สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คุก 13 ปี 4 เดือน “สรยุทธ-ไร่ส้ม” โกงค่าโฆษณา อสมท ศาลให้ประกันคนละ 2 ล้านบาทสู้คดีชั้นอุทธรณ์

คุก 13 ปี 4 เดือน “สรยุทธ-ไร่ส้ม” โกงค่าโฆษณา อสมท ศาลให้ประกันคนละ 2 ล้านบาทสู้คดีชั้นอุทธรณ์

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

       MGR Online - ศาลพิพากษาจำคุก “สรยุทธ” ผู้ประกาศข่าวชื่อดัง พร้อมเจ้าหน้าที่ บ.ไร่ส้ม คนละ 20 ปี ทุจริตค่าโฆษณาในรายการ “คุยคุ้ยข่าว” กว่า 138 ล้านบาท พร้อมปรับ บ.ไร่ส้ม 1.2 แสนบาท คำให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุกคนละ 13 ปี 4 เดือน ส่วน “พิชชาภา” อดีต พนง.จัดทำคิวโฆษณา อสมท โดนจำคุก 30 ปี ลดเหลือ 20 ปี ล่าสุดศาลให้ประกันตัวคนละ 2 ล้านบาท
      
      วันนี้ (29 ก.พ.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นัดฟังคำพิพากษาในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ฟ้อง นางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด อดีตพนักงานจัดทำคิวโฆษณาของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) (บมจ.อสมท), บริษัท ไร่ส้ม จำกัด โดย น.ส.อังคนา วัฒนมงคลศิลป์ และ น.ส.สุกัญญา แซ่ลิ่ม ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บจก.ไร่ส้ม, นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง และกรรมการผู้จัดการ บจก.ไร่ส้ม และ น.ส.มณฑา ธีระเดช เจ้าหน้าที่ บจก.ไร่ส้ม ร่วมกันเป็นจำเลยฐานกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 และฐานสนับสนุนพนักงานกระทำความผิดดังกล่าว กรณีถูกกล่าวหายักยอกเงินค่าโฆษณาเกินเวลาในรายการ “คุยคุ้ยข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ อสมท กว่า 138 ล้านบาท
       
       ในช่วงเช้าวันนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสรยุทธเดินทางมาถึงศาลโดยไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ ต่อสื่อมวลชน ก่อนเดินขึ้นไปที่ห้องฟังคำพิพากษาชั้น 9 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก
       
       ต่อมาเมื่อเวลา 10.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องพิจารณาคดี 912 ศาลนัดอ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อ.313/2558 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ฟ้อง นางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด อดีตพนักงานจัดทำคิวโฆษณาของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน), บริษัทไร่ส้ม จำกัด โดย น.ส.อังคนา วัฒนมงคลศิลป์ และ น.ส.สุกัญญา แซ่ลิ่ม ในฐานะ กก.ผจก.บจก.ไร่ส้ม, นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง และ กก.ผจก.บจก.ไร่ส้ม และ น.ส.มณฑา ธีระเดช เจ้าหน้าที่ บจก.ไร่ส้ม เป็นจำเลย 1-4 ในความผิดฐานเป็นพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งหน้าที่ไม่ว่าการนั้นจะชอบ หรือมิชอบด้วยหน้าที่, เป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์กร, เป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และสนับสนุนพนักงานกระทำความผิดดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.ว่า ด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 ม.6, 8 และ 11
       
       คดีดังกล่าวอัยการโจทก์ ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2558 ระบุพฤติการณ์ว่า เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2548 - 28 เม.ย. 2549 นางพิชชาภา จำเลยที่ 1 พนักงานจัดทำคิวโฆษณาของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำคิวโฆษณารวมในรายการ “คุยคุ้ยข่าว” ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต ไม่รายงานการโฆษณาเกินเวลาเพื่อเรียกเก็บค่าโฆษณาเกินเวลา จาก บจก.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 จำนวน 17 ครั้ง ทำให้ บมจ.อสมท เสียหาย 138,790,000 บาท และยังได้เรียกรับเอาเงิน 658,996 บาท จากจำเลยที่ 2-4 เพื่อเป็นการตอบแทนที่นางพิชชาภา จำเลยที่ 1 ไม่รายงานการโฆษณา จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ
       
       ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การร่วมผลิตรายการ จำเลยที่ 2 ทำหน้าที่เป็นผู้ผลิต ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นพิธีกรจัดรายการทำสัญญากันเป็นลายลักษณ์อักษรระบุชัดว่าถ้ามีโฆษณาเกิน กว่าส่วนแบ่ง จำเลยที่ 2 ต้องขอซื้อโฆษณาส่วนเกินย้อนหลังและชำระค่าโฆษณาเกินให้แก่บริษัท อสมท จำกัด โดยจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิ์แบ่งค่าโฆษณาส่วนเกินคนละเท่าๆ กับ บริษัท อสมท นอกจากนี้ศาลปกครองสูงสุดยังมีคำพิพากษาถึงที่สุดวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 จะต้องชำระค่าโฆษณาส่วนเกินและไม่มีสิทธิ์ได้รับส่วนลดทางการค้าปกติร้อยละ 30 จากค่าโฆษณาส่วนเกิน 138,790,000 บาท เพราะจำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายผิดสัญญา ขณะที่ จำเลยที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่จัดทำคิวโฆษณา แต่ไม่รายงานการโฆษณาที่เกินเวลาให้ผู้บังคับบัญชาทราบ เป็นเหตุให้ อสมท ได้รับความเสียหาย ตามความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบทั้งสองชุดที่ อสมท ตั้งขึ้น นอกจากนี้ จำเลยที่ 1 ยังใช้น้ำยาลบคำผิดลบรายการโฆษณาที่เกินเวลาในส่วนของจำเลยที่ 2 ออกจากใบคิวโฆษณารวม แสดงถึงการปกปิดข้อเท็จจริง เมื่อจำเลยที่เป็นพนักงานมีหน้าที่จัดการทรัพย์และรับเงินตามเช็ค เป็นการต้องห้าม จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6, 8, 11 ประกอบ ป.อาญา มาตรา 83
       
       ส่วนนายสรยุทธ จำเลยที่ 3 เป็นผู้มีอำนาจจัดการและเป็นพิธีกรจัดรายการมาโดยตลอด ดังนั้นจำเลยที่ 3 น่าจะทราบเนื้อหางานเป็นอย่างดี การใช้เงินแม้จะให้โดยเสน่หา แต่ไม่รายงานให้ทราบก็เป็นการสนับสนุน ในทางนำสืบศาลเห็นด้วยกับ ป.ป.ช.ว่าจำเลยจ่ายเช็คเพื่อจูงใจให้กระทำหรือไม่กระทำการใด ทำให้หน่วยงานของรัฐได้รับความเสียหาย การที่จำเลยที่ 2-4 นำเช็คไปมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ถือเป็นการมิชอบด้วยกฎหมายเพราะการไม่รายงานโฆษณาเกินเวลาของจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 2 ได้รับประโยชน์ จึงเป็นความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 บริษัทไร่ส้มได้ชำระค่าโฆษณาส่วนเกิน จำนวน 138,790,000 บาท แก่ อสมท แล้ว จึงลงโทษสถานเบา
       
       พิพากษาจำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ มาตรา 6, 8, 11 จำเลยที่ 2-4 มีความผิดฐานสนับสนุนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การฯ มาตรา 6, 8, 11 การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 6 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษสุด รวม 6 กระทง ฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับหรือยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ จำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 30 ปี ปรับจำเลยที่ 2 กระทงละ 2 หมื่นบาท รวมปรับ 1.2 แสนบาท จำคุกจำเลยที่ 3 และ 4 กระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 3 และ 4 คนละ 20 ปี แต่ทางนำสืบเป็นประโยชน์ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 20 ปี จำคุกจำเลยที่ 3และ 4 คนละ 13 ปี 4 เดือน และปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 8 หมื่นบาท ไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำเลยที่ 1, 3 และ 4
       
