สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

11 คุณลักษณะของคนไทย 4.0 ที่ต้องปฏิรูปจะช่วยให้ Thailand 4.0 เป็นความจริง

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
       สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
       สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
       คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
       https://businessanalyticsnida.wordpress.com/
       https://www.facebook.com/BusinessAnalyticsNIDA/


       
       ประเทศไทยกำลังพยายามมุ่งหน้าพัฒนาประเทศด้วย Thailand 4.0 ซึ่งมีจุดเน้นที่เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital economy) เศรษฐกิจที่เน้นความรู้เป็นฐาน (Knowledge-based economy) เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative economy) ทั้งหมดนี้เน้นนวัตกรรม การสร้างสรรคุณค่าและสิ่งที่แปลกใหม่ที่นำไปสู่ธุรกิจและความสามารถในการแข่งขันและความยั่งยืน เป็นความพยายามในการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยจากการรับจ้างผลิต เศรษฐกิจที่เน้นแรงงาน (Labor-intensive economy) และการติดกับดักรายได้ปานกลาง (Middle-income trap) มายาวนานนับสิบปีจนปล่อยให้มาเลเซียแซงหน้าไปเรียบร้อยแล้ว และเวียดนามกำลังจะแซงหน้าไปในอีกไม่นานนี้
       
       คุณลักษณะของคนไทยประการใดบ้างที่จะเอื้อให้ Thailand 4.0 หรือ อีกนัยหนึ่งจะทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจที่เน้นความรู้เป็นฐาน เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางไปได้มีอะไรบ้างมาลองพิเคราะห์กัน
       
       ประการแรก ความแตกฉานด้านข้อมูลและสถิติ (Data Literacy and statistical literacy) ความแตกฉานด้านข้อมูลคือความสามารถในการตอบคำถามต่างๆ โดยใช้ข้อมูลเป็นหลักฐานในการอ้างอิงแนวคิด สามารถเลือกใช้ข้อมูล เครื่องมือ และเครื่องหมาย/สัญลักษณ์แทน ในการสนับสนุนแนวคิดนั้นได้อย่างเหมาะสม และสามารถนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาในชีวิตจริงโดยอาศัยข้อมูลต่างๆ ได้ ส่วนความแตกฉานด้านสถิติคือความเข้าใจในภาษาสถิติ ได้แก่ คำ สัญลักษณ์ และข้อกำหนดต่างๆ ความสามารถในการตีความกราฟและตาราง รวมทั้งการอ่านและหาความสมเหตุสมผลทางสถิติในข่าว สื่อ และผลสำรวจ (POLL) ต่างๆ
       
       ทั้งสองทักษะนี้จำเป็นมากสำหรับการพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เนื่องจากโลกในปัจจุบันเป็นโลกของข้อมูลและสถิติมีข้อมูลขนาดใหญ่เกิดขึ้นมากมายตลอดเวลา จากทั้งโลกออนไลน์และโลกออฟไลน์ จาก Biosensor จาก Internet of Things (IoTs) จากสื่อสังคมและอินเทอร์เน็ตที่ทำให้ข้อมูลมีความหลายหลาย (Variety) มีความรวดเร็ว (Velocity) และมีปริมาณมหาศาล (Volume) การที่จะก้าวเข้าไปสู่ Digital Economy ได้นั้นจำเป็นเหลือเกินที่ต้องมีความแตกฉานทางสถิติและข้อมูล เพื่อใช้ในการค้นคว้าหาคำตอบ ต้องตรวจสอบคุณภาพและความน่าเชื่อถือของข้อมูล (Veracity) ได้ ต้องสรุปผลสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่สามารถนำไปต่อยอดและใช้งานได้จริงจากข้อมูล แต่น่าเสียดายยิ่งที่ผลการประเมินของ PISA ในส่วนความรู้ทางคณิตศาสตร์ ซึ่งได้รวมถึงความแตกฉานด้านข้อมูล (DATA LITERACY) สถิติ (STATISTICAL LITERACY) เข้าไว้ด้วยกันแล้วนั้น ประเทศไทยมีระดับคะแนนเฉลี่ยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมาก ทั้งนี้การสำรวจ PISA ในปี 2012 พบว่า
       
