สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

2.2 หมื่น ล.ยันไม่พบทุจริต บิ๊กฉัตรชัย แจงโครงการ 9101

จากประชาชาติธุรกิจ

เสียงร้องเรียนอย่างหนักของชาวบ้านในหลายจังหวัดต่อกรณี “ความโปร่งใส” ในขั้นตอนการดำเนิน “โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน” วงเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้รับผิดชอบ ดูเหมือนจะกลายเป็นประเด็นร้อนที่ต้องจับตา

เพราะงานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถึงกับไล่บี้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผู้กุมบังเหียนแม่ทัพใหญ่กระทรวงเกษตรฯ ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีถึง 2 ครั้ง ตั้งแต่ประชุม ครม.สัญจรที่ จ.พระนครศรีอยุธยา มาถึงการประชุม ครม.ครั้งล่าสุดเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินโครงการในพื้นที่หลายจังหวัดที่ได้รับการร้อง เรียนมา

พร้อมย้ำว่า “โครงการนี้เป็นโครงการที่ทำถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ถ้าใครจะโกง ก็ต้องลงโทษสถานหนัก ตอนนี้ได้สั่งการให้ลงไปตรวจสอบ และสรุปผลขึ้นมาให้ทราบ ผิดก็ว่าไปตามผิด ถูกก็ว่าไปตามถูก ทุกอย่างมีกลไกตรวจสอบอยู่แล้ว”

2 หมื่น ล.เบิกจ่ายใน 2เดือนครึ่ง

หลังประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 มีมติอนุมัติงบประมาณกลาง จำนวน 22,752.50 ล้านบาท ให้โครงการ 9101 ตามรอยเท้าฯ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอ

ถึงวันนี้ผ่านไปเพียง 2 เดือนครึ่ง ปรากฏว่าล่าสุดโครงการ 9101 อนุมัติกิจกรรมไปแล้ว 24,760 กิจกรรม วงเงิน 20,054.62 ล้านบาท ประกอบด้วย สมาชิกกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณให้ดำเนินโครงการ 1.56 ล้านราย และเกษตรกรที่คาดว่าได้รับประโยชน์จากโครงการทั้งประเทศ 7.78 ล้านราย จึงถือเป็นโครงการที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณไปใช้อย่างรวดเร็วอย่างน่า อัศจรรย์ยิ่ง หากเทียบกับการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของโครงการปกติทั่ว ๆ ไป

โดยหลักการของโครงการ เพื่อพัฒนาชุมชน ตามความต้องการของชุมชน ให้ชาวบ้านร่วมกันคิด ช่วยกันทำ ไม่ใช่การสั่งการจากเจ้าหน้าที่ แล้วรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณเป็นค่าแรง ค่าวัสดุอุปกรณ์ ชุมชนละ 2.5 ล้านบาท จำนวน 9,101 ชุมชน ก่อให้เกิดการจ้างงาน เกษตรกรมีรายได้ทันที และเกษตรกรได้นำความรู้ไปทำการเกษตรที่ถูกต้องพร้อมกำหนดขั้นตอนการ ดำเนินโครงการ คือ เมื่อแต่ละชุมชนเสนอโครงการขึ้นมา จะมีคณะกรรมการระดับอำเภอพิจารณาอนุมัติ จากนั้น สงป.เขต (CBO) พิจารณาอนุมัติงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้าง โดยชุมชนดำเนินการเอง

สำหรับการจ่ายค่าจ้างแรงงาน กำหนดเงื่อนไขไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของงบประมาณโครงการ เพราะต้องการให้เกษตรกรได้รับการจ้างงาน มีรายได้ทันที สามารถไปต่อยอดทำการเกษตรได้ แต่ละชุมชน มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 500-1,000 ครัวเรือน จะมีรายได้ 1,200-3,000 บาทต่อครัวเรือน

“ฉัตรชัย” แจงโปร่งใส-ไม่ทุจริต

ข้อกล่าวหาต่าง ๆ ที่ว่าโครงการ 9101 อาจจะมีการ “ทุจริต” เกิดขึ้นหรือไม่นั้น พล.อ.ฉัตรชัยยอมรับว่า ระยะเวลาของโครงการน้อย ทำให้การทำงานมีการเร่งรีบเบิกจ่ายเกินไป ทำให้เกิดปัญหาหลายอย่าง ซึ่งปัจจุบันได้มอบให้เจ้าหน้าที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องลงไปตรวจสอบข้อร้อง เรียนทั้ง 14 จังหวัด และให้มารายงานในสัปดาห์นี้ !”