       ภายหลังทนายความได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ 2 ล้านบาท เพื่อขอปล่อยชั่วคราวสู้คดีระหว่างอุทธรณ์ และเมื่อเวลา 14.00 น.ศาลอาญาพิเคราะห์คำร้องและหลักทรัพย์แล้ว มีคำสั่งให้พวกจำเลยประกันตัวไประหว่างอุทธรณ์ โดยตีราคาประกันคนละ 2 ล้านบาท และกำหนดเงื่อนไขห้ามพวกจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล รวมทั้งให้พวกจำเลยมารายงานตัวต่อศาลทุก 30 วัน
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแล้ว นายสรยุทธได้เดินทางกลับด้วยสีหน้าเรียบเฉย ซึ่งนายสรยุทธ ได้แจ้งกับทางพนักงานรักษาความปลอดภัยของศาลอาญาว่า ไม่ขอให้สัมภาษณ์ ซึ่งมีผู้สื่อข่าวจำนวนมากรุมล้อมรอสัมภาษณ์ ซึ่งนายสรยุทธกล่าวเพียงสั้นๆว่าให้เป็นไปตามขั้นตอน ก่อนขึ้นรถเดินทางกลับต่อไป

      สำหรับรายละเอียดคดีนี้เกิดขึ้นจากกรณีที่ นางพิชชาภา จำเลยที่ 1 ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต ไม่รายงานการโฆษณาเกินเวลาเพื่อเรียกเก็บค่าโฆษณาเกินเวลาจาก บจก.ไร่ส้ม ระหว่างวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2548 - 28 เมษายน 2549 ทำให้ บมจ.อสมท เสียหาย 138,790,000 บาท และนางพิชชาภา ยังได้เรียกรับเอาเงิน 658,996 บาท จากจำเลยอื่นๆ เพื่อเป็นการตอบแทนด้วย
       
       ทั้งนี้ จากข้อเท็จจริงการไต่สวนของ ป.ป.ช.ปรากฏว่า นางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด (นางชนาภา บุญโต) เจ้าหน้าที่ธุรการระดับ 5 สำนักกลยุทธ์การตลาด อสมท เป็นผู้รับผิดชอบผู้เดียวในการจัดทำคิวโฆษณารวม และเป็นผู้รายงานโฆษณาเกินเวลาเพื่อเรียกเก็บเงินจากบริษัท ไร่ส้มฯ ได้ให้ความช่วยเหลือบริษัท ไร่ส้มฯ โดยไม่มีการรายงานการโฆษณาเกินเวลาของบริษัท ไร่ส้มฯ เพื่อเรียกเก็บเงิน ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2548 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2549
       
       จากการไต่สวนปรากฏว่า นายสรยุทธได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คของธนาคารธนชาต สาขาพระราม 4 จ่ายเงินให้นางพิชชาภา โดยมีการทำเอกสารหักภาษี ณ ที่จ่ายรวม 6 ครั้ง เป็นเงิน 739,770 บาท เพื่อตอบแทนที่นางพิชชาภา มิได้รายงานการโฆษณาเกินเวลาของบริษัท ไร่ส้มฯ
       
       คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2555 ว่าการกระทำของนางพิชชาภา มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีมูลความผิดทางอาญา ตามมาตรา 6, 8, 11 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 การกระทำของนางอัญญา อู่ไทย ซึ่งเป็นหัวหน้างานและเป็นผู้บังคับบัญชาในฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้า สำนักกลยุทธ์การตลาด อสมท มีมูลความผิดทางวินัย
       
       การกระทำของนายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา ซึ่งได้ใช้ให้นางพิชชาภา ไม่ต้องรายงานการโฆษณาเกินเวลาที่กำหนดในสัญญาให้แก่ผู้บังคับบัญชาทราบ และบริษัท ไร่ส้มฯ (ในฐานะนิติบุคคล) มีมูลความผิดฐานสนับสนุนพนักงานกระทำความผิดตามมาตรา 6, 8, 11 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86
       
       หลังจากนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.ส่งรายงานถึงอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อดำเนินการฟ้องต่อศาลในคดีอาญา อย่างไรก็ดี ฝ่าย อสส.เห็นว่าข้อเท็จจริงบางอย่างยังไม่สมบูรณ์ จึงมีการตั้งคณะกรรมการร่วม อสส.-ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาสำนวนให้สมบูรณ์ โดยใช้ระยะเวลากว่าปีเศษ
       