       1) นักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยคณิตศาสตร์ 427 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD อยู่ถึงเกือบหนึ่งระดับ ซึ่งเทียบเท่าการเรียนคณิตศาสตร์ที่ต่างกันประมาณหนึ่งปีครึ่ง
       2) ตามค่าเฉลี่ย OECD นักเรียนนานาชาติมีผลการประเมินเป็นระดับเฉลี่ยที่ระดับ 3 ส่วนนักเรียนไทยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2
       3) นักเรียนไทยจำนวนครึ่งหนึ่งแสดงว่ารู้คณิตศาสตร์ไม่ถึงระดับพื้นฐาน (ระดับ 2)
       4) มีนักเรียนเพียงหนึ่งในห้าที่รู้คณิตศาสตร์สูงกว่าระดับพื้นฐาน (ที่ระดับ 3 ขึ้นไป)
       5) มีนักเรียนเพียง 2.5% รู้คณิตศาสตร์ถึงระดับสูง (ระดับ 5 และระดับ 6) แต่เกือบไม่มีนักเรียน (0.5%) ที่ขึ้นถึงระดับสูงสุด (ระดับ 6)
       6) นักเรียนไทยประมาณหนึ่งในห้ามีผลการประเมินอยู่ในกลุ่มต่ำสุดไม่ถึงแม้แต่ระดับ 1 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากเกินไป ในขณะที่ประเทศเอเชียอื่นๆ มีนักเรียนได้คะแนนในกลุ่มต่ำสุดน้อยมาก เช่น เซี่ยงไฮ้-จีน (0.8%) สิงคโปร์ (2.2%) ฮ่องกง-จีน (2.6%) เกาหลี (2.7%) และญี่ปุ่น (3.2%) [1] 
       
       ประการที่สอง ความแตกฉานด้านการเงิน (Financial literacy) ซึ่ง OECD ได้นิยามว่าคือความรู้และความเข้าใจแนวความคิดที่เกี่ยวกับการเงิน ความเสี่ยงทางการเงิน รวมถึงทักษะ แรงจูงใจ และความเชื่อมั่นที่จะใช้ความรู้และความเข้าใจเหล่านี้ในการตัดสินใจที่มีประสิทธิผล ในหลากหลายบริบททางการเงิน เพื่อปรับปรุงความอยู่ดีมีสุขทางการเงินของปัจเจกและสังคม และช่วยให้สามารถมีส่วนร่วมในชีวิตทางเศรษฐกิจ

       ทั้งนี้ความแตกฉานด้านการเงินไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะสำหรับในทางเศรษฐกิจ การจะเป็น digital economy หรือ creative economy ได้ก็ต้องใช้เงิน ต้องวางแผนการเงินเป็นและบริหารการเงินเป็น นอกจากนี้การที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างเต็มตัวต้องมีการวางแผนทางการเงินที่ดีเพื่อให้พร้อมรับภาระการเกษียณไม่มีรายได้ต้องใช้บำนาญ ทั้งยังต้องคำนึงถึงความเจ็บป่วย การประเมินทางคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้นพบว่ากองทุนประกันสังคมมีความเสี่ยงที่จะล่มสลาย โปรดอ่านได้ใน เหตุใด “กองทุนประกันสังคม” จึงมีโอกาสล่มสลายสูงมาก? ในขณะที่กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ทำให้โรงพยาบาลขาดทุนย่อยยับและไม่สามารถจะอยู่ได้อย่างยั่งยืน โปรดอ่านได้ใน 1.3% หรือ 4% ของ GDP สำหรับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่เป็นภาระทางการคลังจริงหรือ? ทำให้ความแตกฉานด้านการเงินจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย ที่จะทำให้ Thailand 4.0 ประสบความสำเร็จและบรรเทาปัญหาสังคมผู้สูงอายุลงไปได้หากประชาชนมีความแตกฉานด้านการเงินเพียงพอและมีการวางแผนทางการเงินก่อนเกษียณและ/หรือ เจ็บป่วยเป็นอย่างดีเป็นส่วนใหญ่
       