สาเหตุที่ โครงการถูกร้องเรียนเข้ามามาก เพราะ 1.โครงการมีจำนวนมาก กระจายในทุกพื้นที่ 2.การจัดซื้อจัดจ้างที่ดำเนินการโดยชุมชนเอง ไม่ได้จัดซื้อจัดจ้างแบบเดิม อาจจะทำให้เสียผลประโยชน์ 3.ประชาชนในพื้นที่มีความสับสนกับโครงการอื่น ๆ และ 4.บางพื้นที่มีความขัดแย้งการเมืองท้องถิ่นจึงหาทางโจมตีกันและกัน และยังกล่าวว่า โดยพื้นฐานของโครงการนี้ไม่ได้คิดเพื่อการสร้างประชานิยม ไม่ได้หวังผลต่างตอบแทนเพื่อประโยชน์ทางการเมือง

พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวอีกว่า เรื่องร้องเรียนที่เกิดเป็นดาบสองคม คือ คมแรก ก่อให้เกิดการตรวจสอบผู้ที่เกี่ยวข้อง คมที่สอง ก่อให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีกับทุกชุมชน และส่งผลให้ประชาชนมองโครงการ 9101 ในแง่ลบ ชุมชนเข้าร่วมโครงการ 9,101 ชุมชน มีโครงการ 24,168 โครงการ ซึ่งได้รับเรื่องร้องเรียน 14 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 0.058 ของโครงการทั้งหมด

ชาวบ้าน 14 จังหวัดร้อง

เรื่องร้อง เรียนที่เข้ามา นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการร้องเรียนทั้งหมด 14 จังหวัด ดำเนินการตรวจสอบแล้ว 6 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา อุตรดิตถ์ สงขลา แม่ฮ่องสอน ไม่พบหลักฐานการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ และไม่พบข้อเท็จจริงตามที่ร้องเรียน อาทิ จ.สุรินทร์ ถูกร้องเรียนว่า เกษตรอำเภอเปิดให้ผู้รับเหมาประมูลงานผลิตปุ๋ย แล้วจัดหาอุปกรณ์มาให้ชาวบ้านแทนจ้างคนในหมู่บ้านตามจุดประสงค์โครงการ หลังสอบข้อเท็จจริงแล้ว พบว่าไม่เป็นความจริงตามที่ร้องเรียนมี 8 จังหวัดอยู่ระหว่างตรวจสอบได้แก่ แพร่ กาญจนบุรี สระแก้ว เชียงราย สุพรรณบุรี สตูล พระนครศรีอยุธยา ลำปาง โดยจังหวัดที่มีปัญหาคือ พระนครศรีอยุธยา เสนอโครงการส่งเสริมการใช้สารชีวภัณฑ์ ตั้งราคาสูงเกินจริง โดย หจก.เพิ่มพูนทรัพย์ ครุภัณฑ์ ได้ทำหนังสือชี้แจง ตรวจสอบแล้วไม่ถือว่าเข้าข่ายกระทำผิด

นอกจากนี้ มีประเด็นที่ได้รับร้องเรียนและลงไปตรวจสอบแล้ว เช่น 1.มีเกษตรกรขอเข้าร่วมพิจารณาโครงการ แต่ถูกปฏิเสธทั้งที่ขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกร แต่สมาชิกกลุ่มยังไม่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร 2.อำเภอบางน้ำเปรี้ยว ส่วนใหญ่ทำลานตากเกือบทุกโครงการ แต่ให้ทำโครงการไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ 3.โครงการที่ผ่านการอนุมัติเป็นของผู้นำชุมชนเพียงโครงการเดียว

สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างตรวจสอบ ได้แก่ 1.จ.สตูล ไม่ประชาสัมพันธ์โครงการอย่างทั่วถึง ทำให้ขาดสิทธิ์ในการเสนอโครงการ 2.สุพรรณบุรี การใช้งบประมาณไม่มีการประชาพิจารณ์ ทั้งที่ควรให้ชุมชนได้คัดเลือกกิจกรรมที่ทำ 3.แม่ฮ่องสอน มีการเบิกจ่ายโดยไม่ได้เกิดจากความต้องการของชุมชน ไม่มีการประชุมหารือ 4.ลำปาง ไม่มีการจัดเวทีชุมชน ไม่ประสานผู้นำท้องที่ เกษตรกรเสียสิทธิ์ ไม่ได้เข้าโครงการ 5.สงขลา ไม่รู้ข่าวสารทำให้ไม่ได้เข้าร่วม โครงการ 6.เชียงราย โครงการเกษตรอินทรีย์ยั่งยืนคืนถิ่นทานตะวัน ได้รับอนุมัติแล้ว แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ จึงมีหนังสือทวงถาม แต่ไม่ได้รับคำตอบ

อย่างไรตาม หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่า คำร้องเรียนส่วนใหญ่ในหลายจังหวัดใกล้เคียงกัน คือ หลายชุมชนทำโครงการโดยไม่มีการประชุมหารือชาวบ้านในวงกว้าง ทั้งที่วัตถุประสงค์ของโครงการ คือ ให้ชาวบ้านในชุมชนช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ต้องมีการทำประชาพิจารณ์ระหว่างคนในชุมชนก่อน พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า การร้องเรียนอาจเกิดขึ้นจากความขัดแย้งการเมืองในท้องถิ่น หรือผู้นำชุมชนก็เป็นได้ หรือใช้เป็นฐานเสียงและบางพื้นที่ไม่ประสงค์ดีต่อโครงการ ท่ามกลางความเคลือบแคลงใจของชาวบ้านที่มีต่อโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ ในขณะนี้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : 2.2 หมื่น ล. ยันไม่พบทุจริต บิ๊กฉัตรชัย โครงการ 9101

view