สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ใครลากโรงพยาบาลลงเหว?

จาก โพสต์ทูเดย์

ปัญหาโรงพยาบาลขาดสภาพคล่องเกิดขึ้นภายหลังที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศเพิ่มค่าตอบแทนพิเศษให้กับแพทย์...

โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ เปิดแถลงข่าวด่วน เรื่อง "โรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง ข้อเท็จจริงสถานการณ์การเงินการคลัง ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ผู้สื่อข่าวและสาธารณชน ภายหลังปรากฏข้อมูลในลักษณะที่ว่า “สปสช.” เป็นต้นเหตุทำให้โรงพยาบาลขาดทุน

การแถลงข่าวในวันนั้น คณะกรรมการสปสช. ได้ชี้แจงถึงการประมาณการจัดสรรเงินกองทุนเหมาจ่ายรายหัวปีงบประมาณ 2554 จำนวน 101,057 ล้านบาท ว่าได้จัดสรรให้แก่โรงพยาบาลสังกัดสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข ถึง 70,905 ล้านบาท โดยเงินจำนวนนี้จะเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลทั้งระบบ ถ้าไม่รวม “ค่าตอบแทนพิเศษแพทย์”

“ปัญหาโรงพยาบาลขาดสภาพคล่องเกิดขึ้นภายหลังที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศเพิ่มค่าตอบแทนพิเศษให้กับแพทย์ทั้งโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป”นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.ขมวดปมปัญหาให้เข้าใจโดยง่าย

สอดรับกับคำอธิบายของ นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ รองเลขาธิการ สปสช. ที่บอกว่า งบปี 54 ที่จัดสรรไว้นั้น ยังไม่รวมค่าตอบแทนพิเศษของโรงพยาบาลทั้งระบบซึ่งมีประมาณ 9,000 ล้านบาท และสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โรงพยาบาลขาดสภาพคล่องคือการบริหารของผู้บริหารโรง พยาบาลเอง

“ทราบมาว่ามีโรงพยาบาลบางแห่งที่จ่ายค่าตอบแทนแพทย์เกินเกณฑ์กำหนด” รองเลขาธิการชี้ชัดถึงสาเหตุโรงพยาบาลขาดทุนไปในทิศทางเดียวกัน

นพ.พีรพล กล่าวต่อไปว่า สปสช.เคยทำเรื่องของบสำหรับจ่ายค่าตอบแทนพิเศษจากสำนักงบประมาณไปแล้วจำนวน 5,000 ล้านบาท แต่ไม่ได้รับอนุมัติ โดยสำนักงบประมาณระบุว่าสปสช.ไม่มีอำนาจขอ เพราะเป็นอำนาจของกระทรวงสาธารณสุขโดยตรง ดังนั้นจึงต้องรอนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้พิจารณาว่าจะให้เงินก้อนนี้หรือไม่ ส่วนเงินอีก 4,000 ล้านบาท เป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขที่จะต้องหามาเพิ่มเติมเอง

ขณะที่ อัมมาร สยามวาลา ประธานอนุกรรมการการเงินการคลัง สปสช. เชื่อว่า หากได้รับอนุมัติงบประมาณสำหรับจ่ายค่าตอบแทนเป็นการเฉพาะ ปัญหาโรงพยาบาลขาดทุนก็จะไม่เพิ่ม อย่างไรก็ตามสำนักปลัดกระทรวง สาธารณสุขเป็นผู้เริ่มต้นกระบวนการจ่ายค่าตอบแทน ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาจึงเป็นเรื่องของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องจัดการ

คล้อยหลังเพียง 1 วัน นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ปัญหาโรงพยาบาลขาดทุนเกิดจากหลายปัจจัย ไม่ใช่แค่เงินค่าตอบแทนพิเศษแพทย์หรือการจัดสรรงบของสปสช. ทั้งนี้มองว่าเกิดจากระบบบริการสาธารณสุขทั้งระบบ