       แต่ผลการสำรวจทักษะทางการเงินของไทยโดยธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2556 พบว่า คนไทยมีคะแนนทักษะทางการเงินเฉลี่ย 12.9 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 58.5 ของคะแนนเต็ม 22 คะแนน ต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยของ 14 ประเทศที่ร่วมโครงการสำรวจของ OECD ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 13.7 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 62.3 และมีอันดับการตอบถูกในแต่ละคำถามด้านความรู้ทางการเงินค่อนไปอันดับท้ายๆ เมื่อเปรียบเทียบคะแนนองค์ประกอบทั้งสามด้าน พบว่า คนไทยด้อยด้านความรู้ทางการเงิน โดยมีคะแนนเฉลี่ยไม่ถึงครึ่งหนึ่งของคะแนนเต็ม และมีคนไทยมากกว่าร้อยละ 30 ที่มีคะแนนความรู้ทางการเงินอยู่ ในเกณฑ์ต่ำ ซึ่งน่าจะมีการปฏิรูปการเรียนการสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาอย่างเร่งด่วน โปรดอ่านได้ใน ถึงเวลาปฏิรูปการเรียนการสอนเศรษฐศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งควรให้นักเรียนได้เรียนการเงินส่วนบุคคลซึ่งใกล้ตัวและน่าจะได้ใช้จริงช่วยเพิ่มความแตกฉานด้านการเงินได้มากกว่า
       
       ประการที่สาม ความแตกฉานด้านคณิตศาสตร์ (Mathematical literacy) ในต่างประเทศนั้นมีคำกล่าวว่า “The more mathematics you know, the more you get paid” งานที่ได้เงินดีเป็นงานที่ต้องใช้ความแตกฉานด้านคณิตศาสตร์สูง ทั้งนี้คณิตศาสตร์เป็นกุญแจสำหรับไขความลับ สร้างความรู้ และศึกษาหาความรู้ในสาขาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี หรือแม้แต่สังคมศาสตร์ เช่น บริหารธุรกิจ หรือบริหารรัฐกิจก็ตาม ดังนั้นหากจะประสบความสำเร็จสำหรับนโยบาย Thailand 4.0 คือคนไทยต้องมีความแตกฉานด้านคณิตศาสตร์
       
       แต่ปัญหาคือผลการประเมินความแตกฉานด้านคณิตศาสตร์เช่น PISA ของไทย ได้คะแนนน้อยมาก (ผลการสอบ PISA ปี 2015 เด็กไทยอยู่อันดับที่ 55 : ปฏิรูปการศึกษาด้วยพุทธธรรม) ทำให้น่าเป็นห่วงว่าศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทยจะอยู่ที่ไหน
       
       ประเด็นที่น่าสนใจคือข้อสอบ PISA ของ OECD แบ่งวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมออกเป็นสามส่วน
       
       1) การคิดให้เป็นคณิตศาสตร์ (FORMULATING SITUATIONS MATHEMATICALLY) คือ การทำสถานการณ์ในโลกชีวิตจริงให้เป็นสถานการณ์เชิงคณิตศาสตร์ ร้อยละ 25
       
       2) การใช้หลักการทางคณิตศาสตร์คณิตศาสตร์ (EMPLOYING MATHEMATICAL CONCEPTS, FACTS, PROCEDURES AND REASONING) คือ การใช้กรอบความคิดทางคณิตศาสตร์ ข้อเท็จจริง วิธีทำ และการใช้ความเป็นเหตุเป็นผล ร้อยละ 50 และ
       
       3) การตีความและแปลความ การประยุกต์ และการประเมินผลลัพธ์ทางคณิตศาสตร์ คณิตศาสตร์ (INTERPRETING, APPLYING AND EVALUATING MATHEMATICAL OUTCOMES) ร้อยละ 25
       
