สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

3 สิ่งที่พ่อย้ำเตือน หลักคิดแห่งการดำเนินชีวิต

จากประชาชาติธุรกิจ

ตลอดระยะเวลา 70 ปี ที่ปวงชนชาวไทยได้อาศัยอย่างร่มเย็นภายใต้พระบารมีในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ จากการที่ทรงทุ่มเทพระวรกายประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับพสกนิกรของพระองค์ โดยมิแบ่งชนชั้น วรรณะ เชื้อชาติ ศาสนาใด ๆ ดังปฐมบรมราชโองการ "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"

ทั้งนี้ นอกจากทรงเป็นต้นแบบที่ดีให้ได้ดำเนินรอยตามเบื้องพระยุคลบาทแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ยังได้พระราชทาน "คำสอนของพ่อ" พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสอันทรงคุณค่า ครอบคลุมรอบด้านแห่งการดำเนินชีวิตไม่ว่าจะเป็นการประพฤติตน การศึกษา เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ที่ปวงประชาสามารถน้อมนำไปยึดถือปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความเจริญแก่ตนเอง ส่วนรวม และประเทศชาติ โดย 3 เรื่องที่ทรงย้ำคือ พอเพียง สามัคคี และรู้หน้าที่ตนเอง จากหลักฐานการบันทึก กระแสพระราชดำรัสในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2494 อันเป็นพรปีใหม่แรก ครั้งหลังจากทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ซึ่งพระราชทานแก่ประชาชนคนไทย โดยได้พระราชทานไว้ในวันที่ 31 ธันวาคม 2493 ในเรื่องสามัคคีว่า

"ประวัติศาสตร์ได้แสดงให้ปรากฏตลอดมาว่าชาติใดเสื่อมสูญย่อยยับอับปางไป ก็เพราะประชาชาติขาดสามัคคีธรรม แตกแยกเป็นหมู่คณะ เป็นพรรคเป็นพวก คอยเอารัดเอาเปรียบ ประหัตประหารซึ่งกันและกัน บางพรรคบางพวก ถึงกับเป็นไส้ศึกให้ศัตรูมาจู่โจมทำลายชาติของตนดังนี้ ข้าพเจ้าจึงขอชักชวนพี่น้องชาวไทยทั้งหลาย ให้ระลึกถึงพระคุณของบรรพบุรุษ ซึ่งได้กอบกู้รักษาบ้านเกิดเมืองนอนของเรามานั้นให้จงหนัก แล้วถือเอาความสามัคคี ความยินยอมเสียสละส่วนตัวเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่ของประเทศชาติเป็นคุณธรรมประจำใจอยู่เนืองนิตย์ จึงขอให้พี่น้องชาวไทยทั้งหลาย จงบำเพ็ญกรณียกิจของตนแต่ละคน ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ขยันหมั่นเพียร อดทนและกล้าหาญ แล้วอุทิศความเสียสละส่วนตัว ความเหน็ดเหนื่อยลำบากยากแค้น เป็นพลีบูชาบรรพบุรุษ ผู้ซึ่งได้ก่อสร้างชาติเป็นมรดกตกทอดมาถึงพวกเราชาวไทยจนบัดนี้"

ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงย้ำเรื่องสามัคคีสม่ำเสมอ เนื่องด้วยทรงเห็นว่าเป็นสิ่งที่จะพาชาติบ้านเมืองให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ได้ ดังพระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสที่พระราชทานไว้ในวาระต่าง ๆ

"...ประเทศไหนถ้าประชาชนพลเมือง มีความสามัคคีกลมเกลียวกันดี มีระเบียบวินัย ประเทศนั้นก็เจริญและอยู่ในฐานะดี จึงเห็นได้ว่าความสามัคคีกลมเกลียวกันระหว่างคนในชาติ และความเข้าใจรักษาระเบียบวินัยเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่ง ที่จะช่วยนำประเทศชาติสู่ความวัฒนาถาวร..." พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสเสด็จออกให้ประชาชนเฝ้าฯ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม วันที่ 19 มกราคม 2504

