สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดคำวินิจฉัยศาลรธน.ใครคือผู้กำหนดวันเลือกตั้ง?

จาก โพสต์ทูเดย์

เมื่อดูจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะเห็นได้ว่าอำนาจกำหนดวัน เลือกตั้งมาจากข้อสรุปร่วมกันระหว่างรัฐบาลในฐานะผู้อำนาจยุบสภาและคณะ กรรมการเลือกตั้งในฐานะผู้ควบคุมการเลือกตั้ง

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

จนถึง ณ เวลานี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่ากลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จะยุติการชุมนุมเมื่อไหรภายหลังจากที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เสนอโรดแมพปรองดองแห่งชาติโดยมีการกำหนดให้วันที่ 14 พ.ย.เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่นปช.ได้สร้างประเด็นใหม่ต่อสังคม คือ นายกฯมีอำนาจใน การกำหนดวันเลือกตั้งหรือไม่ เพราะมองว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่น่าจะเป็น ผู้ตัดสินใจไม่ใช่ฝ่ายบริหาร

หากจะหาบรรทัดฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรว่าใครกันแน่ที่เป็นผู้กำหนดวัน เลือกตั้ง ระหว่างรัฐบาลหรือกกต. ปรากฎว่าในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2549 วันที่ 8 พ.ค.2549 ได้บรรยายถึงเรื่องนี้เอาค่อนข้างชัดเจนพอสมควร

ขณะนั้นเป็นเหตุการณ์ที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกฯเวลานั้นได้ประกาศยุบสภาฯโดยให้พระราชกฤษฎีกาประกาศยุบสภามีผลบังคับ ใช้ในวันที่ 24 ก.พ.2549 และให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 เม.ย.2549 รวมระยะเวลาจากพระราชกฤษฎีกาประกาศยุบสภามีผลบังคับใช้ไปจนถึงวันเลือกตั้ง ทั้งหมด 31 วัน

แต่ปรากฎว่าต่อมาพล.อ.สายหยุด เกิดผล รองประธานมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย และ นายบรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะมีหนังสือร้องเรียนไปยังผู้ตรวจการแผ่นของรัฐสภาเพื่อขอให้ศาลรัฐ ธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งในวันที่ 2 เม.ย.2549 เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ (พ.ศ.2540) มาตรา 198 หรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้การเลือกตั้งในครั้งนั้นเป็นโมฆะในเวลาต่อ มา

ในที่นี้จะขอนำเอาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเฉพาะในส่วนที่น่าจะเกี่ยว ข้องกับคำถามเกี่ยวกับอำนาจของผู้กำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยอยู่ในประเด็น “เหตุแห่งคำร้องข้อ 1 คณะกรรมการเลือกตั้งให้ความเห็นในเรื่องการกำหนดระยะเวลาสำหรับการเตรียมการ จัดการเลือกตั้ง อันนำไปสู่การประกาศกำหนดวันเลือกตั้งในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรโดย ไม่เหมาะสมและไม่เที่ยงธรรม ขัดกับหลักการเรื่องความเป็นกลางทางการเมืองของคณะกรรมการการเลือกตั้งตาม รัฐธรรมนูญ (พ.ศ.2540) มาตรา 136 และขัดกับหลักการเรื่องการควบคุมและดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งให้เป็นไป โดยสุจริตและเที่ยงธรรมตามรัฐธรรมนูญมาตรา144”

ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า พระราชกฤษฎีายุบสภาผู้แทนราษฎรพ.ศ.2549 ประกอบด้วยบทบัญญัติที่เป็นสาระสนำคัญสองส่วน คือ ส่วนที่หนึ่ง มาตรา 3 บัญญัติให้ยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ส่วนที่สอง มาตรา 4 กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 เม.ย.2549

บทบัญญัติในส่วนที่หนึ่งที่ให้ยุบสภาผู้แทนราษฎรนั้นการยุบสภาเป็นการ กระทำของรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้าของฝ่ายบริหารเป็นผู้ถวายคำแนะนำพระมหา กษัตริย์เพื่อทรงยุบสภาผู้แทนราษฎร เป็นการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารโดยแท้ที่กำหนดไว้ในระบบรัฐสภา เพื่อให้ฝ่ายบริหารถ่วงดุลหรือคานอำนาจนิติบัญญัติ เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติกับรัฐบาล ซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร จึงเป็นดุลยพินิจของฝ่ายบริหารอย่างแท้จริง

ส่วนบทบัญญัติในส่วนที่สอง ซึ่งเป็นการกำหนดวันเลือกตั้ง แม้เป็นการกำหนดโดยรัฐบาลเนื่องจากเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการพระราชก ฤษฎีาดังกล่าว แต่การกำหนดวันเลือกตั้งมีความสัมพันธ์กับการจัดการเลือกตั้งซึ่งเป็นอำนาจ หน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ และมีการกำหนดระยะเวลาที่คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องดำเนินการในกระบวนการ จัดการเลือกตั้งหลายประการ

การที่รัฐบาลจะต้องกำหนดวันเลือกตั้งในพระราชกฤษฎีายุบสภา ผู้แทนราษฎร จึงจำเป็นต้องประสานงานกับคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน ทั้งนี้เมื่อกำหนดวันเลือกตั้งแล้ว การดำเนินการเกี่ยวกับการควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งก็ จะเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

หากมีปัญหาเกิดจากการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งในฐานะผู้ใช้อำนาจควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มี การเลือกตั้งย่อมมีอำนาจพิจารณาดำเนินการสั่งการปัญหาดังกล่าว และบางกรณีรัฐธรรมนูญให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้งสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อ เท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นตามกฎหมายบางฉบับ ให้เป็นที่ยุติด้วย ดังปรากฎตามรัฐธรรมนูญมาตรา 145 วรรคหนึ่ง (3)

เมื่อดูจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในข้างต้นจะเห็นได้ว่า อำนาจในกำหนดวันเลือกตั้งต้องมาจากข้อสรุปร่วมกันระหว่างรัฐบาลในฐานะผู้ อำนาจยุบสภาและคณะกรรมการเลือกตั้งในฐานะผู้ควบคุมการเลือกตั้ง  

view