       จะเห็นได้ว่า PISA เน้นไปที่ การใช้หลักการทางคณิตศาสตร์ ได้แก่ การให้เห็นผล การใช้กรอบความคิดมากกว่าร้อยละ 50 ในขณะที่การเรียนการสอนคณิตศาสตร์ของไทยเน้นการคิดคำนวณได้ การคิดให้เป็นคณิตศาสตร์ ซึ่ง PISA ไม่ได้เน้นมากนัก เป็นประเด็นที่เราควรให้ความสนใจในการพัฒนาคณิตศาสตร์ศึกษาในประเทศไทย
       
       ประการที่สี่ ทักษะในการเขียนโปรแกรม (Programming skills) การจะเข้าสู่ Digital Economy ได้นั้นต้องมีบุคลากรที่มีทักษะในการเขียนโปรแกรมเป็นอย่างยิ่ง ต้องมีทักษะพอที่จะเป็นโปรแกรมเมอร์มืออาชีพได้ อันที่จริงประเทศไทยมีการเรียนการสอนด้านคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ธุรกิจ จบออกมาระดับปริญญาตรีปีละมากมาย แต่ผู้ประกอบการแทบทุกรายต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่ามีปัญหาคุณภาพ เพราะบัณฑิตที่จบออกมาทำงานจริงไม่ได้เลย
       
       Steve Jobs ได้กล่าวว่า “Everybody in this country should learn to program a computer, because it teaches you how to think” แปลได้ว่า “ทุกคนในประเทศนี้ควรต้องเรียนรู้การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพราะว่ามันจะสอนคุณให้รู้จักวิธิคิด” ผมเองก็เห็นด้วย เพราะการเขียนโปรแกรมต้องคิดวิเคราะห์เป็นระบบมาก และผมมีความเชื่อว่าควรสอนเขียนโปรแกรมให้นักเรียนตั้งแต่มัธยมศึกษาตอนต้นหรือประถมศึกษาตอนปลาย เพราะการเขียนโปรแกรมเป็นการเรียนรู้ภาษาน่าจะฝึกหัดให้คุ้นชินค่อยๆ เรียนไปตั้งแต่เมื่อยังเล็ก ในต่างประเทศก็เริ่มมีการสอนเขียนโปรแกรมตั้งแต่ชั้นประถมศึกษากันบ้างแล้ว ในประเทศไทยนักเรียนเริ่มมีการเรียนภาษาไพธอน (Python language programming) สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายกันบ้าง อันที่จริงเราน่าจะสามารถสอนเขียนโปรแกรมเพื่อแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ในวิชาคณิตศาสตร์ให้ขนานคู่กันไปด้วยซ้ำ ถ้าประเทศไทยไม่พัฒนาการศึกษาไทยให้คนที่สำเร็จการศึกษามีทักษะในการเขียนโปรแกรม อย่างแท้จริงแล้ว ก็จะเป็นเรื่องยากเหลือเกินที่เราจะพัฒนา Digital Economy และ Knowledge-based economy ได้

       ประเทศไทยกำลังพยายามมุ่งหน้าพัฒนาประเทศด้วย Thailand 4.0 ซึ่งมีจุดเน้นที่เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital economy) เศรษฐกิจที่เน้นความรู้เป็นฐาน (Knowledge-based economy) เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative economy) ทั้งหมดนี้เน้นนวัตกรรม การสร้างสรรคุณค่าและสิ่งที่แปลกใหม่ที่นำไปสู่ธุรกิจและความสามารถในการแข่งขันและความยั่งยืน เป็นความพยายามในการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยจากการรับจ้างผลิต เศรษฐกิจที่เน้นแรงงาน (Labor-intensive economy) และการติดกับดักรายได้ปานกลาง (Middle-income trap) มายาวนานนับสิบปีจนปล่อยให้มาเลเซียแซงหน้าไปเรียบร้อยแล้ว และเวียดนามกำลังจะแซงหน้าไปในอีกไม่นานนี้
       