"ความสามัคคีและความถือตัวว่าเป็นไทยนี้ เป็นสิ่งที่มีค่าสูงสุด เพราะเป็นมรดกที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษของเรา และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรารวมกันอยู่ได้ ให้เราดำรงชาติประเทศและเอกราชสืบมาได้" พระราชดำรัส พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในงานชุมนุมประจำปีของสมาคมนักเรียนไทยในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน วันที่ 1 กันยายน 2526

อย่างไรก็ดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระเมตตาต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง รวมทั้งยังทรงมีพระราชดำริอันปรีชาว่า ความสามัคคีควรสอดคล้องไปกับการรู้และปฏิบัติหน้าที่ของตนเองให้ดี เมื่อใดหากมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ก็พึงระลึกถึงประโยชน์ส่วนรวม ประโยชน์แห่งชาติบ้านเมืองไว้ให้จงมั่น หลักคิดลำดับถัดมาคือการ "รู้หน้าที่"

"ความจริงทุกคนก็มีหน้าที่ แม้จะมีหน้าที่เล็กน้อยก็มีหน้าที่ ทุกคนในชาติมีหน้าที่ของตัว และถ้าแต่ละคนทำได้ดี ทำอย่างเข้มแข็ง ซื่อสัตย์สุจริต ประเทศชาติก็ย่อมปลอดภัยและก้าวหน้าไปอย่างดี" พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 4 ธันวาคม 2533

"ชาติบ้านเมืองประกอบด้วยนานาสถาบัน อันเปรียบได้กับอวัยวะทั้งปวง ที่ประกอบกันขึ้นเป็นชีวิตร่างกาย ชีวิตร่างกายดำรงอยู่ได้ เพราะอวัยวะใหญ่น้อยทำงานเป็นปรกติพร้อมกันอย่างไร ชาติบ้านเมืองก็ดำรงอยู่ได้เพราะสถาบันต่าง ๆ ตั้งมั่นและปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยพร้อมมูลอย่างนั้น" พระบรมราโชวาทในพิธีตรวจพลสวนสนาม ในงานพระราชพิธีรัชดาภิเษก วันที่ 8 มิถุนายน 2514

สาส์นสำคัญประการหนึ่งที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงเน้นย้ำอยู่ในหลักคิดให้ทุกคนไม่ละเลยหน้าที่ส่วนตนแล้วนั้น ยังต้องตระหนักในหน้าที่ของความเป็นคนไทยไว้มิลืมเลือน

"คนไทย รักษาชาติ รักษาแผ่นดิน เป็นปึกแผ่นมั่นคงมาได้ ด้วยสติปัญญาความสามารถ และด้วยคุณความดี อิสรภาพ เสรีภาพ ความร่มเย็นเป็นสุข ตลอดจนความเจริญ ทุกอย่างที่มีอยู่บัดนี้ เราทั้งหลายในปัจจุบัน จึงต้องถือเป็นหน้าที่รับผิดชอบอย่างสำคัญ ในอันที่จะรักษาคุณความดี พร้อมทั้งจิตใจที่เป็นไทยไว้ให้มั่นคงตลอดไป" พระราชดำรัส พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2521

"ผู้ที่จะรักษาความเป็นไทยได้มั่นคงที่สุด ดี และเหมาะสมที่สุด ไม่มีใครอื่นนอกจากคนไทย เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะอยู่ ณ แห่งใด คนไทยมีหน้าที่ต้องรักษาความเป็นไทยเสมอ" พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่สมาคมนักเรียนไทยในประเทศญี่ปุ่น วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2537

สุดท้ายคือปรัชญาหลัก "เศรษฐกิจพอเพียง" พระบรมราโชวาทอีกประการ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานสู่พสกนิกร ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่คนไทยที่ได้เห็นผลจริง แต่ยังเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้คนทั่วทั้งโลก จากทฤษฎีใหม่ที่พระองค์ทรงบัญญัติขึ้น โดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ได้ประมวลพระราชดำรัส "เศรษฐกิจพอเพียง" และ "ทฤษฎีใหม่" เอาไว้ว่า