       ล่าสุดศาลอาญาพิเคราะห์คำร้องและหลักทรัพย์แล้ว มีคำสั่งให้พวกจำเลยประกันตัวไประหว่างอุทธรณ์ โดยตีราคาประกันคนละ 2 ล้านบาท และกำหนดเงื่อนไขห้ามพวกจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล รวมทั้งให้พวกจำเลยมารายงานตัวต่อศาลทุก 30 วัน
       
       อ่านเพิ่มเติม :
       • พลิกแฟ้มคดี “สรยุทธ-ไร่ส้ม” ตัวการใหญ่ยังลอยนวล (14 พ.ย.2557)


สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์จี้ “สรยุทธ” แสดงสปิริตพักหน้าจอ หลังศาลสั่งจำคุกยักยอกเงินโฆษณา

โดย MGR Online

       นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ชี้ กรณี “สรยุทธ” ถูกจำคุก 13 ปี เป็นบทเรียนให้คนทำสื่อโปร่งใส ชี้เจ้าตัวต้องแสดงความรับผิดชอบ สมควรหยุดจัดรายการ เช่นเดียวกับคณบดีนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้า แนะควรพักหน้าจอ ถ้าศาลตัดสินบริสุทธิ์ค่อยกลับมา
       
       วันนี้ (29 ก.พ.) นายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวถึงกรณีที่ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 13 ปี 4 เดือน นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรรายการข่าวทางไทยทีวีสีช่อง 3 โดยไม่รอลงอาญา ในกรณียักยอกเงินค่าโฆษณารายการคุยคุ้ยข่าว ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี (ช่อง 9 อสมท) ว่า ถือเป็นบทเรียนสำหรับคนทำสื่อ ที่เตือนให้รู้ว่าต้องมีความโปร่งใส ครอบคลุมในทุกเวที หากต้องการให้ข้าราชการ นักการเมือง มีมาตรฐาน สื่อก็ต้องมีมาตรฐานด้วย
       
       ส่วน นายสรยุทธ จะสมควรที่จะยุติการจัดรายการหรือไม่ นายเทพชัย มองว่า ชัดเจนอยู่แล้วหลังศาลมีคำตัดสิน ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องสปิริต แต่เป็นเรื่องที่ต้องแสดงความรับผิดชอบ สมควรที่ต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่
       
       ด้าน นายมานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า โดยภาพรวมคดีในลักษณะนี้ควรจะแสดงสปิริตด้วยการยุติทำหน้าที่หน้าจอเอาไว้ ก่อน เพราะในบทบาท ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกาศข่าว หรือสื่อมวลชน ประชาชนคาดหวังและให้เครดิตค่อนข้างมาก เวลาที่เชิญแขกรับเชิญมาซักถาม ไม่ว่าจะเป็นประเด็นอะไรก็ตาม จะได้มีความโปร่งใสด้วย ขณะเดียวกัน ยังเป็นตัวอย่างให้กับเยาวชน เป็นสปิริตอันหนึ่งที่สื่อมวลชนน่าจะได้กระทำออกมา
       
       ส่วนต้นสังกัดอย่างไทยทีวีสีช่อง 3 ต้องคำนึงถึงภาพลักษณ์ของช่องรายการและสื่อมวลชน เพราะบทบาทไม่ใช่แค่เสนอข่าวสารเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นแบบอย่างต่าง ๆ ด้วย เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนในด้านจริยธรรม ในสังคมก็คงจะตั้งคำถามต่อบทบาทของพิธีกรและผู้ประกาศข่าว ถ้ามีคดีที่ยาวนาน และศาลตัดสินเช่นนี้ ก็ควรพักหน้าจอไว้ก่อน แล้วหลังจากนั้น ถ้าอีกสองศาลตัดสินว่าบริสุทธิ์ค่อยทำหน้าที่เหมือนเดิมก็ยังไม่เป็นไร
       