       รัฐบาลพูดถึง Thailand 4.0 กันปาวๆ แต่คนไทยยังเป็นคนไทย 1.0 หรือ 2.0 กันแทบทั้งหมด แล้วจะเปลี่ยนประเทศให้เป็น Thailand 4.0 ได้อย่างไร ในเมื่อคนของเรายังไม่พร้อมเลยที่จะก้าวไปสู่ Digital Economy, Knowledge-Based Economy, และ Creative Economy เรามาลองพิจารณากันดูว่า เราจะก้าวไปสู่ Thailand 4.0 คนไทยต้องมีคุณลักษณะอะไรอย่างไรบ้าง และเราจะชวยกันทำอย่างไรให้คนไทยพร้อมก้าวไปข้างหน้า ไม่ล้าหลังเมื่อเทียบกันโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
       
       คุณลักษณะของคนไทยประการใดบ้างที่จะเอื้อให้ Thailand 4.0 หรือ อีกนัยหนึ่งจะทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจที่เน้นความรู้เป็นฐาน เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางไปได้มีอะไรบ้างมาลองพิเคราะห์กันต่อจากสัปดาห์ก่อน ซึ่งได้แก่ ความแตกฉานด้านสถิติและข้อมูล ความแตกฉานด้านการเงิน ความแตกฉานด้านคณิตศาสตร์ ทักษะในการเขียนโปรแกรม ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่จำเป็นสี่ประการแรก ดูได้จาก http://manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9600000000600
       
       เราจะมาดูต่อว่าคุณลักษณะที่เหลืออีกสี่ประการ ดังนี้
       
       ประการที่ห้า พฤติกรรมการค้นคว้าหาข้อมูล (Information seeking behavior) คนไทยเราใช้อินเทอร์เน็ตเยอะมาก โดยเฉพาะเครือข่ายและสื่อสังคม (Social network media) แต่เรานิยมใช้กันเพื่อแพร่และแชร์ข่าวซึ่งไม่เป็นจริง อ้างอิงแปลกๆ เช่น มะนาวโซดาจากหมอศิริราชรักษามะเร็งได้ และส่ง sticker บนไลน์ จำพวกดอกไม้เจ็ดสี สวัสดีเจ็ดวัน เมื่อจะต้องใช้ internet ในการค้นคว้าหาความรู้จริงๆ เรากลับทำไม่เป็น ไม่รู้จักแหล่งว่าควรเริ่มต้นหาข้อมูลทางวิชาการที่ต้องนำมาประยุกต์ใช้อย่างไร ไม่รู้ว่าจะใช้ key word ใดในการค้นหาข้อมูล
       
       สิ่งที่คนไทยค้นหาก็สะท้อนอะไรหลายอย่างเช่นกัน
       
       ลองมาพิจารณาคำค้นหาจาก google ที่คนไทยค้นหามากในปี 2558 ดังลิงค์ข้างล่างนี้
       https://www.it24hrs.com/2015/google-year-in-search-2558-thailand/
       
       เราจะพบว่าบน Desktop นั้นเราค้นหาแต่เพลง หนัง ละคร ดารา มากกว่าจะค้นคว้าหาความรู้ คำเหล่านี้ได้แก่ เชือกวิเศษ รักนะเป็ดโง่ เพื่อนเฮี้ยนโรงเรียนหลอน ทิ้งไว้กลางทาง สุดแค้นแสนรัก สงครามนางงาม เพลงขัดใจ ข้าบดินทร์ แอบรักออนไลน์ ตัดพ้อ
       
       ส่วนคำค้นหาบน google ที่มีความถี่สูงสุดในปี 2559 โปรดดูได้จากลิงค์นี้ https://www.it24hrs.com/2016/google-thailand-year-search-2016/ เราก็จะพบว่าคำค้นหายอดฮิต ส่วนใหญ่ก็ยังเน้นที่วงการบันเทิงหรือกีฬาหรือเกมส์ มีคำค้นหาอันดับสองคือในหลวง เนื่องจากปีนี้เกิดการสูญเสียครั้งใหญ่หลวงของปวงชนชาวไทยนอกจากนั้นเป็นคำค้นที่จัดว่าเป็นไปเพื่อความบันเทิงมากกว่าความรู้ คำค้นสิบอันดับคือ 1. Descendants of the Sun 2. ในหลวง 3. Slither.io 4. การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ริโอ 2016 5. เพื่อนรักเพื่อนร้าย 6. Roblox 7. คนทางนั้น 8. หลวงพี่แจ๊ส 4G 9. Pokémon Go 10. ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน
       