"...มีพอเพียงพอกินนี้ ก็แปลว่าเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง ถ้าแต่ละคนมีพอมีพอกินก็ใช้ได้...พอเพียงนี้ก็หมายความว่า มีกินมีอยู่ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ก็ทำให้มีความสุขถ้าทำได้ ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ อันนี้ก็ความหมายอีกอย่างของเศรษฐกิจหรือระบบพอเพียง ได้แปลพอเพียงนี้ คือ ตอนที่พูดพอเพียง แปลในใจแล้วก็ได้พูดออกมาด้วยว่าจะแปลเป็น Self-sufficiency ถึงได้บอกว่าพอเพียงแก่ตนเอง ตามที่เขาเรียกว่ายืนบนขาของตัวเอง หมายความว่า 2 ขาของเรานี่ยืนบนพื้นให้อยู่ได้ไม่หกล้ม ไม่ต้องไปขอยืมขาคนอื่นมาใช้เพื่อที่จะยืนอยู่ แต่ว่าพอเพียงนี้มีความหมายกว้างกว่า ยิ่งกว่านี้อีก คือคำว่า พอก็เพียง พอเพียงนี่ก็พอ คนเราถ้าพอในความต้องการมันก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าประเทศใดมีความคิดอันนี้ไม่ว่าเศรษฐกิจ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่เบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง...พูดเหมือนว่าจะอวดตัวว่าเก่ง แต่ว่าตกใจตัวเอง ว่าที่พูดไปใช้งานได้ จึงมาสรุปเป็นทฤษฎีใหม่"

บางคราที่มีผู้ตีความในหลักคิดเรื่อง "พอเพียง" ผิดเพี้ยนไปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็จะมีพระราชดำรัสขยายความเพื่อสร้างความเข้าใจพร้อมสามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง เพื่อให้ถึงประโยชน์อันสูงสุดโดยทั่วกัน

"...ฉันพูดเศรษฐกิจพอเพียง ความหมายคือ ทำอะไรให้เหมาะสมกับฐานะของตัวเอง คือทำจากรายได้ 200-300 บาทขึ้นไป เป็น 2 หมื่น-3 หมื่นบาท คนชอบเอาคำพูดของฉัน เศรษฐกิจพอเพียงไปพูดกันเลอะเทอะ เศรษฐกิจพอเพียง คือทำเป็น Self-sufficiency มันไม่ใช่ความหมาย ไม่ใช่แบบที่ฉันคิด ที่ฉันคิดคือ เป็น Self-sufficiency of Economy เช่น ถ้าเขาต้องการดูTV ก็ควรให้เขามีดู ไม่ใช่ไปจำกัดเขาไม่ให้ซื้อ TV ดู เขาต้องการดูเพื่อสนุกสนาน ในหมู่บ้านไกล ๆ ที่ฉันไป เขามี TV ดู แต่ใช้แบตเตอรี่ เขาไม่มีไฟฟ้า แต่ถ้า Sufficiency นั้น มี TV เขาฟุ่มเฟือย เปรียบเสมือนคนไม่มีสตางค์ไปตัด Suit และยังใส่ Necktie Versace อันนี้ก็เกินไป" พระราชดำรัส พระราชทาน ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล วันที่ 17 มกราคม 2544

"วิถีทางดำเนินของบ้านเมืองและประชาชนโดยทั่วไป มีความเปลี่ยนแปลงมาตลอด เนื่องจากความวิปริตผันแปรของวิถีแห่งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และอื่น ๆ ของโลก ยากยิ่งที่เราจะหลีกเลี่ยงให้พ้นได้ จึงต้องระมัดระวัง ประคับประคองตัวเรามากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการเป็นอยู่ โดยประหยัดเพื่อที่จะอยู่ให้รอดและก้าวต่อไปได้โดยสวัสดี" พระราชดำรัสเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ พระราชทาน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2521

"พอเพียง สามัคคี รู้หน้าที่" คำสอนของพ่อที่สามารถขยายผลไปถึงความเจริญของตนเอง สังคมและประเทศชาติสืบไปได้


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : 3 สิ่งที่พ่อย้ำเตือน หลักคิดแห่งการดำเนินชีวิต

view