ข้อมูลจากกลุ่มงานประกันสุขภาพของสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข เสนอผ่านรายงานสถานะการเงินหน่วยบริการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าไตรมาส 4 ของปี 52 แบ่งสัดส่วนค่าใช้จ่ายออกเป็น บุคลากร-เงินงบประมาณ 25.35% บุคลากร-เงินบำรุง 14.93% ต้นทุนบริการ 23.71% และอื่นๆ 36%

ส่วนไตรมาสที่ 2 ของปี 53 (ประมาณการ 12 เดือน) แบ่งสัดส่วนค่าใช้จ่ายออกเป็น บุคลากร-เงินงบประมาณ 24.34% บุคลากร-เงินบำรุง 16.23% ต้นทุนบริการ 23.09% และอื่นๆ 36.34%  

รายงานวิเคราะห์ไว้ว่า ค่าใช้จ่ายไตรมาส 2 ปี 53 พบค่าใช้จ่ายหมวดบุคลากรเพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 65.74% คิดเป็นมูลค่าการใช้จ่าย 10,665.86 ล้านบาท ในขณะที่ภาพรวมค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพียง 11.15% ซึ่งถือว่าต่ำมาก แสดงถึงมีการลดค่าใช้จ่ายหมวดอื่นๆ เพื่อชดเชยรายจ่ายหมวดบุคลากร

ต่อประเด็นการปรับอัตราค่าตอบแทนตามระเบียบค่าตอบแทนฉบับที่ 4 – 7 ที่ออกมาในปี 52 -53 นั้น รายงานเสนอว่าจำเป็นต้องวิเคราะห์ให้ชัดเจนว่าเพิ่มขึ้นมากตามที่หลายฝ่าย กังวลหรือไม่ ทั้งนี้การเพิ่มของค่าใช้จ่ายถ้ามองผิวเผินเฉพาะการ เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรจากเงินบำรุงเดิม ที่มีตัวเลขการเพิ่มถึง 65% นั้น หากเปรียบเทียบกับหมวดเงินเดียวกันอาจดูเหมือนมาก แต่หากพิจารณาจากสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด พบว่าค่าตอบแทนจากเงินบำรุงเพิ่มขึ้นเพียง 1.30% (จาก 14.93% เป็น 16.23%) เท่านั้น

และหากเปรียบเทียบยอดค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้น 10,665.86 ล้านบาท กับค่าใช้จ่ายประมาณการทั้งหมดของปี 53 คือ 165,645.75 ล้านบาท จะพบว่าเป็นสัดส่วนเพียง 6.4 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด นอกจากนี้รายงานยังสรุปไว้อีกว่า หากถือว่าการเพิ่มค่าตอบแทนเสมือนการลงทุนของกระทรวงสาธารณสุข ก็ถือเป็นการลงทุนที่ไม่ได้ถือว่ามาก และเมื่อเทียบกับเอกชนยังถือว่าไม่ได้สูงกว่าค่าตอบแทนในภาคเอกชน

ส่วนสาเหตุของการขาดทุนนั้น เมื่อวิเคราะห์แหล่งรายได้จะพบว่า ภาพรวมรายได้ของหน่วยบริการสาธารณสุข (โรงพยาบาล) สังกัดสำนักปลัดฯ มาจากโรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลศูนย์ ซึ่งมีแหล่งรายได้ และผลกำไรจาก NON UC (รายได้ที่ไม่ได้มาจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง) ในทางตรงกันข้าม กองทุน UC (สปสช.) เป็นแหล่งรายได้หลักของโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่มีภาวะขาดทุนเป็นหลัก กระทั่งทำให้โรงพยาบาลขาดทุนทั้งระบบ 

ในขณะที่ สปสช. และสำนักปลัดฯ กำลังโยนไปมาว่าอีกฝ่ายหนึ่งคือ “มูลเหตุ” ที่ทำให้เกิดสถานการณ์โรงพยาบาลขาดทุน

ความจริงที่ยากจะปฏิเสธคือ “ประชาชน” ต้องมาแบกรับผลกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกเช่นเคย

Tags : ใครลาก โรงพยาบาล ลงเหว

view