       การค้นหาคำ การค้นหารูป การค้นหาข้อความ การค้นหาวีดีโอ การค้นหาเสียง ล้วนแล้วแต่ต้องใช้ความรู้และทักษะในการค้นหาข้อมูลทั้งสิ้น ต้องรู้จักการค้นหาแบบมีเงื่อนไขเช่น Boolean Search หรือการใช้ Advanced Search โดยการกำหนดเงื่อนไขหรือ scope ของสิ่งที่ต้องการค้นคว้าและเป็นทักษะที่สำคัญยิ่งสำหรับการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม การจะจดสิทธิบัตรหรือทรัพย์สินทางปัญญา แม้กระทั่งการกำหนดโจทย์การวิจัยหรือสร้างนวัตกรรมใหม่ ล้วนแล้วเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับ Digital Economy, Knowledge-Based Economy, และ Creative Economy ทั้งสิ้น และต้องอาศัยพฤติกรรมการค้นคว้าหาข้อมูลทั้งสิ้น
       
       ผมเองเมื่อไปเรียนหนังสือที่สหรัฐอเมริกา ต้องเดินไปหา Research Librarian หรือบรรณารักษ์สำหรับการวิจัยให้สอนวิธีการค้นคว้าหาข้อมูลจากฐานข้อมูลต่างๆ ใช้เวลาเรียนเป็นวันๆ ได้รับความรู้มากมาย และทำให้ทราบว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อย่างที่ใครคิด
       
       ประเด็นที่สำคัญกว่าคือเมื่อค้นคว้าหาข้อมูลมาได้ ยังต้องมีทักษะในการกลั่นกรองข้อมูล วิเคราะห์ข้อดีข้อเสีย ข้อบกพร่อง ตลอดจนความเหมาะสมหรือคุณภาพของข้อมูลที่เราค้นคว้ามาได้ พฤติกรรมการปล่อยข่าวลือในโลกออนไลน์ของคนไทย (อันที่จริง Hoax ของฝรั่งก็มีมากมายเช่นกัน) คงสะท้อนปัญหาพฤติกรรมการค้นคว้าหาข้อมูลของคนไทยได้เช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้ควรมีการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยหรือในระดับโรงเรียนเช่นกัน เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับโลกในปัจจุบันและในอนาคต
       

       ประการที่หก ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ (English Proficiency) เป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับ Thailand 4.0 เพราะการฟังและการอ่านนั้นเป็นทำหน้าที่ในการรับสาร (Receptive function) ดังนั้นภาษาอังกฤษจะช่วยให้คนไทยสามารถติดตามความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี ตลอดจนสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ หากประเทศไทยจะเข้าสู่ Thailand 4.0 ต้องการพัฒนา Digital Economy, Knowledge-Based Economy, และ Creative Economy แล้วจำเป็นต้องรู้เท่าทันต้องแสวงหาความรู้เป็น ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษยังช่วยให้เรามีพฤติกรรมค้นคว้าหาข้อมูลในประการที่ห้าได้ดีขึ้นด้วย อย่างน้อยก็จะทราบว่าควรใช้ key word ใดในการค้นหาข้อมูล ได้ข้อมูลมาก็สามารถอ่านให้เข้าใจได้ วิเคราะห์ได้ ในอีกทางการพูดและการเขียนนั้นก็ทำหน้าที่ในการผลิตสาร (Productive function) หากต้องการให้ความคิด นวัตกรรม งานวิจัย ศิลปะสร้างสรรค์ วัฒนธรรม เป็นที่รับรู้ทั่วโลก ขายไปได้ทั่วโลก ภาษาอังกฤษก็จำเป็นมากทั้งสิ้น
       
       อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าผิดหวังว่าคะแนน TOEFL iBT (Test of English as a Foreign Language-Internet-based testing) ของไทยคะแนน TOEFL iBT ในปี 2553 มีค่าเฉลี่ย 75 คะแนน จากคะแนนเต็ม 120 คะแนน สูงกว่ากัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนามเท่านั้น แต่ยังต่ำกว่าสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย โดยทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบในการแข่งขัน (ที่มา : http://www.thai-aec.com/458#ixzz4UhwTFuT6)
       