       “ในเรื่องจริยธรรมมีการตั้งคำถามกันเยอะในแวดวงว่าควร ไม่ควรอย่างไร โดยเฉพาะหลังจากที่ ป.ป.ช. มีการชี้มูลต่าง ๆ แต่วันนี้เมื่อศาลตัดสินชัดเจนแล้ว เป็นบทบาทที่ดีที่ตัวพิธีกรควรจะแสดงสปิริตออกมาอย่างชัดเจน ขณะเดียวกัน ช่องเองก็แสดงบทบาทชัดเจนออกมาด้วย มันเป็นจริยธรรม มันไม่ได้เป็นเรื่องของกฎหมาย” นายมานะ กล่าว
       
       นายมานะ ยังกล่าวอีกว่า เรื่องจริยธรรมเป็นเรื่องที่สื่อมวลชนทุกคนควรจะตระหนักถึง จริยธรรมหลายอย่างที่มีอยู่ควรที่จะพิจารณาและให้ความสำคัญ แม้จะไม่ได้มีโทษอย่างรุนแรงเหมือนทางกฎหมายก็จริง แต่สื่อมวลชนมีบทบาทที่จะเป็นแบบอย่าง และมีผลกระทบทางสังคมค่อนข้างมาก ในเรื่องราวต่าง ๆ ที่นำเสนอ คนที่ทำหน้าที่สื่อมวลชนทั้งหน้าจอและหลังจอต้องตระหนักถึงจรรยาบรรณทาง วิชาชีพ


นายกนักข่าวโทรทัศน์ฯ ชี้ช่อง3-สรยุทธ ควรพิจารณาการทำหน้าที่

โดย :

นายกสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ฯ ระบุคดีไร่ส้มเป็นบทเรียนคนทำสื่อ ชี้"ช่อง3-สรยุทธ" ควรพิจารณาการทำหน้าที่คนหน้าจอ และความรับผิดชอบต่อสังคม

นายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวถึงกรณี ศาลตัดสินคดี บริษัทไร่ส้มกรณีทุจริตเงินค่าโฆษณา ช่อง 9 อสมท. โดยนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ประกาศข่าวชื่อดัง ถูกตัดสินจำคุก 13 ปี 4 เดือน ว่า
บทเรียนของสื่อจากคดีนี้ เมื่อสื่อทำอะไรผิด สังคมก็จะวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งมีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้สื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งข่าว อาชญากรรม การเมือง บันเทิง ที่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้่นอย่างต่อเนื่อง กรณีคุณสรยุทธ อาจจะเป็นอีกระดับหนึ่งขึ้นมา ไม่ใช่เรื่องของการรายงานข่าวแต่เป็นเรื่องพฤติกรรมของคนที่บริหารองค์กร ธุรกิจสื่อ แต่ทั้งหมดประดังกันเข้ามาทำให้ภาพลักษณ์ของสื่อ เป็นคำถามใหญ่

เรื่อง นี้ก็มีคำถามมาตลอด ตั้งแต่อัยการสั่งฟ้องคุณสรยุทธ ทุจริต ก็มีคำถามว่า ยังสมควรจะปฏิบัติหน้าที่ในฐาะคนหน้าจอต่อไปอีกหรือไม่ ก็หลีกเลี่ยงไม่พ้น ในฐานะที่คุณสรยุทธเป็นผู้บริหารบริษัทไร่ส้มด้วย เป็นผู้อ่านข่าวด้วย ซึ่งแยกแยะบทบาทกันไม่ออก มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของเขาอยู่แล้ว

ผล กระทบจากคดีนี้ต่อสื่อจะเป็นอย่างไร นายเทพชัย ระบุว่า เมื่อศาลพิพากษาว่า มีความผิดเรื่องทุจริต แสดงให้เห็นว่าได้ใช้ดุลพินิจแล้ว มีหลักฐานชัดเจนว่าคุณสรยุทธ มีส่วนร่วมในเรื่องนี้ด้วย ฉะนั้นผมคิดว่า ถ้าช่อง 3 ยังตัดสินใจให้คุณสรยุทธทำหน้าที่ต่อไป ผมเชื่อว่าช่อง 3 ต้องเจอคำถามเรื่องนี้ทุกวัน ซึ่งไม่แน่ใจว่าคุ้มค่าหรือไม่ ผมเชื่อว่าปฏิกริยาจากสังคมเรื่องนี้จะแรงมากกว่าช่วงที่ผ่านมา เพราะถือว่าคดีนี้มีคำพิพากษาออกมาแล้ว

