรกลอย่างเดียวเป็นหลัก สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือการเกิดขึ้นของยานพาหนะต่างๆมากมายหลายชนิด ที่สามารถขนส่งคนหรือสินค้าจำนวนมากๆไปในระยะทางไกลๆได้หลายไมล์หรือหลายกิโลเมตร ทั้งทางบกและทางน้ำ อาทิ รถไฟ หรือเรือขนส่งสินค้าทางทะเล เป็นต้น

ยุคที่สอง Industry 2.0 หรือยุคการผลิตด้วยเครื่องจักรที่ใช้ไฟฟ้า

ยุคนี้เกิดเครื่องจักรอุตสาหกรรมมากมาย ไม่เพียงเครื่องจักรขนาดใหญ่เท่านั้น หากแต่เป็นเครื่องจักรขนาดเล็กด้วย โรงงานอุตสาหกรรมเริ่มเปลี่ยนรูปแปลงร่าง จากอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานคนเป็นหลัก (Labor intensive) มีการใช้เครื่องจักรกลเพื่อการผลิตในจำนวนที่มาก (Mass production) การแบ่งงานกันทำของคนงาน (the Division of Labor) ตามแนวคิดของ Adam Smith มีความโดดเด่นและเป็นระบบมากขึ้นกว่าการแค่เรื่องของแรงงานคนเท่านั้น หากแต่มีเรื่องของระบบการบริหารจัดการเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และที่สำคัญในทางเทคโนโลยีคือ การใช้ไฟฟ้ามาทดแทนการใช้ไอน้ำ ถือได้ว่าเป็นยุคแห่งการผสมผสานแรงงานคนกับเครื่องจักรอย่างแท้จริง (man-machine) มีการนำระบบสายพานลำเลียง (Conveyor) มาใช้ และการจัดสายการผลิตให้เกิดการสมดุล (Assembly line balancing) ก่อให้เกิดผลิตภาพที่สูงขึ้น และเกิดการประหยัดจากขนาดการผลิต (economies of scale)

ยุคที่สาม Industry 3.0 หรือยุคคอมพิวเตอร์

ยุคนี้เครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆไม่ใช่ทำงานในเชิงกล หรือใช้พลังงานจากไฟฟ้าเท่านั้น หากแต่ควบคุมและสั่งการได้ผ่านวงจรอิเล็กทรอนิกส์ มีเซ็นเซอร์และตัวตรวจจับมากมายในหลายส่วน โดยผนวกเอาความสามารถในการคิดคำนวณของคอมพิวเตอร์เข้าไปไว้ในเครื่องจักร ทำให้เครื่องจักรมีความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้น และสามารถโปรแกรมให้ผลิตหรือประกอบสินค้าได้ในหลากหลายรูปแบบอย่างอัตโนมัติ (Automation หรือ Programmable Logic Control – PLC) คนงานยกระดับความสามารถกลายเป็นคนควบคุมเครื่องจักรการผลิตแทน โดยใช้เวลาระหว่างที่เครื่องจักรทำงานด้วยตัวเองนั้น ในการเตรียมงาน เตรียมวัตถุดิบ สุ่มตรวจสอบคุณภาพสินค้าจากเครื่อง แก้ปัญหาข้อขัดข้องจนถึงการบำรุงรักษาเครื่องจักรแบบง่ายๆ (Self-maintenance) การควบคุมคุณภาพเริ่มเปลี่ยนมือจากเจ้าหน้าที่ QC ไปสู่เจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิต มีการปลูกฝังแนวคิดเรื่องคุณภาพเข้าไป จนเข้าสู่ยุคของการประกันคุณภาพด้วยระบบแทน (Quality Assurance)

ยุคที่สี่ Industry 4.0 หรือยุคอินเทอร์เน็ต

เมื่อโลกการผลิตจริง (Real sector) ในทางอุตสาหกรรมถูกเชื่อมต่อกับโลกเสมือน (Cyber space) ผ่านเครือข่ายออนไลน์และอินเทอร์เน็ตทั้งไร้สายและมีสาย จนได้ชื่อว่าเป็นยุค Cyber-Physical System คำว่า Internet of Things (IoT) ที่ไม่ใช่เพียงแค่สมองกลฝังตัวที่มีแต่ความสามารถในการคิดคำนวณ ประมวลผล และหาทางออกของปัญหาได้เองเท่านั้น หากแต่ยังมีความสามารถในการเชื่อมต่อตัวเองเข้ากับโครงข่ายการสื่อสารต่างๆได้ทุกที่ทุกเวลา (anywhere anytime)

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่า ทุกวันนี้เราจะเห็นอุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆในชีวิตประจำวัน ทั้งที่อยู่ในบ้าน ในสำนักงาน หรือแม้แต่ในโรงงานอุตสาหกรรม จะเชื่อมต่อถึงกันเพื่อสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลตามมาตรฐานการส่งข้อมูลของประเภทอุปกรณ์นั้นๆ (Protocol) ได้อย่างน่าทึ่ง แบบที่เจ้าของอุปกรณ์และเครื่องมือนั้นๆไม่ต้องไปสั่งการหรือเกี่ยวข้องด้วยซ้ำ และแน่นอนอาจถึงขั้นคิดแทนเราได้ในบางเรื่องในแนวทางของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence- AI)

อย่าโหยหาความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ (Comparative advantage) ที่มีมาในอดีต ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งที่ตั้ง ปริมาณแรงงานที่มาก หรือค่าแรงขั้นต่ำ และมุ่งที่จะเป็นฐานการผลิตของประเทศที่พัฒนาแล้วเท่านั้น หากแต่ทุกคนต้องช่วยกันยกระดับไปสู่การเป็นบริษัทข้ามชาติ ที่บริษัทของคนไทยมีศักยภาพที่จะผลิตสินค้าของตัวเอง และใช้ประเทศอื่นเป็นฐานการผลิตบ้าง เชื่อโดยสุจริตใจว่าอุตสาหกรรมของไทยพัฒนาไปไกลเกินกว่าจะใช้ความได้เปรียบด้านแรงงานราคาถูกอีกต่อไป อย่าดูถูกพวกเรากันเองครับ

Key word: Internet of Things (IoT) คือเครือข่ายของสิ่งต่างๆที่จับต้องได้จริงนำเอาสมองกลมาฝังตัวอยู่ในมัน (“things” embedded with electronics, software, sensors, and network connectivity) เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อ สื่อสาร สั่งการ และแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้ ผ่านระบบการสื่อสารไร้พรมแดนในปัจจุบัน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปฏิวัติอุตสาหกรรม Industry 4.0

view