       นอกจากนี้คะแนน TOEIC: Test of English as an International Communication เมื่อเปรียบเทียบกับชาติอาเซี่ยน ไทยเราก็แพ้ฟิลิปปินส์และมาเลเซียหลุดลุ่ย และดีกว่าอินโดนีเซียนิดหน่อย แต่ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้จริง หลายคนอาจจะโต้แย้งว่า ฟิลิปปินส์กับมาเลเซียเคยเป็นเมืองขึ้นของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ แต่การเป็นเมืองขึ้นก็ไมได้ทำให้ภาษาอังกฤษของคนในชาตินั้นๆ ดีขึ้นเสมอไป 

11 คุณลักษณะของคนไทย 4.0 ที่ต้องปฏิรูปจะช่วยให้ Thailand 4.0 เป็นความจริง (ตอนที่ 2)
ที่มา: TOEIC “ภาษาอังกฤษ กับ การเข้าสู่ AEC” จาก http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9580000032018
        ประการที่เจ็ด ความคิดวิจารณญาณ (Critical thinking) การมีความคิดวิจารณญาณทำให้เราสามารถกลั่นกรองพิจารณาได้ว่าความคิดหรือข้อมูลใดมีความเป็นจริงสักแค่ไหน มีความเป็นไปได้เท่าใด มีความถูกต้องเพียงใด ทำให้เราไม่หลงเชื่อ ทำให้เราคิดและวิเคราะห์ที่เราได้รับสารเข้ามา ช่วยให้เรากลั่นกรองและวิพากษ์ความคิดตัวเอง ประเมินความคิดและข้อมูลของทั้งที่ตัวเองคิดและที่ผู้อื่นสื่อสารมาหาเรา ช่วยลดความผิดพลาดในการตัดสินใจได้ แต่ถ้ามีมากจนเกินไปก็จะเกิดปัญหาเช่นกัน เช่นทำให้เป็นคนที่คอยจ้องจับผิดไปเสียทั้งหมด เป็นคนที่วิจารณ์ไปทุกสิ่งมากเกินไป (Skeptical) ซึ่งควรมีในระดับหนึ่ง การจะสร้างนวัตกรรมหรือสิ่งสร้างสรรค์ทางศิลปะหรืองานวิจัย อาศัยเพียงความคิดสร้างสรรค์ไม่เพียงพอต้องอาศัยความคิดวิจารณญาณ เป็นสติให้แยกแยะได้ระหว่างความคิดสร้างสรรค์กับความฝันเพ้อเจ้อตอนกลางวัน (Daydreaming)
       
       สังคมไทยเต็มไปด้วยข่าวลือและข่าวเท็จที่ปล่อยมา (Rumor and hoax) โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ ในโลกปัจจุบันที่มีข้อมูลล้นทะลักทลาย (Information overload) จำเป็นอย่างยิ่งที่คนไทยต้องมีความคิดวิจารณญาณเพื่อจะกลั่นกรอง หลักกาลามสูตร 10 ประการของพระพุทธเจ้าเป็นหลักการเบื้องต้นที่จะทำให้คนเรามีความคิดวิจารณญาณ
       
       สาเหตุที่คนไทยขาด critical thinking นั้นน่าจะมาจากการที่เรามีวัฒนธรรมจำยอมกับอำนาจ การศึกษาของ Hofstede เรื่องวัฒนธรรมองค์การพบว่าคนไทยมี Power Distance สูง เกรงกลัวผู้มีอำนาจ ทำให้ไม่กล้าคิด แต่เรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นสาเหตุหลัก สาเหตุหลักจริงๆ คือการที่คนไทยไม่เคยถูกฝึกให้คิด เรียนหนังสือกันโดยการท่องจำ แม้กระทั่งการเรียนวิชาคำนวณหรือการพิสูจน์ทางคณิตศาสตร์ก็อาศัยการท่องจำไปสอบ ท่องบทพิสูจน์กันเป็นร้อยๆ หน้าโดยปราศจากความเข้าใจ ผลสอบ PISA นั้นสะท้อนปัญหานี้เช่นกัน ทั้งในส่วนของวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เพราะข้อสอบ PISA เน้นที่การให้เหตุผล การคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เช่น ให้อ่านผลการทดลองแล้วอภิปรายว่าเพราะเหตุใดจึงได้ผลการทดลองเช่นนี้ ซึ่งการศึกษาแบบไทย ยังเน้นการท่องและการคำนวณโดยจำสูตร ไม่อธิบายหลักการเหตุผล ที่มาที่ไป ทำให้เราไม่ถูกฝึกให้คิดแบบมีวิจารณญาณ ซึ่งจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น โดยเฉพาะคุณภาพของครูผู้สอน
       