เชื่อว่าไม่ได้เป็นปฏิ กริยาจากผู้ชมอย่างเดียว แต่จะมาจากเอเจนซีโฆษณา บริษัทที่เป็นเจ้าของสินค้าที่โฆษณา และจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งช่อง 3 ก็คงต้องดูว่าคุ้มค่ากันหรือไม่ ซึ่งช่อง 3 ก็คงต้องตอบคำถามทุกวัน และคุณสรยุทธ ก็คงจะเหนื่อยแน่ ที่ปรากฏตัวบนจอทุกวัน แล้วต้องเจอคำถาม คิดว่าเป็นความท้าทาย ช่อง 3 เพราะคนในสังคมมีสิทธิ์ที่จะรู้สึก และยอมรับตัวบุคคลที่ถูกกระบวนการยุติธรรมพิพากษาหรือไม่

อย่าง น้อย ก็หวังว่า ช่อง 3 และคุณสรยุทธ จะเคารพคนดู เพราะเรื่องนี้ จะเป็นบททดสอบความเป็นวิชาชีพของช่อง และคุณสรยุทธ ถือเป็นบทเรียน ในยุคที่การแข่งขันของสื่อสูง ในแง่ความอยู่รอดของสื่อ องค์กร แต่สำคัญคือ ต้องถามตัวเองถึงบทบาทของสื่อคืออะไร การตรวจสอบสังคม เป็นปากเสียงแทนสังคม แต่ต้องตอบตัวเองเรื่องกระบวนการทำงานที่โปร่งใส ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ ธุรกิจสื่อไม่ควรมุ่งหวังกำไรอย่างเดียว เชื่อว่าสังคมมีความคาดหวังว่า สื่อต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ในแง่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี เพราะสื่อเรียกร้องใหันักการเมือง ข้าราชการ ซื่้อสัตย์ ไม่ทุจริต สื่อก็ต้องทำเป็นตัวอย่าง ทั้งตัวองค์กรและบุคลากรด้วย


ช่อง3 ปรับผัง! ระงับออกรายการเจาะข่าวเด่น "สรยุทธ" วันนี้

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

หลังกรณีศาลอาญาพิพากษา จำคุก 13 ปี 4 เดือน "สรยุทธ สุทัศนะจินดา" คดีจ่ายเช็ค กว่า 7 แสนบาท จูงใจพนักงาน อสมท. ปิดบังบริษัทไร่ส้มโฆษณาเกินเวลา ซึ่งแม้ต่อมาได้รับการประกันตัวสรยุทธและพวก โดยตีราคาประกันคนละ 2 ล้านบาท

รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ ทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง 3 ตัดสินใจไม่ออกอากาศรายการเจาะข่าวเด่น ที่ได้ทำเทปบันทึกไว้ล่วงหน้า โดยนำข่าวทั่วไปมาอ่านแทน ทั้งนี้ รายการเจาะข่าวเด่นออกอากาศช่วงเวลา 17.10-17.30 น. โดยทีมงานของรายการเจาะข่าวเด่น และรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ยังมาทำงานตามปกติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้มีการเรียกประชุมหารือเพื่อพิจารณากรณีที่ศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุกนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรของช่อง 3 และเป็นกรรมการผู้จัดการ บ.ไร่ส้ม จำกัด ในคดี ที่ บ.ไร่ส้ม ยักยอกเงินโฆษณาที่ต้องส่งให้บริษัท อสมท. ระหว่างวันที่ 4 ก.พ.2548-28 เม.ย. 2549 ส่งผลให้บริษัท อสมท. เสียหายกว่า 138 ล้านบาท


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คุก 13 ปี 4 เดือน “สรยุทธ-ไร่ส้ม โกงค่าโฆษณา อสมท ศาลให้ประกัน 2 ล้านบาท สู้คดีชั้นอุทธรณ์

view