       ประการที่แปด ความคิดสร้างสรรค์ (Creative thinking) ซึ่งเป็นความสามารถในการคิดในสิ่งที่แปลกใหม่ มีนวภาพ (Novelty) ไม่ซ้ำแบบใคร (Originality) และมีคุณค่าได้รับการยอมรับจากสังคม (Socially valued idea) การมีความคิดแปลกใหม่แต่ไม่ได้รับการยอมรับเลยไม่น่าจะถือได้ว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่ดีมากนัก เช่น ถ้าถามว่าคิดว่าอิฐใช้ทำอะไรได้บ้าง บางคนอาจจะตอบว่าเอาไว้ทุบหัวฆ่าคนให้ตายแล้วปล้นข่มขืนแล้วชิงทรัพย์ ซึ่งอาจจะเป็นความคิดที่แปลกใหม่ ไม่ซ้ำแบบใคร แต่คงหาใช้ความคิดสร้างสรรค์ไม่ นิยามของความคิดสร้างสรรค์เช่นนี้เป็นของ Professor Teresa M. Amabile แห่ง Harvard Business School
       
       ทั้งนี้ความคิดสร้างสรรค์จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการสร้างนวัตกรรม ทำงานวิจัยเพื่อสร้างความรู้ใหม่ การทำธุรกิจหากมีความคิดสร้างสรรค์จะทำให้สร้างความแตกต่าง (Differentiation) ทำให้มีจุดขายที่ชัดเจน ทางธุรกิจเรามีคำพูดว่า Differentiate or die! การที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ Thailand 4.0 ซึ่งเน้นที่ Digital Economy, Knowledge-based economy, และ Creative economy จำเป็นอย่างยิ่งที่คนไทย 4.0 ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ ไม่เช่นนั้นเวลาเริ่มต้นทำธุรกิจอะไร คนไทยก็จะถามว่าจะทำธุรกิจอะไรดี ซึ่งเป็นคำถามที่ไม่ฉลาดเลย และลงท้ายด้วยการทำธุรกิจที่เหมือนๆ กัน เช่น เปิดร้านกาแฟ หรือ การเลียนแบบธุรกิจเดิมที่มีอยู่แล้วการที่เราเดินทางออกต่างจังหวัดแล้วริมทางขายสินค้าเหมือนๆ กันยาว เช่น โรตีสายไหม ข้าวหลาม เป็นสิบกิโลเมตรคือภาพสะท้อนการไม่มีความคิดสร้างสรรค์ในการเป็นผู้ประกอบการของคนไทย เพราะอาศัยการลอกเลียนแบบกันเป็นหลัก ทั้งๆ ที่ก่อนที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจใด เราต้องถามว่าตัวเรามีความสามารถพิเศษ มีสินค้าหรือบริการที่พิเศษและแตกต่างจากคนอื่นอย่างไร และจะทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านั้นเป็นที่รู้จักและขายได้ หรือถ้าหากพิจารณาแล้วยังไม่มีเลยก็สามารถสร้างและพัฒนาตนเองให้มีความแตกต่างและโดดเด่นเหล่านั้นได้ก่อนการเริ่มต้นทำธุรกิจมากกว่าจะถามว่าจะทำธุรกิจอะไรดี

สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : 11คุณลักษณะ คนไทย 4.0 ต้องปฏิรูป ช่วยให้ Thailand 4.0 เป็นความจริง

view